Wednesday, February 20, 2008

Pain manangement in rabbit


Pain Mangement in Rabbit
น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล


Blog discussion คราวนี้จะขอมาแบบอ่านง่ายๆ สบายๆ แล้วกันนะ วันนี้เราจะมาพูดถึง การควบคุมความเจ็บปวดในกระต่ายกันหน่อยดีกว่าครับ แต่ก่อนอื่นผมขอเท้าความนิดหน่อยก่อนละกันครับ

ในกระต่ายมีความเชื่อที่ว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย แค่ลูกมะพร้าวตกลงมาก็ตกใจแล้ว..จริงหรือมั่วนิ่ม ลองอ่านบทความนี้ดูแล้วกันครับ

Pain หรือว่าความเจ็บปวด เราสามารถแบ่งความเจ็บปวดได้หลายสาเหตอาจจะเกิดจาก
1) ความเจ็บปวดจากการผ่าตัด
2) ความเจ็บปวดจากโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น โรคที่เกี่ยวกับฟัน ฝี หรือ มะเร็ง ฯ
3) จากอุบัติเหต และหรือการจับบังคับที่ผิดวิธี และจากสาเหตอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
หลังจากกระต่ายได้รับความเจ็บปวด นั้น กระต่ายจะมีภาวะเครียด ซึ่งหลังจากภาวะเครียด บังเกิด ร่างกายกระต่ายก็จะมีการหลั่ง ฮอร์โมนออกมาตัวนึง ซึ่งมีชื่อว่า catecholamines ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีผลกับร่างกายหลายอย่าง โดยผมจะขอพูดคร่าวๆ แล้วกันนะครับ โดยจะไปกระตุ้นระบบประสาท ในส่วน sympathetic ทำให้ ยับยั้งการทำงาน ของระบบทางเดินอาหาร และจะโน้มนำทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหารตามมาได้ และ มีการ ไปลดการกรองและสร้างปัสสาวะ ทำให้อาจจะมีปัญหา ทางระบบขับถ่ายปัสสาวะ และ/หรือ โรคไต ตามมาและยังสามารถ ไป กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว และถ้าหลั่งออกมามากๆอาจจะทำให้เกิดหัวใจวายได้ด้วยนะครับ

ลักษณะอาการเจ็บปวดในกระต่ายที่เราสามารถสังเกตได้คร่าวๆก็คือ การนั่งตัวงอๆหลังโก่งๆ หรือ แยกตัวออกจากฝูงแล้วไปนั่งอยู่มุมกรง มีการกัดฟัน ไม่ร่าเริง บางทีการสังเกตที่ดวงตาซึ่งอาจจะดูหมองๆ และอาจจะตาแห้งๆ หรือบางทีตาอาจจะปิดลงมาครึ่งตา และไม่สนใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ไม่ยอมทานอาหาร และบางทีอาจจะมี พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นดุ ขึ้น และไม่ยอมให้อุ้ม และในบางกรณี ถ้าปวดมากกระต่ายบางตัวจะวิ่งไปรอบๆและกระโดด ไปมาในกรง ส่วนการเปลี่ยนแปลง ของอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการหาย ไม่ได้บ่งบอกอะไรมากมาย
การเลือกใช้ยาลดปวดในกระต่ายสามารถแบ่งได้เป็น สองกลุ่มหลักๆ คือ
1) NSAID (non-steroidal anagesicss )
2) Opioids
ซึ่งการพิจาณาขึ้นอยู่กับสภาพสัตว์ในขณะนั้นและความต้องการว่าจะให้ออกฤทธิ์ ที่ตำแหน่งไหนเป็นพิเศษ แต่สัตว์แพทย์ส่วนใหญ่ นิยมใช้ ยาลดปวดในกลุ่ม NSAID เป็นหลัก โดยยาในกลุ่มนี้ที่พอจะหาได้ในบ้านเราก็มีหลายตัว และยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ ที่ บริเวณผิวหนัง และกล้ามเนื้อ ได้ดีกว่าการระงับปวดที่ อวัยวะภายใน และข้อควรระวังในการเลือกใช้ยาในกลุ่ม Opioids เช่น Morphine ผลข้างเคียงคือสามารถทำให้เกิด Gastrointstinal hypomotility ได้

หลักการใช้ยาลดปวดให้ได้ผลคือ ถ้า แผนการรักษา รู้ว่าต้องมี การกระทำให้เจ็บปวด การให้ยาลดปวดก่อน ก่อนที่จะทำการรักษาและเราสามารถให้ยาลดปวดทั้งชนิด NSAID และ Opioids ร่วมกันได้ ในกรณีที่คาดว่าสัตว์ได้รับความเจ็บปวดที่รุนแรง ซึ่งยาจะดังกล่าวจะออกฤทธิ์เสริมกัน และบางทีเราสามารถใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมด้วยได้ โดยส่วนตัวจากประสบการณ์ การให้ยาลดปวด ในการรักษา เช่นการถอนฟัน ทำหมัน ผ่าคลอด และอื่นๆ โดยให้ก่อนผ่าตัด สัตว์จะกลับมาทานอาหารได้เร็วกว่า ไม่ได้ให้ หรือให้หลังผ่าตัด และยาลดปวดควรจะให้จนกว่าสัตว์จะกินอาหารได้เป็นปกติ

Dose ของยาลดปวดที่นิยมใช้
Carprofen 2-4 mg/kg PO, S/C sid-bid
Meloxicam 0.2-0.3 mg/kg PO, S/C sid
Ketoprofen 1-3 mg/kg S/C ,IM sid –bid
Tolfenamic acid 4 mg/kg S/C sid
Flunixin 1.1 mg/kg S/C sid

คิดว่าผู้อ่านทั่วๆไปสามารถอ่านได้และเข้าใจ สัตว์แพทย์ก็อ่านได้แต่อาจจะไม่ลงลึกมากนัก ถ้าใครมีข้อสงสัยหรืออยากให้เพิ่มเติมเนื้อหาตรงส่วนใด หรือมีประสบการณ์ที่จะแลกเปลี่ยนกัน ก็ยินดีอย่างยิ่งนะครับ

ปล. รูปที่แสดงเป็นเคสกระต่ายขาหัก ทำการรักษาโดยใช้วิธี External fixator โดยให้ ยาลดปวดคือ meloxicam 0.3 mg/kg sid โดยให้ก่อนผ่าตัด 1 วัน และ ให้ก่อนผ่าตัด และ ให้ต่อเนื่อง เป็นเวลา 7 วัน กระต่ายรู้สึกตัวดีหลังผ่าตัดและทานอาหารได้หลังจากฟื้นสลบ


Read more!