Wednesday, December 12, 2007

กรณีศึกษา:พยาธิ Strongyloides spp. ในชะนี

"กรณีศึกษา:พยาธิ Strongyloides spp. ในชะนี"


โดย สัตวแพทย์หญิงมนทกานติ์ วงศ์ภากร

กลุ่มโรคสัตว์น้ำและสัตว์ป่า สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ




คำนำ

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 Mr.Edwin Wiek ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า วัดเขาลูกช้าง อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี 76130 ได้นำซากของชะนีพันธุ์มือขาว เพศเมีย อายุ 2 ปี มาที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เพื่อหาสาเหตุของการตาย โดยทราบข้อมูลว่าชะนีป่วยมา 4-5 วันแล้ว ก่อนตาย มีอาการ ซึม อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ ท้องเสียอุจจาระเหลว อาเจียนมีสีเขียว สภาพแวดล้อมของฟาร์มจะใช้ตาข่ายล้อมต้นไม้ ให้อาหารเป็นผัก ผลไม้ ใบไม้ ประวัติการให้ยา มีการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี และให้ยา ivermectin เพื่อถ่ายพยาธิ ทุก 6 เดือน ชะนีที่เลี้ยงไว้มี 35 ตัว เป็นพันธุ์มือขาว 25 ตัว พันธุ์แขนขาว 5 ตัว ตายไปแล้ว 5 ตัว เจ้าของเคยนำซากไปตรวจวินิจฉัยที่อื่นแต่ไม่พบสาเหตุการตาย ในการป่วยครั้งนี้เจ้าของให้ยา enrofloxacin และ gentamycin ผลของการให้ยาพบว่าอาการไม่ดีขึ้น และชะนีได้ตายในเวลาต่อมา ปัจจุบันยังมีชะนีป่วยอีก 5 ตัว

การตรวจตัวอย่าง
ทำการผ่าซากตรวจดูรอยโรค แล้วเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อส่งตรวจห้องปฏิบัติการต่างๆคือ สมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไตและลำไส้ ส่งตรวจทางจุลพยาธิวิทยาและแบคทีเรียวิทยา ตับส่งตรวจทางชีวเคมีและพิษวิทยา และลำไส้ส่งตรวจทางปาราสิตวิทยา

ผลการผ่าซาก
พบปอดมีเลือดคั่งอย่างรุนแรงที่ diaphragmatic lobe ทั้ง 2 ข้าง มีจุดเนื้อตายสีเทา-เหลืองในส่วนของปอดทั้งช่วงบนและช่วงล่าง ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มีของเหลวเหลืองปนมูกร่วมกับไฟบริน


ผลการตรวจชิ้นเนื้อทางจุลพยาธิวิทยา
ปอดพบการอักเสบแบบมีหนอง โดยพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล แทรกอยู่ในเนื้อเยื่อปอดร่วมกับการมีเลือดออกอย่างรุนแรง
ลำไส้พบการอักเสบ ร่วมกับเนื้อตาย และมีการลอกหลุดของเซลล์ชั้นบนของเยื่อบุ โดยพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ และอีโอสิโนฟิลจำนวนมาก ในชั้นลามินา โพรเพรีย (laminar propria)

ผลการตรวจทางแบคทีเรียวิทยา
ไม่พบเชื้อแบคทีเรียชนิดก่อโรค

ผลการตรวจทางชีวเคมีและพิษวิทยา
ไม่พบยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต จากตัวอย่างเนื้อเยื่อตับ


ผลการตรวจทางปาราสิตวิทยา
พบตัวพยาธิในเยื่อเมือกของลำไส้เล็กโดยการขูดเยื่อเมือกจากลำไส้ (scraping) แล้วนำมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จากบริเวณที่พบสันนิษฐานว่าเป็น Strongyloides spp. จึงแนะนำให้ส่งอุจจาระของชะนีตัวอื่นที่ป่วยมาตรวจด้วย
ต่อมา เจ้าของได้นำอุจจาระของชะนีป่วยอีก 5 ตัวอย่าง และค่างป่วยอีก 1 ตัวอย่าง มาส่งตรวจ ผลการตรวจพบไข่ของ Strongyloides spp. และ Trichuris spp. ในชะนี 4 ตัวอย่าง และไข่ของ Strongyloides spp. ในค่าง 1 ตัวอย่าง จึงแนะนำเจ้าของให้ถ่ายพยาธิชะนีและค่างทุกตัวด้วยยา Thiabendazole 100 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยให้กิน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ และล้างพื้นคอกให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
** 3 เดือนต่อมา ได้ติดตามอาการของโรค พบว่าตัวที่ป่วยอาการดีขึ้น ไม่มีการป่วยหรือตายอีก **


จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า Strongyloides spp. หรือพยาธิเส้นด้าย เป็นพยาธิตัวกลมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ประเภทลิงรวมทั้งคนเป็นอย่างมาก โดยเชื้อนี้จะติดได้ทั้งทางปากและการชอนไชเข้าทางผิวหนัง อาการที่พบจะไม่แน่ชัดแต่จะมีอาการท้องเสียร่วมด้วย การไอจะพบในกรณีที่ตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด (visceral larva migrans) ในการผ่าซากจะพบว่าลำไส้เกิดแผลหลุมและมีเลือดคั่ง ปอดจะมีเลือดคั่ง ส่วนพยาธิเต็มวัยจะฝังตัวในเยื่อเมือกของลำไส้เล็กส่วนต้น จากนั้นจะออกไข่ในเยื่อเมือก ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนบางส่วนจะออกมากับอุจจาระ หรือบางส่วนอาจจะไชไปยังส่วนต่างๆของร่างกายทำให้ในบริเวณนั้นเกิดอันตรายได้ โดยในกรณีที่ผ่านผิวหนังจะพบอาการคันและเป็นผื่นแดง ผ่านปอดจะทำให้เกิดปอดบวม และในบางครั้งจะพบการตายเนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคนี้จะร้ายแรงมากในไพรเมท (DePaoli and Johnsen, 1978) การทำความสะอาดคอกอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้

Reference
- DePaoli, A. and Johnsen, D.O. 1978. Fatal strongyloidiasis in gibbon (Hyalobates lar). Veterinary Pathology 15(1) :31.

กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ ผศ.ดร.พารณ ดีคำย้อย ภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลที่กรุณาตรวจต้นฉบับ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติทุกท่าน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กลุ่มปาราสิตวิทยาที่ให้ความร่วมมือในการชันสูตร

Read more!

เขาหาว่าผมฆ่าช้าง..นะครับ

เขาหาว่าผมฆ่าช้าง..นะครับ


โดย: หมอจ๊อบ..ค่ะ


" พี่ต้อมอยากให้จ๊อบเอาเรื่องนี้มาเราให้พวกเรา zoo_vet ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงกัน เพราะอย่างน้อยเรากันเอง ก็น่าจะเข้าใจกันเอง..."

...ปกติแล้วพี่ต้อมจะมีหน้าที่ต้องลงไปตรวจสุขภาพช้างในเขตพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับมูลนิธิช่วยช้างภาคใต้ เป็นประจำทุก 6 เดือนอยู่แล้ว ครั้งนี้ก็เช่นกัน เราไปจากลำปางกัน 3 คน คือ พี่ต้อม จ๊อบและ Dr. Bjarne เจ้าหน้าที่จาก RSPCA และเราลงไปภูเก็ต เพื่อเจอกับ หมอเอ สยาม ซาฟารี (vet 61) และคุณเอ เจ้า หน้าที่ประสานงานของมูลนิธิช่วยช้างภาคใต้


ในวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ย.เป็นวันแรกที่เราเข้าเยี่ยมแค้มป์ ก็ได้เจอกับปศุสัตว์อำเภอ (หมอจิรายุ) แกบอกว่าที่แค้มป์ช้างบางแป ซาฟารี มีช้างป่วยมากอยู่เชือกนึง เมื่อวานได้เข้าไปดูและรักษาไปบ้างแล้ว ยังไงถ้าเราว่าง ให้ช่วยเข้าไปดูให้หน่อย เผื่อ จะช่วยอะไรได้บ้าง


เช้าวันจันทร์ เราก็เข้าไปดูให้ แจ้งพนักงานที่เคาเตอร์ว่าหมอจิรายุบอกว่ามีช้างป่วยให้มาดูแล เจ้าหน้าที่ก็พาไปดูช้างตัวที่ป่วย ซึ่งยืนนิ่ง งวงตก หางไม่ไกว หูไม่แกว่ง และช้างอยู่ในสภาพที่ผอมมาก ขนาดที่ว่าเราให้ BCS = 1 (จริงๆ อยากจะให้ 0 ด้วยซ้ำแต่ก็เกรงใจ)


หลังจากซักประวัติจากควาญแล้ว ทราบว่าช้างเพิ่งมาจากพัทยา เมื่อประมาณ 1 เดือน โดยควาญเป็นคนไปรับช้างมาเอง ตอนแรกที่มาช้างมีสภาพผอมไม่ต่างจากนี้มากนัก แต่ยังคงกินอาหารได้ และยังสามารถรับนักท่องเที่ยวได้วันหลายรอบ ช้างเพิ่งจะมาไม่ค่อยยอมกินอาหารเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เมื่อวานซืนหมอเพิ่งจะมาดู และได้ให้น้ำเกลือไป 4 ลิตร พร้อมกับฉีดยาให้ 2 เข็ม อันได้แก่ Catosan, PenStrep
จากการตรวจสภาพร่างกาย พบว่าช้างมีแผลเปื่อยอยู่ทั่วตัว ซึ่งควาญบอกว่าเมื่อมาถึง หมอฉีด Ivomec ให้ หลังจากนั้นอีก 3-4 วัน ก็เกิดแผลขึ้นทั่วตัว และเป็นอยู่อย่างนั้นมาจนวันนี้ (เกือบเดือน) โดยเฉพาะบริเวณหัวแล้ว เราพบแผลหลุมลึก
ค่อนข้างใหญ่อยู่ไม่ต่ำว่า 2 จุด ปากแผลเปื่อย และมีหนองเล็กน้อย นอกจากนั้นยังพบแผลเปื่อยอีกจุด คือบริเวณรอบทวารหนัก ซึ่งเป็นจุดที่มีแผลกว้างมากที่สุด

หลังจากนั้นได้พยายามล้วงก้นเพื่อจะเก็บอึ ในครั้งแรกเราไม่สามารถเก็บได้ เนื่องจากไม่พบสิ่งใดอยู่ในลำไส้เลย นอกจากนั้นยังพบว่า ภายในลำไส้ยังมีสภาพที่เย็นมากต่างจากช้างปกติทั่วไป เมื่อเก็บอึในครั้งแรกไม่ได้ เราจึงเก็บเลือดไปตรวจ (เป็นตัวเดียวที่เราเก็บในการไปภูเก็ตครั้งนี้ เนื่องจากช้างเชือกอื่นๆ ที่เราเจอทุกแค้มป์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก) แล้วเราก็ฉีดยาให้ โดยพิจารณาตามยาที่หมอเคยให้เมื่อ 2 วันก่อน ยาที่เราให้ก็คือ Pen-strep, Roborante, และ Triam เพื่อลดการอักเสบของแผลที่ผิวหนังด้วย


หลังจากให้ยาแล้ว เราได้พยายามที่จะเก็บอึอีกครั้ง ได้ออกมานิดหน่อยประมาณ ครึ่งฝ่ามือแบบางๆ ลักษณะของอึที่เก็บได้ ดูแล้วเหมือนแทบจะไม่ได้ผ่านการย่อยมาเลย เพราะหยาบมาก

ส่วนบาดแผลตามร่างกาย เราก็ช่วยกันทำแผลตามปกติ ใช้เวลากับช้างเชือกนี้มากกว่า 1ชั่วโมง ตลอดเวลาที่เราทำการรักษา ควาญจะชี้ให้ ดูความผิดปกติของช้างแทบจะตลอดเวลา เช่นว่า ขาหลังไม่ค่อยมีแรง หรือไม่ก็ คอยจะขอยาทำแผลไว้บ้าง ส่วนพนักงานที่เจอเราในตอนแรกก็ให้การต้อนรับขับสู้อย่างดี มีน้ำมาเสิร์ฟ คอย อำนวยความสะดวกในการรักษาตลอด ซึ่งหลังจากที่เรารักษาช้างเรียบร้อยแล้ว Dr. Bjarne ยังกำชับให้บอกควาญว่า หากว่างให้ควาญไปตรวจสุขภาพตัวเองด้วย เพราะควาญมีสภาพผอมโซ ดูขาไม่ ค่อยจะมีเรี่ยวมีแรง ซึ่งไม่ต่างจากช้างเท่าไรนัก จากนั้นเราก็ออกเดินทางเพื่อไปเยี่ยมช้างต่อ บริเวณเขาหลัก เขาสก ซึ่งเป็นจุดที่ บริษัทมือถือต่างๆ คงยังเข้าไปสำรวจไม่ถึง จึงทำให้โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ ไม่ สามารถติดต่อกับใครได้ จนกระทั่งเย็น เมื่อเรากลับเข้าในตัวเมือง ประมาณเกือบ 2 ทุ่ม มีคนโทรมาบอกว่า ช้างล้มอยู่ในคูน้ำ ไม่สามารถลุกขึ้นได้ เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงไปถึงแค้มป์ ระหว่างที่เราใกล้จะถึงนั้น ก็มีคน
โทรมารายงานว่า ช้างเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากเจ้าของเรียกรถเครนมายกช้างขึ้นจากคูน้ำ

เมื่อไปถึงเราพบช้างอยู่ในสภาพนอนตะแคงซ้าย บริเวณอกมีเชือกมะนิลา 2 เส้น คาดแบบสะพายแล่งอยู่ อยู่ข้างสะพานรถข้ามริมถนน รอประมาณครึ่งชั่วโมงเจ้าของจึงเดินทางมาถึง ก็ได้พยายามที่จะทำความเข้าใจกับ เจ้าของ โดยมีปศุสัตว์อำเภอเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่เป็นผล ควาญเอง ก็ต้องเอาตัวรอด โดยบอกเจ้าของว่า ได้ห้ามเราแล้วไม่ให้ฉีดยาช้าง แต่เราไม่ยอมฟัง เจ้าของเองไม่ยอมรับว่าช้างของตัวเองอยู่ในสภาพที่แย่เต็มที กลับบอก ว่า "ช้างมันจะตายวันนี้พรุ่งนี้ ก็ปล่อยให้มันตายของมันเอง นี่พวกคุณเข้ามา ฉีดยาช้างผมนั่นแหล่ะ ช้างผมถึงตายเร็วขึ้นไปอีก" และเจ้าของยังไม่ยอมให้เราผ่าซากเพื่อพิสูจน์หาความจริง โดยบอกว่า "ช้างมันตายไปแล้ว พวกคุณจะอ้างว่ามันเป็นอะไรก็ได้ ถึงทำให้ช้างตาย โดยที่ไม่ยอมรับว่ามันตายเพราะพวกคุณฉีดยา...ผมไม่เชื่อพวกคุณหรอก" เป็นอันว่าคืนนั้น เราก็ตกลงกันไม่ได้ ปศุสัตว์อำเภอจึงให้พวกเรากลับกันไปก่อน โดยบอกว่าจะช่วยคุยให้

ผลปรากฏว่า วันรุ่งขึ้นเจ้าของเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ และพานักข่าวมาทำข่าว ที่ตัวช้าง ซึ่งในขณะนั้น พวกเราก็ออก ทำงานตามโปรแกรมที่วางไว้ คือที่จังหวัดกระบี่ ตกเย็นเราถึงทราบจากปศุสัตว์อำเภอว่านักข่าวมาทำข่าวไปเรียบร้อยแล้ว
จึงออกมาเป็นข่าวให้เห็นดังที่ได้อ่านกัน เย็นวันนั้น เราเข้าไปคุยกับปศุสัตว์จังหวัด พร้อม OPD และผลเลือด ซึ่งท่านก็เข้า
ใจ และยืนยันจะช่วยไกล่เกลี่ยให้ ซึ่งวันถัดมา คือวันที่ 12 พ.ย. เจ้าของช้างได้เข้าพบปศุสัตว์จังหวัด โดยนำทนาย
ไปด้วย บอกว่าไม่ว่ายังไงก็จะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด ปศุสัตว์ท่านก็บอกว่า ฟ้องไปก็แพ้ เพราะดูจากสภาพความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรผิด

สุดท้ายแล้ว ในวันต่อมา เจ้าของก็เข้าไปถอนแจ้งความ... และผู้ประสานงานของมูลนิธิโทรมาบอกเราในระหว่างเดินทางกลับว่า ผู้ว่าราชการ จังหวัด พร้อมด้วยปศุสัตว์จังหวัด ได้แจ้งให้ทราบว่า ในเดือนหน้าจะทำหนังสือมา เชิญพี่ต้อมกลับไปอีกครั้ง เพื่อทำการตรวจช้างทุกเชือกในภูเก็ตโดยละเอียด

....ส่วนผลการตรวจอื่นๆ จะแจ้งให้ทราบในคราวต่อไป และหากมีการตรวจพบว่า
เป็นโรคติดต่อร้ายแรง อาจมีการรายงานอย่างเป็นทางการ....!?!



Read more!

บรรพบุรุษของช้างมาจากไหน?

บรรพบุรุษของช้างมาจากไหน ?


จาก : คอลัมภ์คลื่นยาว เดลินิวส์ 23 มิ.ย. 2542 หน้า 24










นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียพบหลักฐานในตัวช้างว่า ช้างมีบรรพบุรุษเป็นวัวทะเล (SEA COW) หรือนางเงือก

วัวทะเล หรือ ตัวพะยูน หรือ นางเงือก เป็นสัตว์น้ำที่กำลังจะสูญพันธุ์ เพราะมีความเชื่องกับมนุษย์ และเคลื่อนไหวได้เชื่องช้าใน ถิ่นที่อยู่ธรรมชาติคือในน้ำ

การค้นพบใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประกอบด้วย แอนน์ เกท (ANN GAETH) โรเจอร์ ชอร์ต (ROGER SHORT) และ มาริลัน เรนฟรี (MARILYN RENFREE) เกิดขึ้นจากการศึกษาอวัยวะ คือ ไตของตัวอ่อนช้างแอฟริกา และพบส่วนประกอบบางอย่างภายในไต ซึ่งมีอยู่เฉพาะในตัวของสัตว์น้ำมีกระดูกสันหลัง แต่ไม่พบมาก่อนใน ตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เมื่อปี ค.ศ. 1865 นักชีววิทยาเยอรมัน ชื่อ เอิร์นต์ แฮกเคล (ERNST HAECKEL) ได้เสนอทฤษฎีว่า ตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยง ลูกด้วยนม รวมทั้งตัวอ่อนมนุษย์ด้วย มีพัฒนาการตั้งแต่การผสมกันระหว่างไข่กับสเปิร์ม จนกระทั่งเติบโตเป็นทารกเต็มตัวพร้อมจะ คลอดจากท้องผู้เป็นแม่ ที่แสดงลักษณะเฉพาะอันเป็นผลจากวิวัฒนาการอันยาวนาน...กล่าวคือตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี ลักษณะรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงตามรอยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เป็นบรรพบุรุษในอดีตมาก่อน ดังนั้นตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงเริ่มร้นจากการมีรูปร่างคล้ายปลา จากนั้นจึงเปลี่ยนรูปร่างมาคล้ายสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ต่อมาอีกจึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นคล้ายสัตว์ เลื้อยคลานและในที่สุด จึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นลักษณะสุดท้ายของชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

มาถึงปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ถือว่า ทฤษฎีของเอิร์นต์ แฮกเคลไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ผิดไปเสียทั้งหมด เพราะพัฒนาการของตัว อ่อนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไปก็ผ่านระยะที่มีอวัยวะบ่งบอกถึงบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมว่าเคยใช้ชีวิตในน้ำมาก่อน หลักฐานคือร่องเหงือกที่มีอยู่กับตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับช้างกับวัวทะเล วงการชีววิทยาเชื้อกันมานานแล้วว่า มีบรรพบุรุษร่วมกัน ถึงแม้ลักษณะทางกายภาพจะแตกต่างกันอย่าง ชัดเจน ในปัจจุบันหลักฐานที่สนับสนุนมีอยู่มากทีเดียว ทั้งหลักฐานประเภทฟอสซิล และหลักฐานทางด้านพันธุกรรมคือยีนที่สะสมมาก ขึ้นในระยะไม่กี่ปีมานี้

ปัญหาที่วงการชีววิทยายังค้างคากันอยู่มากคือ บรรพบุรุษร่วมของช้างกับวัวทะเลเป็นสัตว์น้ำ ดังเช่น วัวทะเลใช่หรือไม่ ? และ เส้นทางวิวัฒนาการของช้าง จะเป็นแบบที่กลับไปกลับมาระหว่างน้ำกับบนบกใช่หรือไม่? กล่าวคือ ช้างเริ่มต้นชีวิตบรรพบุรุษเป็นสัตว์ น้ำแล้วก็ขึ้นสู่แผ่นดิน (โดยที่บรรพบุรุษเปลี่ยนจากสัตว์จำพวกปลาเป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก) จากนั้นก็หวนกลับคืนสู่น้ำอีก แล้วในที่สุด จึงขึ้นมาใช้ชีวิตเป็นสัตว์บกเต็มตัว ดังเช่นช้างในปัจจุบัน

สิ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นค้นพบ สนันสนุนเส้นทางวิวัฒนาการดังกล่าวไปแล้ว เพราะสิ่งที่พบจากการศึกษาไต ของตัวอ่อนช้างแอฟริกาคือ มีส่วนประกอบด้วย เซลล์เนื้อเยื่อเรียก นีโฟรสโทม (NEPHROSTOME) มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ รูป กรวย ซึ่งพบอยู่ในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ไม่พบในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอาศัยอยู่บนบกมาก่อน แสดง ว่าช้างเคยมีบรรพบุรุษ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในน้ำชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก่อน ทั้งนี้เพราะว่าร่องเหงือกเป็นหลักฐานแสดงบรรพบุรุษ ของช้าง เคยเป็นปลามาก่อน และเนื้อเยื่อที่เป็นรูปกรวยค้นพบใหม่ ก็เป็นหลักฐานแสดงบรรพบุรุษของช้างเคยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วย นมที่อาศัยอยู่ในน้ำมาก่อน นับเป็นหลักฐานสนับสนุนความเข้าใจว่าช้างกับวัวทะเล มีบรรพบุรุษร่วมกันอยู่ในน้ำ

ข้อมูลการค้นพบสนับสนุนทฤษฎีว่า ช้างเคยเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอยู่ในน้ำดังเช่นวัวทะเลมาก่อน อธิบายที่มาของลักษณะ เฉพาะของช้างด้วยว่า การที่ช้างมีจมูกยาว คือ งวงช้าง ก็เพราะบรรพบุรุษของช้างเคยอยู่ในน้ำ และการมีจมูกยาวเป็นงวง ก็เป็น ประโยชน์สำหรับการหายใจขณะอยู่ในน้ำนั่นเอง...


Read more!

การจัดการขนย้ายเสือโคร่งเบงกอลข้ามประเทศ

"การจัดการขนย้ายเสือโคร่งเบงกอลข้ามประเทศ"

โดย : นายสัตวแพทย์กมลชาติ นันทพรพิพัฒน์

...มูลเหตุของการส่งเสือโคร่งไปยังประเทศจีน...

ด้วยบริษัท ศรีราชา ไทเกอร์ ซู จำกัด ( สวนเสือศรีราชา ) ได้ทำการส่งมอบเสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล ( Panthera tigris tigris ) โดยเกิดจากการเพาะพันธุ์ในสวนสัตว์ จำนวน 100 ตัว ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนในประเทศจีน โดยที่ทางสวนเสือศรีราชาได้ร่วมลงทุนทำกิจการเปิดสวนสัตว์เพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่เมืองซันย่า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน ในการนี้ได้มีการขนย้ายเสือโคร่งจำนวน 100 ตัวในความดูแลดังกล่าวจากสวนเสือศรีราชาไปยังประเทศจีนโดยทางเครื่องบินเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545

ข้อมูลเกี่ยวกับเสือโคร่ง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera tigris
โดยทั่วไปเสือโคร่งทุกพื้นที่มีลักษณะรูปร่างและสีขนคล้ายคลึงกัน ซึ่งสามารถแบ่งประชากรเสือในถิ่นต่าง ๆ เป็นชนิดย่อย ( Subspecies ) ได้ 8 ชนิดคือ
1. Bali tiger ( Panthera tigris balica )
2. Caspian tiger ( Panthera tigris virgata )
3. Indo-Chinese tiger ( Panthera tigris corbetti )
4. Javan tiger ( Panthera tigris sondaica )
5. Royal Bengal tiger ( Panthera tigris trigris )
6. Siberian tiger ( Panthera tigris altaica )
7. South China tiger ( Panthera tigris amoyensis )
8. Sumatran tiger ( Panthera tigris sumatrae )

เสือโคร่งทั้ง 8 ชนิดแตกต่างกันที่ขนาดลำตัว ความเข้มของสีและลาย โดยเสือโคร่งที่อยู่ค่อนไปทางตอนเหนือของโลกมีสีขนที่อ่อนกว่าเสือโคร่งที่อยู่ค่อนมาทางตอนใต้ของโลก นอกจากนี้เสือโคร่งบางชนิดจะมีลักษณะปลีกย่อยอื่น ๆ เช่น ความยาวของขน ลักษณะลายที่ปรากฏบนร่างกาย สัดส่วนกะโหลก ปัจจุบันพบว่า เสือโคร่งชนิดย่อยคือ Bali tiger , Caspian tiger , Javan tiger ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว



สำหรับเสือโคร่งที่ทำการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ของสวนเสือศรีราชาเป็นชนิด Royal Bengal tiger โดยลักษณะของเสือโคร่งมีรายละเอียดดังนี้

ขนาด ความยาวของหัวถึงลำตัว 140 – 250 ซม.
หาง 60 – 110 ซม.
ขาหลัง 30 - 40 ซม.
ความสูงของไหล่ 95 – 110 ซม.
น้ำหนัก เพศผู้ 180 – 280 กิโลกรัม
เพศเมีย 115 – 180 กิโลกรัม
ลักษณะทั่วไป
เสือโคร่งเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเสือด้วยกัน ลำตัวมีสีเทาแกมเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง เสือโคร่งแต่ละตัวมีลายแถบปรากฏบนลำตัวแตกต่างกัน ขนใต้ท้อง คาง และคอเป็นสีขาว ขนเหนือตาสีขาวและมีแถบดำ ส่วนหัวของเสือโคร่งจะโหนกยาวไปทางจมูก ปลายจมูกเป็นแผ่นหนังสีชมพูซึ่งบางครั้งจะมีจุดสีดำ ม่านตาเป็นสีเหลืองและมีรูม่านตากลม ส่วนหูสั้นและกลม หลังหูเป็นสีดำมีวงเป็นสีขาว ส่วนของขาหน้าจะมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่าขาหลังและมีอุ้งเท้าขนาดใหญ่ เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่สามารถยืดและหดเล็บได้ ส่วนหางมีลักษณะค่อนข้างยาว มีแถบวงแหวนสีดำเป็นบั้ง ๆ ปลายหางจะมีสีดำไม่มีพู่หาง ขนหยาบ ในช่วงฤดูร้อนขนจะลื่นและบางลง ส่วนในฤดูหนาวขนจะยาวปุย แต่สำหรับสภาพอากาศในประเทศไทยซึ่งมีอุณหภูมิในฤดูหนาวและฤดูร้อนจะไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นลักษณะความแตกต่างของขนจึงไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ขนบริเวณคอและไหล่มักจะสั้น สีเป็นแถบดำบนพื้นเหลือง
ขนาดครอก : เฉลี่ย 2.46 ตัว/ครอก อัตราส่วนของเพศ 1 : 1
ลูกเสือ : น้ำหนักแรกคลอด 1.00 กิโลกรัม
พฤติกรรม : เสือโคร่งชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำหรือที่มีร่มเงาให้หลบแสงแดด เพราะไม่ชอบอากาศร้อน เสือโคร่งจึงมักอาศัยอยู่ในป่าทึบ อากาศเย็นและพักผ่อนได้ในเวลากลางวัน เสือโคร่งชอบน้ำและสามารถว่ายน้ำได้ ในวันที่อากาศร้อน ๆ เสือโคร่งใช้เวลาหลายชั่วโมงในแอ่งน้ำ เสือโคร่งไม่ชอบปีนต้นไม้แต่สามารถปีนได้ถ้าจำเป็นจริง ๆ
เสือโคร่งมักจะออกล่าเหยื่อตอนเย็นและล่าทุกอย่างที่กินได้ตั้งแต่ ปลา เต่า เม่น หรือแม้แต่เสือโคร่งด้วยกันเอง จากการศึกษาในประเทศไทยเสือโคร่งชอบล่าหมูป่าและกวางเป็นอาหาร เสือโคร่งจะย่องเข้าหาเหยื่อสักประมาณ 10 – 20 เมตรและจึงวิ่งเข้าตะครุบเหยื่อจากทางด้านหลังหรือด้านข้าง เสือโคร่งจะเริ่มกินเหยื่อตรงสะโพกก่อน ตามปกติเสือโคร่งต้องการอาหารวันละประมาณ 6 -7 กิโลกรัมแต่บางตัวก็อาจกินได้ถึง 25 กิโลกรัม
เสือโคร่งชอบอยู่สันโดษ ไม่ค่อยพบว่าอยู่เป็นคู่ ถ้าพบเป็นกลุ่มก็อาจจะเป็นแม่เสือโคร่งและลูก ๆ ในฤดูผสมพันธุ์เสือโคร่งเพศเมียจะส่งเสียงร้องดังและบ่อย เสือโคร่งใช้เวลาตั้งครรภ์ประมาณ 100 – 108 วัน ออกลูกครั้งละ 1 – 7 ตัว แม่เสือโคร่งเลี้ยงลูกนานประมาณ 2 ปี โดยลูกตัวเมียจะอยู่กับแม่นานกว่าลูกตัวผู้

ขั้นตอนการขนย้าย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการขนย้ายเสือโคร่งข้ามประเทศ สามารถจำแนกเป็นได้ 4 หัวข้อ ดังนี้
1. ตัวเสือ
2. กรงเสือ
3. บุคลากร
4. การจัดการงาน

1. ตัวเสือ
การขนย้ายเสือโคร่งอย่างแรกที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ สุขภาพของเสือโคร่งที่จะทำการขนย้าย ซึ่งสิ่งจำเป็นและปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับตัวเสือมีดังนี้
1.1. ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางโปรแกรม ซึ่งทางสวนเสือฯ ได้ฉีดวัคซีนกับตัวเสือโคร่ง 2 ชนิดด้วยกันคือ วัคซีนรวมแมว ( Feline panleukopenia , Feline rhinotrachiitis , Calicivirus ) และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ( Rabies vaccine ) ซึ่งต้องแนบใบประวัติการฉีดวัคซีนเสือแต่ละตัวไปพร้อมกับการขนย้ายด้วย และเสือต้องอยู่ในสภาพที่ปกติไม่ป่วยเป็นโรคอยู่ก่อนเพราะอาจจะเป็น carrier นำโรคไปสู่แหล่งใหม่ได้
1.2. เสือทุกตัวต้องสามารถระบุรูปร่างลักษณะได้หรือได้รับการฝังไมโครชิพ เพื่อยืนยันว่าเป็นตัวไหน ในการนี้ ทางสวนเสือใช้วิธีการฝังไมโครชิพเพื่อระบุตัวเสือตรงตำแหน่งของ interscapular เข้าชั้นใต้ผิวหนัง ( subcutaneous )
1.3. ลดความเครียดช่วงก่อนการบังคับเสือโคร่งเข้ากรง เช่น ได้ทำการเตรียมการล่วงหน้าประมาณ 1 อาทิตย์โดยการผสมวิตามินลงในอาหารหรือละลายวิตามินลงในน้ำดื่มก่อนการควบคุมตัวเสือ ถ้าเสือระแวงและเครียดในช่วงการขนย้ายให้ทำการพักจนเสือสงบ อย่าทำการย้ายต่อเพราะจะทำให้เสือยิ่งดุมากขึ้น
1.4. ความพร้อมในเรื่องอาหารและน้ำดื่มที่เตรียมให้กับเสือควรเหมาะสม โดยได้ทำการให้เนื้อหมูหั่นเป็นชิ้น ๆ ขนาดเท่าลูกเทนนิส ประมาณ 1/2 กิโลกรัมต่อตัว และมีน้ำแข็งก้อนเพื่อให้เสือสามารถเลียกินได้ภายในกรง ซึ่งได้ให้หลังจากที่ได้บังคับเสือเข้ากรงเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรให้เนื้อหมูก่อนการจับเข้ากรงเนื่องจากเวลาเสือกินอาหารจะแสดงพฤติกรรมดุร้ายขึ้นมา ส่งผลให้การควบคุมเพื่อขนย้ายทำได้ลำบาก

2. กรงเสือ
2.1. ควรเตรียมกรงขนเสือเสร็จอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้มีเวลาในการตรวจสอบสภาพกรงและให้เสือเกิดความคุ้นเคยกับกรงเสือโดยอาจจะทำการลองให้เสือเดินเข้า- ออกได้อย่างปกติ ซึ่งอาจฝึกได้โดยการให้กินอาหารในกรงจนเสือเกิดความเคยชินกับกรงจึงไม่จำเป็นต้องบังคับมาก
2.2. กรงควรจะสามารถที่จะระบายอากาศได้ดี มีรูระบายกระจายทั่วกรง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตรต่อรูระบายอากาศ รวมทั้งสามารถระบายน้ำและสิ่งขับถ่าย เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์กินเนื้อ มีผลให้ปริมาณแอมโมเนียในปัสสาวะสูง หากการระบายอากาศและล้างทำความสะอาดได้ไม่ดีจะทำให้ภายในกรงอับเหม็นอาจส่งผลต่อสุขภาพเสือได้
2.3. ต้องมีช่องทางให้น้ำและอาหารเสือได้ หรือช่องทางสำหรับการรักษาในกรณีที่เกิดความจำเป็น และมีสติ๊กเกอร์เพื่อระบุว่าเป็นสัตว์มีชีวิต
2.4. พื้นควรเป็นตะแกรงที่อยู่บนถาดที่รองรับมูลและสิ่งขับถ่ายได้ ตะแกรงควรทำด้วยเหล็กและตาถี่เพื่อรองรับน้ำหนักเสือที่โตเต็มที่และเพื่อป้องกันมิให้เท้าเสือติดร่องตะแกรง
2.5. ต้องออกแบบกรงให้เหมาะสมกับขนาดลำตัวเสือเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอันเกิดจากการกลับตัวหรือถ้าไม่พอดีตัวก็ควรจะให้กรงมีขนาดใหญ่พอที่เสือจะสามารถกลับตัวได้
2.6. ควรออกแบบกรงเพื่อการใช้งานกับรถ Folk life ที่สามารถสอดฐานยกเพื่อการยกได้ และอาจจะออกแบบช่องเสียบคานยกทั้งสี่ด้านสำหรับการยกกรงได้ด้วย
2.7. ด้านหน้าของกรงควรเป็นตาข่ายโลหะหรือลูกกรงเหล็ก ความห่างของลูกกรงต้องป้องกันไม่ให้เสือเอาขายื่นออกมาได้
2.8. กรงเสือต้องตรงตามแบบกรงขนสัตว์ของการเคลื่อนย้ายสัตว์นานาชาติ


3. บุคลากร
3.1. ต้องมีนายสัตวแพทย์อย่างน้อย 1 ท่าน เพื่อการสั่งการในการควบคุมและการบังคับสัตว์ ตั้งแต่การจับเสือเข้ากรงจนกระทั่งถึงการปล่อยเสือออกสนาม และการดูแลอาการต่ออีกสักระยะจนกระทั่งแน่ใจว่าปลอดภัย รวมทั้งในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาสงบประสาท ยาสลบเสือ และการใช้ปืนยิงยาสลบ
3.2. Keeper ที่มีความคุ้นเคยกับตัวเสือทั้งการควบคุมเสือเข้าและออกจากกรง ซึ่งตัว Keeper เองจะรู้พฤติกรรม รู้นิสัยของเสือแต่ละตัวได้ดี จะเป็นการง่ายในการบังคับเสือโคร่งด้วย
3.3. บุคคลที่ดำเนินการเกี่ยวกับการขับรถในการขนย้ายเสือ

4. การจัดการงาน
4.1. ต้องคำนวนระยะเวลาทั้งหมดที่เสืออยู่ในกรง ระยะเวลาการขนย้ายจากสวนสัตว์จนถึงท่าดอนเมืองเพื่อส่งขึ้นเครื่องบิน และระยะเวลาที่ต้องดำเนินการนำเสือออกจากกรงเพื่อปล่อยสู่สนาม และควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด พยายามลดเวลาที่ไม่มีความจำเป็นลงให้หมด เช่นเวลาของการแวะเติมน้ำมัน เวลาของการรับประทานอาหารของพนักงานควรมีข้าวกล่องที่สามารถรับประทานได้บนรถ มีการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่จะนำเสือขึ้นเครื่องบิน
4.2. ในกรณีที่ไม่สะดวกที่จะบังคับเสือเข้ากรงได้ควรจะมีการดัดแปลงบริเวณคอกเพื่อการทำงานที่สะดวก โดยการทำทางเพื่อให้เสือสามารถเดินเข้ากรงเองได้
4.3. ควรมีการเตรียมความพร้อมถึงสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น
4.3.1. เสือบางตัวที่ดุร้ายคนเลี้ยงไม่สามารถเข้าควบคุมแบบประชิดตัวได้ จำเป็นที่จะต้องมีการเป่าลูกดอกยาสลบ เลือกใช้ Zoletil-100 เพื่อการเป่าลูกดอก
4.3.2. บางครั้งอาจเกิดความรุนแรงขึ้นกับตัวเสือได้ เช่น อาจจะเป็นการกัดกัน เสือโดนมุมเหลี่ยมของกรงบาดได้รับบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งกรงที่ไม่มีความพอดีกับตัวเสือ เสือสามารถพลิกตัวและเกิดติดตัวงอในกรง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
4.3.3. กรงอาจชำรุดซึ่งก็ควรมีอุปกรณ์ซ่อมแซมเตรียมให้พร้อม และควรสร้างกรงสำรองเผื่อในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนกรงใหม่
4.3.4. ในการขนย้ายต้องเตรียมพร้อมถึงสภาพอากาศที่ไม่คาดคิด เช่น อาจเกิดฝนตก หรือ แดดออกอากาศร้อน ซึ่งควรมีการเตรียมน้ำแข็งก้อนเผื่อไว้ในกรณีหลังนี้ด้วยเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายและเพื่อกระหายน้ำ
4.3.5. ยาฉุกเฉิน เช่น ยาระงับประสาท ,ยาสลบและยาที่จำเป็นในอื่น ๆ
4.3.6. ในช่วงของการปล่อยเสือออกจากกรงเพื่อออกสู่สนาม จะมีบางตัวที่ไม่ยอมออก บางครั้งเราสามารถจัดการง่าย ๆ โดยทำการฉีดน้ำไล่ตัวเสือ




Read more!

งานช้างที่ศรีลังกา

"งานช้างที่ศรีลังกา"

โดย : อ.นสพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม


ทุกท่านคงเคยได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกที่คุ้นเคยกับคนไทยและนิยมนำมาแสดงโขนกันนั่นก็คือเรื่อง รามเกียรติ์ ตามท้องเรื่องมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งที่ทศกัณฐ์ ศัตรูของพระรามปกครองอยู่นั่นก็คือ กรุงลงกา หรือ ว่าประเทศศรีลังกาที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนนั่นเอง

ศรีลังกาได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดียด้วยที่รูปร่างของประเทศคล้ายหยดน้ำหรือไข่มุก โดยที่พื้นที่ของประเทศมีประมาณ 65,525 ตารางกิโลเมตรอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมงานช้างที่ประเทศศรีลังกาโดยการจัดการประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 มีชื่อของการประชุมในครั้งนี้ว่า Symposium on Human Relationships and Conflicts โดยจัดที่เมืองโคลอมโบ เมืองหลวงของประเทศ ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2546 การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน มาจากทั่วโลกทั้งอาฟริกา ยุโรป อเมริกา เอเชีย โดยส่วนมากมาจากอินเดียและศรีลังกา ในการประชุมครั้งนี้มีคนไทย 3 คนครับคนหนึ่งมีพื้นที่ในการทำงานทางด้านช้างป่าที่เขาอ่างฤาไนยและเขาชะเมา ส่วนอีกคนทำอยู่ที่เขาใหญ่ ทำงานเกี่ยวกับช้างป่าทั้งคู่แหละครับ

การประชุมเริ่มต้นด้วยเสียงจังหวะกลองกระหึ่มและตามมาด้วยนักเต้นระบำพื้นเมือง จากนั้นจึงเป็นคณะกรรมการจัดงานซึ่งประกอบด้วย International Elephant Foundation (IEF) และ Biodiversity and Elephant Conservation Trust โดยมีคณะกรรมการออกมาจุดเทียนเปิดงานและกรรมการแต่ละคนมากล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ จากนั้นจึงปิดด้วย Mr. Jayantha Jayewardene ซึ่งเป็นเลขานุการและแม่งานในการจัดงานครั้งนี้ ในการนำเสนอผลงานต่างๆส่วนมากจะเป็นการนำเสนอผลงานในด้านปัญหาความขัดแย้ง การจัดการ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างช้างและคนในแต่ละพื้นที่ของโลก โดยส่วนมากมาจากอินเดีย ศรีลังกา และ เคนยา ที่มาเป็นส่วนน้อยคือ เนปาล พม่า มาเลเซีย (บอร์เนียว) อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา จีน และ ไทย ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนมากจะเป็นนักชีววิทยา และคนที่ทำงานเกี่ยวกับทางด้านองค์กรเอกชน เช่น มูลนิธิต่างๆ และมีคนที่เป็นบุคลากรของรัฐที่ทำงานในกรมป่าไม้ กรมสัตว์ป่า ส่วนสัตวแพทย์มีมาร่วมเป็นส่วนน้อย ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ องค์กรเอกชนระหว่างชาติ เช่น US Fish and Wildlife, Flora and Fauna International, Wild Aid, Born Free และองค์กรอื่นๆ ได้สนับสนุนคนจากหลายประเทศมาร่วมงานมากมายโดยเฉพาะผู้เข้าร่วมงานจากประเทศลาว พม่า และกัมพูชา จะมีชาวต่างชาติจากยุโรปหรืออเมริกาเป็นผู้พามาและเป็นผู้เสนอผลงานแทน


ส่วนของประเทศไทยไปกันเองครับ ไม่ต้องมีฝรั่งพาไป ผมไปด้วยทุนของมหาวิทยาลัย ส่วนอีก 2 คน คนหนึ่งไปด้วยทุน Wild aid ส่วนอีกคนทาง US Fish and Wildlife ออกค่าใช้จ่ายและขอให้ไปนำเสนอ การทำงานในไทย ดูจากงานในครั้งนี้เหมือนพวกฝรั่งไม่ค่อยให้ความสนใจคนไทยที่ทำงานเกี่ยวกับช้างเท่าไหร่ อาจมาจากไม่มีคนที่ทำงานช้างป่ามากซึ่งเป็นจุดสนใจของเขา ฝรั่งเข้ามาทำงานเกี่ยวกับการจัดการช้างป่าในไทยได้ยาก เนื่องจากมีหน่วยงานในไทยหลายแห่งทำงานด้านนี้และมีมูลนิธิต่างๆลงไปทำงานกันมาก ดังนั้นการพึ่งพาฝรั่งในด้านงบประมาณจึงสำคัญน้อยลง หรือปัญหาความขัดแย้งของวงการช้างบ้านเราซับซ้อนทำให้ฝรั่งเข้ามาเจาะยาก

ในการนำเสนอผลงานครั้งนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น

1. Human Elephant Conflict (HEC) ในอินเดียและศรีลังกามีมากที่สุด โดยการนำเสนอเรื่องปัญหาความขัดแย้งของคนและช้างในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมีเป็นจำนวนมาก ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่อนข้างน้อย

2. ปัญหาช้างฆ่าคนตาย มีจำนวนมากโดยในแคว้นอัสสัมของอินเดียในปี 2002 มีคนถูกช้างฆ่าตายถึง 64 คน นอกจากนี้ยังมีการวางยาพิษช้างโดยการใส่ยาฆ่าแมลงหรือสารพิษต่างๆลงในพืชไร่แบบกระจายตามจุดต่างๆ หรือ การไปใส่ในโป่งที่ช้างมากิน อีกเรื่องคือมีช้างป่าตายจากการถูกรถไฟชนด้วย

3. ปัญหาเกิดช้างป่าอยู่เป็นพื้นที่ที่แยกจากที่อื่น (Elephant pocket) ทำให้ช้างไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการผสมเลือดชิดขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวคิดการทำทางเดินสำหรับช้าง (Elephant corridor) ขึ้นโดยเชื่อมพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกันทำให้ช้างมีโอกาสเดินทางไปมาหาสู่กันได้ โดยในประเทศไทยมีการทำสำเร็จแล้วที่รอยต่อของเขาชะเมาและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย ซึ่งเป็นทางเดินเล็กๆและสั้นๆประมาณ 2 กิโลเมตร

4. ปัญหา elephant pocket ในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียเหมาะแก่ช้างป่า คือ บริเวณป่าผืนตะวันตกซึ่งมีแนวติดต่อกับพม่าด้วยทำให้ช้างมีการเคลื่อนย้ายไปมาได้

5. การตรวจ DNA ของช้างจากอุจจาระ

6. การศึกษาระบบการระบายความร้อนในช้าง

7. การใช้อุปกรณ์ต่างๆในการขับไล่ช้าง ที่ลงมากินพืชไร่ของชาวบ้าน เช่น การเผาพริกซึ่งมีการใช้ในอาฟริกาและพม่า มีรายงานว่าใช้ได้ผลดีในช่วงแรกๆ

8. การตรวจช้างที่มากินพืชไร่ของชาวบ้าน (Elephant Detection Project) โดยการใช้ลวดขึงผูกติดกับสัญญาณ การตรวจจับ Infrasound ของช้างที่เดินเข้ามาใกล้

9. มีความพยายามหาทางป้องกันช้าง การขับไล่ช้าง และการตรวจจับช้าง ที่เข้ามาต่างๆ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง การใช้รั้วไฟฟ้าเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันมากในอาฟริกาและศรีลังกา แต่ไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากช้างสามารถทำลายได้โดยใช้ท่อนไม้วางพาด หรือใช้งาเกี่ยวหรือกดให้ขาด

10. วิธีหนึ่งที่ใช้กันได้ผลดีในการลดปัญหาความขัดแย้ง คือ การทำป่ากันชน (Buffer zone) โดยต้องมีการศึกษาสภาพของป่าและแหล่งอาหารในทุกฤดูด้วย


มีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มมาคือ
** มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่มีจำนวนช้างเลี้ยงมากกว่าช้างป่า และมีจำนวนมากเกือบ 2 เท่า โดยที่ประเทศส่วนใหญ่ส่วนมากเป็นช้างป่า (ช้างงาในศรีลังกามีน้อยมาก โดยประมาณ 7% ของช้างเพศผู้ในศรีลังกาเป็นช้างงา)


การจัดงานครั้งนี้เป็นไปด้วยดี มีบางอย่างที่ไม่ค่อยดี คือ ผู้จัดงานไม่ได้มีการคัดเลือกเรื่องที่ส่งมาเสนอผลงานดังนั้นจึงมีเรื่องที่เสนอผลงานบนเวทีจำนวนมากและอัดแน่นทำให้น่าเบื่อ และมีหลายเรื่องที่คล้ายกันมากทำให้ไม่น่าสนใจ อีกอย่างซึ่งผู้ไปร่วมงานที่อินเดียและศรีลังกาต้องทำใจคือ ภาษาอังกฤษของพวกอินเดียและศรีลังกาจะพูดแบบรัวและเร็วมาก ซึ่งอาจเป็นตัวผมเองที่ฟังไม่รู้เรื่องก็ได้เพราะเห็นพวกฝรั่งยังคุยกับเขาตามปกติเลยหรือชินไปแล้วก็ไม่ทราบ ส่วนการนำเสนอผลงานของผมในเรื่อง Herbal drug treatment in Asian elephant ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้เขาเช่นเดียวกัน เนื่องจากพวกสัตวแพทย์และควาญอินเดียใช้สมุนไพรเหมือนกันแต่ไม่มีใครสนใจศึกษากลไกการออกฤทธิ์อย่างจริงจัง

จากนั้นผมได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาดูงาน ณ Udawalawe National Park ซึ่งมีการจัดการช้างป่าที่ดีและทำเป็นลักษณะซาฟารีให้คนเข้าไปดู มีการล้อมรั้วไฟฟ้าตลอดแนว (แต่ติดถนนนะครับ) และป่าของที่นี่เป็นลักษณะทุ่งหญ้าทำให้สามารถมองเห็นช้างได้ง่าย ไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นช้างป่าได้หรือไม่ ช้างยืนติดรั้วไฟฟ้า และมีคนเอาของกินไปยื่นให้กับมือเลย


จากนั้นผมก็ไปที่ศูนย์เลี้ยงลูกช้างกำพร้า Pinnawala Elephant Orphanage ภาระกิจหลักของที่นี่คือ การดูแลลูกช้างที่กำพร้าจากแม่ตายทั้งแบบธรรมชาติและถูกล่า โดยที่นี่มีช้างทั้งหมด 64 เชือกมีคนเลี้ยง 10 คน เลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง กลางแดดและมีคนไล่ แบบไล่วัวไล่ควายงั้นแหละ แล้วก็ไล่ไปอาบน้ำซึ่งเป็นการโชว์อย่างหนึ่ง การแสดงอีกอย่างที่ได้รับความสนใจมากคือ การป้อนนมลูกช้างซึ่งที่นี่ใช้นมคนผสมให้ลูกช้างกินและได้ผลดี ที่นี่มีสัตวแพทย์ 2 คน เป็นผู้ชายและผู้หญิง สัตวแพทย์หญิงที่นี่ใส่ส่าหรีรักษาช้างครับ มีผู้ช่วยแบกของไปและเธอก็ฉีดยาในชุดส่าหรีที่ดูรุ่มร่ามนี่แหละ แต่เขาทำงานกันแบบนี้ทุกวัน


สิ่งหนึ่งที่อยากบอกสัตวแพทย์สัตว์ป่าอย่างเรา คือ พยายามเปิดตัวในงานประเภทนี้เพื่อแสดงศักยภาพและการทำงานของพวกเรา พยายามฝึกพูดและเขียนภาษาอังกฤษกันเถอะครับและเอาผลงานเราไปแสดงให้เขาเห็น ส่วนปัญหาทางด้านการเงินที่ไปในงานของพวกเราไม่มีปัญหามากครับ มีคนพร้อมจ่ายเงินให้เราไปนำเสนอผลงานอยู่แล้ว เขาอยากรู้ข้อมูลและการทำงานของพวกเราจะตาย งานทางด้านช้างและสัตว์ป่านี่มันเป็นลักษณะพิเศษของแต่ละพื้นที่อยู่แล้วไม่ต้องมาแข่งขันกันมาก ผมว่าเราออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ มาพัฒนาวงการของพวกเรากันเถอะครับ ให้เส้นเดินทางต่างประเทศบนลายมือได้ทำงานกันบ้าง.



Read more!

แฮมเตอร์แคระ...เพื่อนใหม่

"แฮมเตอร์แคระ...เพื่อนใหม่"

โดย : หมอเกษตร สุเตชะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เอาละครับ... ก่อนจะทราบว่าหนูเหล่านี้มาหาเราทำไม ???

เรามาทำความรู้จักกับพวกเขากันก่อนนะครับ...

ตามธรรมชาติ : แฮมสเตอร์แคระ (Dwarf Hamter) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตทะเลทราย ซึ่งในตอนกลางวันอุณหภูมิในทะเลทรายจะสูงมาก แฮมสเตอร์แคระจะหลบนอนในโพรงเพื่อเก็บแรง ตอนกลางคืนเมื่ออุณหภูมิต่ำ และไม่มีสัตว์ผู้ล่า แฮมสเตอร์แคระจะออกมาหาอาหาร โดยจะเก็บอาหารที่หาได้ไว้ที่กระพุ้งแก้ม และนำไปเก็บไว้ในโพรงที่สร้างเป็นห้องเก็บอาหารเฉพาะ เพระเหตุนี้ แฮมสเตอร์จึงต้องมีกระพุ้งแก้มเป็นแบบพิเศษ ที่สามารถใช้กักตุน และใช้ขนถ่ายอาหารได้ ชื่อเรียกว่า แฮมสเตอร์ ก็มีที่มาจากคำว่า "Hamper" ซึ่งแปลว่า "สะสม กักตุน" เมื่อแฮมสเตอร์แคระต้องการจะเอาอาหารที่ตุนไว้ออกมาจากแก้ม ก็จะใช้เท้าหน้าเล็กๆ ค่อยๆ ดันอาหารจากข้างในแก้มออกมา ซึ่งแก้มแบบพิเศษนี้ จะสามารถเก็บอาหารไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่มีน้ำลาย หรือกระบวนการย่อยใดๆเกิดขึ้นที่แก้มนี้ ทำให้เค้าสามารถจะเก็บอาหารไว้ได้ อย่างสด และแห้งสนิทเลยทีเดียว ซึ่งแก้มนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่มากั้นไม่ให้อาหารที่ตุนอยู่ ตกลงไปยังปากได้อีกด้วย

เมื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยง : เจ้าของใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเวลากลางวัน ซึ่งสวนทางกับวิถีชีวิตหลักของแฮมสเตอร์แคระ บางตัวก็ปรับตัวตามเจ้าของได้ แต่ก็มีอีกหลายตัวที่ไม่ปรับตัว ซึ่งจะพบว่าถ้าไปเล่นกับหนูในเวลากลางวัน อาจโดยกัดได้โดยง่าย แต่ถ้าไปจับเล่นตอนพลบค่ำ แฮมสเตอร์แคระจะเชื่องมาก คงเหมือนคนกำลังง่วงนอน ถ้ามีคนไปปลุกจะหงุดหงิดเป็นเรื่องธรรมดา

สถานที่เลี้ยง : ควรแยกเป็นสัดส่วน แยกจากส่วนที่เจ้าของอยู่อาศัยอย่างชัดเจน เพราะมีหลายครั้งที่นำแฮมสเตอร์แคระไปนอนเล่นด้วยแล้วเผลอนั่งทับ หรือนอนทับ และในปัจจุบันมีผลิตภัฑณ์หลายอย่างที่อำนวยความสะดวกกับเจ้าของ ทั้งกรง, สิ่งปูรอง, อาหาร และของเล่น

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ : เลี้ยงหนูในที่ซึ่งร้อนเกินไป, เย็น หรือลมโกรกมากเกินไป, แออัดหนาแน่นมากเกินไป หรือการระบายอากาศไม่ดี, ให้อาหารไม่เหมาะสม และขาดการดูแลเอาใจใส่

การเลือกซื้อ : แฮมสเตอร์แคระที่ดี ควรจะสะอาด ขนต้องสะอาด ไม่มีอุจจาระเปื้อน หรือกลิ่นเหม็นผิดปกติ, ไม่ผอมผิดปกติ, ไม่ซึม, ต้องไม่มีบาดแผล ทั้งตัวและนิ้วเท้า, หูต้องสะอาดทั้งด้านในและด้านนอก, ตาต้องสดใส และไม่มีขี้ตา

ข้อมูลชีววิทยาของหนูแฮมสเตอร์แคระ ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย (คัดลอกมาจาก http://www.geocities.com/hamsterthai/index.html )

- Winter White Russian

ชื่อเล่น Siberian Hamster ,รัสเซียนแฮมสเตอร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Phodopus Sungorus ขนาดความยาว 10-12 เซนติเมตร ,น้ำหนัก 20-28 กรัม ,โครโมโซม 28 คู่ , ระยะตั้งครรภ์ 18-21 วัน ,อายุขัย 1.5-2 ปี , ถิ่นกำเนิด ที่ราบ และมีหญ้าขึ้น ตะวันออกของคาซัคสถาน และทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ ของไซบีเรีย ,ความยากในการผสม เลี้ยงง่าย เพาะง่าย ,นิสัยเป็นมิตรมากที่สุด อยู่ตัวรวมกันหลายตัวได้ ,จำนวนลูกเฉลี่ย 4-6 ตัว ,หย่านม 20 วัน ,มีโอกาสผสมติดเมื่อ 2 เดือน นำเข้ามาไม่นานมาก และนิยม เพราะเพาะง่าย เชื่อง ติดคน

- Campbells Russian

ชื่อเล่น ไซบีเรียนแฮมสเตอร์ Djungarian Hamster ชื่อวิทยาศาสตร์ Phodopus Campbelli ขนาดความยาว 10-12 เซนติเมตร ,น้ำหนัก 22-28 กรัม ,โครโมโซม 28 คู่ , ระยะตั้งครรภ์ 18-21 วัน ,อายุขัย 1.5-2 ปี ,ถิ่นกำเนิด ที่ราบสูง Steppes ,ที่แห้ง พบในมองโกเลีย และทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของจีน อาศัยตามเนินทราย ในทะเลทราย ความยากในการผสม เลี้ยงง่าย เพาะง่าย นิสัยตามธรรมชาติอยู่เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ,จำนวนลูกเฉลี่ย 8 ตัว ,หย่านม 21 วัน ,โอกาสผสมติดเมื่อ 2 เดือน เพิ่งเริ่มเข้ามาในเมืองไทย ที่พบในประเทศไทย คือ สีขาวตาแดง

- Robovski

ชื่อเล่น แฮมสเตอร์ ทะเลทราย ชื่อวิทยาศาสตร์ Phodopus Roborovski ขนาดความยาว 4-5 เซนติเมตร ตัวเล็กที่สุด ,โครโมโซม 34 คู่ ,ระยะตั้งครรภ์ 23-30 วัน , อายุขัยเฉลี่ย 3-3.5 ปี เคยพบอยู่ได้นานถึง 4 ปี ,ถิ่นกำเนิดที่ราบสูง กึ่งทะเลทราย ทางตะวันออกและตะวันตก ของมองโกเลีย และทางเหนือของจีน ,ความยากในการผสม เพราะยาก พอสมควร ,นิสัยตามธรรมชาติอยู่เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ จำนวนลูกเฉลี่ย 6 ตัว ,หย่ายม 28-30 วัน มีโอกาสผสมติดเมื่อ 4 เดือน นำเข้ามาไม่นานมาก เป็นหนูพันธุ์ที่เล็กสุด แต่ค่อนข้างตื่นคนไว จับยาก

ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์แคระ

1. ทะเลาะกันเองในหมู่คณะ เป็นพฤติกรรมปกติของการเลี้ยงแฮมสเตอร์แคระหลายตัว ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และแคบๆ เขาจะกัดกันจนบาดเจ็บไปตามๆกัน เลือดตกยางออก รอยกัดจะสร้างฝีขึ้นมาภายหลังถึงขั้นต้องกรีดออก บางครั้งการทะเลาะกันก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยิ่งถ้าปล่อยไว้อีกละก็ จะพบว่าหนูผู้ชนะจะกัดกินหนูผู้เสียชีวิตด้วยนะครับ และสภาพการณ์แบบนี้จะรุนแรงมากขึ้น ถ้าเป็นการทะเลาะในเพศผู้ด้วยกันเอง ยิ่งขนาดตัวและอายุไม่เท่ากันจะเกิดสถานการณ์ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ครับ การแก้ไขต้องแยกเลี้ยงหนูที่โตอายุมากกว่าหนึ่งเดือนออกมาจับคู่ หรือแยกเดี่ยวไปเลยครับ เพื่อป้องกันปัญหานี้

2. ภาวะถุงเก็บอาหารที่กระพุ้งแก้มอักเสบ เกิดบ่อยๆในหนูที่ชอบมีนิสัยแย่งกันกินอาหาร เพราะหนูจะนำอาหารไปเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้ม เพื่อเก็บไว้กินยามว่าง แต่มีหลายตัวที่เก็บไว้นานมากเกินไป และชอบจะเติมมากว่า ไม่ยอมเอาออกมากินเสียที (กลัวเพื่อนแย่ง) จนอาหารที่อยู่ก้นถุงเริ่มเน่า ทีนี้ก็แย่ละสิ...ใช้ขาหน้าดันออกมาก็ไม่ได้ จะกินเข้าไปเก็บเพิ่มก็ไม่ได้ เจ็บแก้มก็เจ็บ สุดท้ายเจ้าของหนูจะเห็นว่าหนูผอมลงเรื่อยๆ ทั้งที่แก้มก็ป่องๆ บางตัวก็พยายามดันอาหารจนออกมาได้ครับ แต่ตัวถุงกระพุ้งแก้มกลับปลิ้นออกมาด้วย กลายเป็นภาวะแทรกซ้อน เข้าไปกันใหญ่ ผมชอบเรียกภาวะนี้ว่า "หนูขี้งก" ครับ การแก้ในเบื้องต้น เราต้องบีบเอาอาหารที่เน่าออกมาจากกระพุ้งแก้มเสียก่อนครับ อาจจะพบว่าอาหารจะเน่า. มีสิ่งแปลกปลอม และส่งกลิ่นเหม็นมาก ก็ทนๆเอาหน่อยนะครับ จากนั้นก็ต้องแยกเลี้ยงเดี่ยว และจำกัดปริมาณอาหารไม่ให้กินมากจนเกินไป เพราะหนูจะได้กินหมด และไม่เก็บสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้ม ถ้ามีการอักเสบก็ให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยครับ ส่วนที่มีการปลิ้นของถุงกระพุ้งแก้มออกมานั้น ก็ต้องยัดกลับเข้าไป ถ้าอักเสบมาก และมีเนื้อตายก็ต้องตัดออกครับ

3. ผิวหนังอักเสบจากเชื้อราอันเนื่องมากจากไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจจะเป็นพร้อมกันได้หลายตัวถ้าหนูมีพฤติกรรมสองแบบนี้ คือ ชอบปัสสาวะแล้วนอนทับให้เปียกท้อง อีกอย่างเกิดจากการให้น้ำแบบถ้วย แล้วหนูชอบนอนลงไปแช่น้ำ จะพบผิวหนังส่วนล่างลำตัวแดง, หนาตัว, คัน, มีกลิ่นเหม็นหืนๆ และมีสะเก็ดบ้างเล็กน้อย การรักษาต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยารักษาเชื้อราชนิดกิน ราว 2 สัปดาห์ก็จะค่อยๆดีขึ้น แล้วต้องเปลี่ยนภาชนะให้น้ำจากถ้วยเป็นกินจากหลอด ส่วนเจ้าพวกนอนทับฉี่ตอนเองนั้น ต้องเปลี่ยนวัสดุปูรองสักสัปดาห์ละสองครั้ง ก็จะดีขึ้นครับ

4. อุบัติเหตุจากการทำหนูตก, โดนหนีบ, นอนทับ, เหยียบ ฯลฯ พบง่าต้องมีขา หรือกระดูกสันหลังหักแน่นอน แต่เราไม่สามารถดาม หรือรักษาได้ทุกกรณี ด้วยข้อจำกัดของขนาดหนูและวัสดุผ่าตัด เพราะหนูสามารถอยู่มีชีวิตได้ตามปกติ ถึงแม้ขาจะหักสามขา เพราะฉะนั้นอาจมีบางตัวที่ต้องปล่อยไปตามสภาพบ้าง

5. ท้องเสีย เป็นอาการป่วยที่เห็นได้ง่ายที่สุด มักเกิดจากอาหาร, น้ำ หรือภาชนะที่ใส่อาหารไม่สะอาด และบางครั้งเกิดจากการกินอาหารที่บูดเน่า (เนื่องจากเจ้าของไม่ใส่ใจ) บริเวณก้น และส่วนท้ายลำตัวจะเปียกแฉะตลอดเวลา อัตราการตายค่อนข้างต่ำ แต่อัตราการเป็นโรคสูง เพราะติดกันง่ายมาก (หนูจะชอบเลียให้กัน) การรักษา ต้องพูดคุยกับเจ้าของพยายามหาต้นตอของสาเหตุแล้วแก้สิ่งนั้นจะดีที่สุด หรือถ้าหาสาเหตุไม่ได้ก็นำหนูออกจากสิ่งแวดล้อมเดิม แล้วเริ่มในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด และควบคุมได้

6. เป็นเรื่องธรรมดาที่คนขายไม่ยอมบอกผู้ซื้อ ถึงอายุขัยที่แท้จริงของหนูแฮมสเตอร์แคระ ว่าส่วนใหญ่หนูมีอายุไม่เกิน 2 ปี และเมื่ออายุพ้นหนึ่งปีครึ่งไปแล้ว มักเกิดเนื้องอก (มะเร็ง) ที่รักษไม่หาย หรือเป็นฝีอยู่เสมอๆ พอกรีดรักษาแผลไปแล้ว สักพักก็เกิดขึ้นมาอีก จากการสักเกตพบว่า หนูแก่จะขนร่วงที่ส่วนท้ายลำตัว, กินได้ปกติแต่ผอมลงเรื่อยๆ, ตามลำตัวเรื่มมีตกกระ, นอนมากกว่าปกติ, ตาทั้งสองข้างเริ่มมองเห็นภาพไม่ชัด หนูจะระแวงภัยมากขึ้น ถ้าคนไม่คุ้นกันจริงๆ มาหยิบอุ้มจะโดนกัด และสุดท้ายอาจพบหูดได้ที่รูหูทั้งสองข้าง หรือกระจายตามลำตัว

7. ภาวะฟันเก (Malocclusion) เป็นเรื่องปกติที่พบสัตว์ฟันแทะเกือบทุกชนิด เจ้าของจะพบว่าหนูกินอาหารไม่ได้ และอ้าปากมีน้ำลายไหลอยู่ตลอดเวลารวมถึงผอมลง พบสาเหตุอยู่สองอย่างด้วยกัน คือ ฟันคู่หน้ายาวเกินกว่าจะสามารถใช้ขบกัดอาหารได้ มักเกิดจากการเลี้ยงด้วยอาหารนิ่มมาตลอด จนหนูไม่ได้ลับหรือฝนฟันให้อยู่ในความยาวที่เหมาะสม การรักษาต้องตัดฟันคูหน้าออกเป็นระยะๆ ส่วนสาเหตุที่สอง เกิดจากพันธุกรรมที่ฟันเกทั้งครอบครัว ส่งผลมายังลูกๆ ซึ่งนอกจากจะเกิดกับฟันคู่หน้าแล้ว ยังเกิดกับฟันกรามด้านในด้วย พบว่าหนูจะกรามโตกว่าปกติ ลักษณะคล้ายฝีแต่จับดูแล้วแข็งๆ นั่นคือเกิด Osteomyelitis แล้ว (ควรยืนยันด้วยการ x-ray ก่อนแจ้งเจ้าของทุกครั้ง) การรักษาส่วนใหญ่จะให้กินยาตลอดชีวิต เพราะการผ่าตัดกรีด เปิดทำความสะอาดนั้น มักทำให้หนูแย่ลงกว่าเดิม หรืออาจเสียชีวิตได้

เป็นอย่างๆไรบ้างครับ... เรื่องราวของเจ้าตัวน้อยน่ารัก และกำลังเป็นสัตว์เลี้ยงที่กำลังมาแรงในขณะนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นคงเพียงพอให้สัตวแพทย์ทุกท่าน มีความรู้เบื้องต้นเพื่อจัดการกับปัญหาของหนูแฮมสเตอร์แคระได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และทุกท่านสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เน็ตได้อีกทางหนึ่ง จากนี้หนูแฮมสเตอร์แคระก็จะเปลี่ยนจาก "หนูใกล้ตัวไกลตา มาเป็นเป็น...หนูใกล้ตัวใกล้ตา" แล้วครับ

Read more!

การจัดการในการดูแลเสือ

"การจัดการในการดูแลเสือ"

โดย : หมอดาว เขาเขียว

ธรรมชาติของเสือ

เสือจัดเป็นสัตว์ที่ดุร้ายในสายตาของผู้คนทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้วเสือแต่ละชนิดก็จะมีนิยายชีวิตของตัวมันเองทั้งดุร้ายและขี้กลัวปะปนอยู่ในตัวเดียวกัน นิสัยของเสือเองก็แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด มีเสือหลากหลายที่ชอบน้ำ เช่น เสือโคร่ง เสือปลา แมวป่าหัวแบน เป็นต้น เสือโคร่งมักชอบนอนแช่ในแหล่งน้ำเป็นเวลานานๆโดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศร้อน ออกล่าเหยื่อในเวลาเย็นถึงค่ำ โดยรวมกลางวันมักจะพักผ่อนบริเวณที่เย็นๆและออกหากินช่วงเย็นถึงกลางคืน มักอาศัยตามลำพังจึงมีนิสัยหวงเหยื่อ อย่างไรก็ตามในการจัดการดูแลเสือแต่ละชนิดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบนิสัย ถิ่นอาศัย และวิถีการดำเนินชีวิตของเขาเพื่อนำมาวางแผนและออกแบบการจัดการดูแล สำหรับบทความนี้จะเป็นการพูดถึงภาพรวมของการดูแลเสือโดยไม่เฉพาะเจาะจงลงไปชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งท่านสามารถนำไปใช้เป็นการจัดการพื้นฐานและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเสือในแต่ละชนิดหรือสัตว์ชนิดอื่นได้เช่นกัน

การจัดการพื้นฐาน

1. กรงเลี้ยง

การเลี้ยงเสือควรแยกเลี้ยงเฉพาะตัวดีที่สุด แต่หากจำต้องเลี้ยงรวมกันควรจะจัดให้มีกรงแยกเพื่อสะดวกในการจัดการรวมถึงการมีคอกกักในกรณีที่จำต้องแยกสัตว์ป่วย ประตูทางเข้าออกทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉินด้านหน้าควรจัดให้มีทางเข้าออกรถเพื่อสะดวกในการขนส่ง โดยควรทำเป็นประตูสองชั้น

พื้นที่ในส่วนคอกกัก ต้องมีหลังคาป้องกันแดดและฝนได้อย่างเพียงพอ พื้นควรจะเทซีเมนต์และขัดเรียบพอสมควรเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด พื้นซีเมนต์ที่ขัดหยาบจะสร้างปัญหาเรื่องอุ้งเท้าได้ในระยะยาว การเทซีเมนต์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจในเรื่องความลาดเอียงของพื้นที่ที่จะให้น้ำไหลลงท่อระบายได้สะดวก ปัญหาที่พบบ่อยคือในขณะก่อสร้างได้วัดระดับไว้อย่างดี มีความลาดเอียงไม่น้อยกว่า 5% แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป 2-3ปี พื้นจะทรุดตัวลงเรื่อยๆ เนื่องจากพื้นที่ที่สร้างคอกมักมิได้วางฐานตอกเข็มหรือทำคานไม่ดี ดังนั้นอาจจะจำเป็นต้องเผื่อการทรุดตัวในอนาคตด้วยเช่นกัน พื้นที่ลานออกกำลังกายควรกรุด้วยตาข่ายด้านบนให้มีความสูงประมาณ 4 เมตรขึ้นไป แสงแดดต้องส่องได้ทั่วถึงทั้งบริเวณ

ตาข่าย ควรเลือกใช้ตาข่ายขนาด 2x2 นิ้วอย่างดีเพื่อความทนทาน การเชื่อมตาข่ายกับโครงเหล็กของโครงสร้างกรงจำเป็นต้องพิถีพิถันอย่างยิ่ง เพราะเสือมีน้ำหนักตัวมากและมักจะกระโจนเล่นใส่ตาข่ายได้บ่อยๆ อาจทำให้ตาข่ายตรงจุดที่เชื่อมหลุดได้ง่าย การป้องกันทำได้โดยการเสริมลวดสลิงขนาด 4 หุนสอดไว้ทุกระดับความสูงของตาข่ายโดยให้แต่ละเส้นห่างกันประมาณ 1 เมตรจะช่วยลดการชำรุดของตาข่ายได้มากสามารถอยู่ได้นานหลายปี อีกจุดหนึ่งที่จะต้องระวังคือ จุดคานบริเวณรอบพื้นที่คอกใหญ่ที่ใช้เชื่อมต่อกับตาข่าย จุดนี้ติดกับพื้นดินจึงชำรุดเสียหายได้ง่ายเนื่องจากสัมผัสดินซึ่งมีสารต่างๆทำให้เกิดการผุกร่อนได้เร็วกว่าจุดอื่น หรือหากเป็นกรงที่ทำจากเหล็กเส้นอยู่แล้วก็มักไม่ค่อยพบปัญหามากนักแต่จำต้องหมั่นตรวจเช็คเป็นประจำ

แคร่นอน ควรจัดให้มีแคร่สำหรับนอนที่ยกจากพื้นอย่างน้อย 1 ฟุต ทำจากไม้โดยตรงหรือสร้างเป็นแท่นปูนแล้วปูด้วยพื้นไม้ หรืออาจจะทำเป็นลักษณะขอนไม้ที่มีขนาดกว้างยาวเพียงพอก็ได้ สำหรับคอกลูกเสือจำเป็นต้องระวังในเรื่องความสูงของแคร่เพื่อป้องกันมิให้ลูกเสือกระโดดลงมาจนเกิดบาดเจ็บได้ และอาจจะทำทางปีนขึ้นลงได้ตามความเหมาะสมของลักษณะของคอก แต่ไม่ควรออกแบบให้มีเฟอร์นิเจอร์มากจนเกินไปเพราะจะกลายเป็นที่หลบซ่อนตัวได้ทำให้การจัดการอื่นๆทำได้ลำบากตามมา

บ่อน้ำ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เสือที่เลี้ยงได้รับการผ่อนคลายได้มาก อีกทั้งยังช่วยให้กรงเลี้ยงสัตว์ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น จุดที่เหมาะจะทำบ่อน้ำ ควรได้รับแสงแดดโดยตรงเพื่อจะได้ไม่อับชื้นและทำความสะอาดได้ง่าย บ่อน้ำนี้จำเป็นต้องทำสะดือบ่อตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโดยจัดให้สามารถควบคุมการถ่ายเทน้ำของบ่อได้จากภายนอกของคอก ไม่ควรเปิดน้ำขังไว้ในบ่อทั้งวันทั้งคืน แต่ควรเปิดน้ำให้เสือได้เล่นเฉพาะเวลาบ่ายเท่านั้นและขับออกทุกเย็น อาจจะไม่จำเป็นต้องให้เสือได้เล่นทุกวัน เลือกเฉพาะวันที่อากาศร้อนก็เพียงพอ




2. การให้อาหาร

เสือเป็นสัตว์กินเนื้อโดยตรงแต่ในธรรมชาติมีการกัดแทะ ดังนั้นอาหารที่ให้เสือนอกจากจะให้เนื้อเป็นก้อนซึ่งง่ายต่อการจัดหาและจัดการแล้ว สมควรจัดให้มีการให้โครงสัตว์เป็นตัวประมาณสัปดาห์ละครั้งหรืออย่างน้อยเดือนละสองครั้ง เช่น กระดูกซี่โครงวัว หรือกะโหลกสัตว์ เพื่อให้เสือได้สามารถใช้เวลาในการกินด้วยอีกทั้งยังช่วยลดการสะสมของหินปูนได้มาก

การให้โครงไก่สามารถให้ได้แต่ต้องระวังอย่าให้มากเกินไปในแต่ละมื้อเพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการทิ่มตำในกระเพาะอาหารได้เมื่อกินอิ่มและกระเพาะขยายเต็มที่ อาจจะจัดให้โครงไก่และเนื้อปนกันเสมอทุกมื้อ

การให้อาหารสำหรับเสือที่โตเต็มวัย ควรให้ 3-5 กิโลกรัมต่อวัน โดยอาจแบ่งให้เป็นสองมื้อหรือมื้อเดียวก็ได้ และให้เพียงสัปดาห์ละ 5-6 วันก็เพียงพอไม่จำเป็นต้องให้ทุกวัน เราควรพิจารณาเรื่องอายุ การเจริญเติบโต การอุ้มท้องและความอ้วนของเสือเป็นประจำ เพราะเสือที่เลี้ยงในคอกมักมีปัญหาเรื่องการอ้วนมากเกินไปอาจจะส่งผลทำให้ความสมบูรณ์พันธุ์ลดลงได้และยังก่อให้เกิดปัญหาลูกตายแรกคลอดได้ง่าย นอกจากนี้การให้อาหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้อาหารเฉพาะภายในคอกกักของเสือแต่ละตัวเท่านั้นเพื่อเป็นการฝึกให้เสือเข้ากรงซึ่งจะง่ายต่อการจัดการอื่นๆเป็นอย่างมาก

สำหรับลูกเสือควรจัดให้กินนมแม่โดยตรงและค่อยปรับเปลี่ยนให้เนื้อได้เมื่ออายุประมาณ 2 เดือนขึ้นไป หากตัดสินใจที่จะแยกลูกเสือมาเลี้ยงควรทำเมื่ออายุได้ประมาณ 3 วัน หากทำก่อนหน้านั้นลูกเสือจะอ่อนแอได้ง่ายเนื่องจากได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ไม่เพียงพอเพราะสัตว์ตระกูลแมวจะสามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันผ่านทางรกในขณะตั้งท้องได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่หากนานจนถึงสัปดาห์แล้วมักจะระแวงคนและไม่ค่อยเชื่องเท่าที่ควร การให้นมสำหรับลูกเสือจำเป็นต้องได้รับความรู้จากสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์โดยตรงเพราะมีความสำคัญทั้งสูตรของนม สารอาหารที่จำเป็นจะต้องได้รับ ความถี่บ่อยในการให้ในแต่ละช่วงอายุ การกระตุ้นการขับถ่าย ท่าทางในการป้อนนม ตลอดจนการประเมินอัตราการสมบูรณ์และการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงอายุที่เหมาะสม

3. การให้น้ำ

เสือเป็นสัตว์ที่ชอบถ่ายในน้ำ ดังนั้นในอ่างน้ำกินจึงมักเป็นจุดที่สะสมของพยาธิและสิ่งสกปรกนานาชนิด อ่างน้ำกินในคอกกักควรจะทำด้วยซีเมนต์เพื่อความทนทานและออกแบบให้มีขอบมนทั้งด้านบนและด้านในบ่อเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ไม่ควรออกแบบให้หักมุม 90 องศาซึ่งจะทำความสะอาดได้ยากและใช้เวลานาน และยังต้องสามารถเปิดระบายน้ำได้จากภายนอก ควรทำการเปลี่ยนน้ำกินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรืออาจจะให้เฉพาะเวลาก็ได้แล้วแต่การจัดการอื่นๆประกอบ

4. การจัดการทั่วไป

ประจำวัน

· ทำความสะอาดคอกทุกเช้าและเย็น โดยการฉีดล้างด้วยน้ำที่มีแรงดันน้ำมากพอสมควรเพื่อชะล้างอุจจาระและปัสสาวะของเสือให้ระบายลงตามท่อระบายที่มีอยู่ในคอก

· ให้อาหารเช้า และ/หรือ เย็น ตามอัตราส่วนที่ควรจะได้รับในแต่ละตัว

· ปล่อยให้เสือได้ออกกำลังกายที่ลานภายนอกในช่วงสายหรือบ่ายของทุกวัน

· ผู้ดูแลจำต้องบันทึกการกินอาหาร สุขภาพทั่วไป การจัดการทั่วไป เป็นประจำทุกวันและส่งมอบต่อผู้บังคับบัญชาทุกวัน (การลงบันทึกเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยฝึกให้ผู้ดูแลจำเป็นต้องเอาใจใส่ต่องานและป้องกันการละเลยต่อปัญหาที่มองเห็น เนื่องจากงานเลี้ยงสัตว์ที่ต้องทำเหมือนกันทุกวันกลายเป็นงานประจำที่น่าเบื่อ จึงมักมองข้ามหรือละเลยสิ่งผิดปกติได้ง่ายนั่นเอง)

ประจำสัปดาห์

  • ขัดถูทำความสะอาดพื้นและผนังคอกกักอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเพื่อลดคราบอุจจาระและปัสสาวะที่ติดอยู่เนื่องจากการฉีดล้างทำความสะอาดประจำวันออกไป จะสามารถช่วยลดกลิ่นเหม็นจากคอกสัตว์ลงได้อย่างมาก
  • จัดหญ้าขนประมาณ 1 กำมือต่อเสือ 1 ตัว เพื่อช่วยกระตุ้นให้เสือได้ขับขนออกจากกระเพาะ แต่ไม่ควรให้มากหรือบ่อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง เพราะเสือเมื่อขับสิ่งที่ไม่ย่อยออกมาด้วยการอาเจียนจะสูญเสียแร่ธาตุบางตัวไปทำให้เกิดการเสียสมดุลเป็นผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้ อีกทั้งน้ำย่อยจากกระเพาะที่เป็นกรดยังทำลายเนื้อเยื่อหลอดอาหารอีกด้วย
  • ทำความสะอาดบ่อน้ำในลานออกกำลังกายและพื้นที่ออกกำลังกายทั้งหมด
  • การจัดการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของจิตใจของสัตว์ (Enrichment) คือ การทำอะไรสักอย่างที่ไม่ให้เกิดความจำเจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์และต้องไม่เกิดอันตรายต่อสัตว์ แต่ต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดความสุขสนุกสนานกับสัตว์ เช่น การให้โครงวัวเพื่อให้สัตว์ได้กัดแทะ การซ่อนอาหารเพื่อให้สัตว์ได้ค้นหา การนำกลิ่นแปลกเข้าหาเพื่อให้กระตุ้นสัตว์ให้ตื่นตัว เป็นต้น
  • ตรวจเช็คความเรียบร้อยและหาจุดชำรุดของตาข่ายและอุปกรณ์อื่นๆในคอกสัตว์ทั้งหมดและทำรายงานหรือแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป


ประจำเดือน

  • จัดทำรายงานสรุปยอดจำนวนสัตว์ เกิด ตาย ย้ายเข้า ย้ายออก ในแต่ละเดือน
  • จัดทำรายงานสรุปค่าใช้จ่าย ปริมาณอาหารที่ให้สัตว์ การก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม จัดหาอุปกรณ์ต่างๆ
  • วางแผนสำหรับงานการจัดการทั่วไป การจัดการเฉพาะกิจ และการดูแลสุขภาพในเดือนถัดไป เช่น การซ่อมแซมกรง การนำสัตว์เข้าใหม่ การทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ เป็นต้น

การจัดการด้านสุขภาพ

  • การทำวัคซีน

เสือเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกันกับแมว ดังนั้นจึงสามารถเจ็บป่วยได้จากโรคติดต่อชนิดเดียวกันกับในแมว เช่น Rabies Feline panleukopenia เป็นต้น แต่ทั้งนั้นตามมาตรฐานการดูแลสัตว์ตระกูลเสือในสวนสัตว์ต่างๆของโลกนิยมนำเอาวัคซีนเชื้อตาย ที่ใช้ในแมวมาทำการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเสือซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยหากเป็นพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคบางที่อาจจะให้ทำปีละ 2 ครั้งหรือปีละ 1 ครั้งในพื้นที่ที่ไม่เคยมีประวัติการระบาดของโรคมาก่อน ลูกเสือควรเริ่มทำวัคซีนเมื่ออายุได้ประมาณ 3 เดือนและควรจะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเดือนที่ 4 อีกหนึ่งครั้งเพื่อให้ระดับของภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะป้องกันโรค หากแต่การทำวัคซีนเป็นเพียงการป้องกันโรคติดต่อที่รุนแรงที่มักเกิดกับสัตว์ในตระกูลนี้เท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันโรคอื่นๆได้เลย ดังนั้นการดูแลและตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำอย่างยิ่ง

  • การถ่ายพยาธิ

เสือเป็นสัตว์กินเนื้อสามารถติดพยาธิได้ง่ายจากเนื้อที่ให้เพื่อเป็นอาหาร ทั้งพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบนและพยาธิตัวตืด การตรวจหาไข่พยาธิเป็นประจำทุก 2-3 เดือนจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการติดพยาธิมักจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับหากมีการจัดการในการเลี้ยงที่ไม่ดีพอ อาทิเช่น การไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำกินเป็นประจำเช้า-เย็น สามารถส่งผลให้เสือสามารถติดพยาธิที่เพิ่งขับถ่ายออกไปได้ง่าย เนื่องจากเสือชอบถ่ายในน้ำและกินน้ำที่มีอุจจาระปะปนนั่นเอง ทำให้เสือในกรงเลี้ยงมักพบปัญหาการติดพยาธิมากกว่าเสือในธรรมชาติหลายเท่า ดังนั้นการตรวจหาไข่พยาธิจากอุจจาระและการถ่ายพยาธิเป็นประจำทุก 3 เดือนจึงเป็นสิ่งจำเป็น การตรวจหาไข่พยาธิควรตรวจก่อนและหลังการให้ยาถ่ายพยาธิเสมอเพื่อเป็นการตรวจสอบว่าจำนวนพยาธิลดลงและยาที่ให้นั่นถูกต้องเหมาะสมกับชนิดของพยาธินั่นเอง

  • การตรวจสุขภาพประจำปี

ตามปกติแล้วสัตว์หรือมนุษย์ทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพทุก 6 หรือ 12 เดือนเพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจจะสะสมจนมีผลต่อสุขภาพในอนาคต แต่การตรวจสุขภาพเสือทุก 6 เดือนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่ไม่คุ้มต่อการเสี่ยงนัก ดังนั้นการบันทึกสุขภาพประจำวันที่กระทำโดยผู้เลี้ยงจะช่วยประกอบการพิจารณาได้เป็นอย่างดีว่าสัตว์ตัวนี้น่าจะมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ หากมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติ ก็วางแผนเพื่อหาวิธีที่จะตรวจเช็คสุขภาพจากอุจจาระ เอ็กซเรย์ เลือด เพื่อให้ได้ข้อมูลทางโลหิตวิทยามาประกอบในการวางแผนดูแลสุขภาพต่อไป แต่หากมีงบประมาณมากเพียงพอก็สามารถทำการวางยาสลบเพื่อตรวจสุขภาพและร่างกายได้ทุกตัว




ข้อควรระวังและอื่นๆ

  • การทำงานกับสัตว์ดุร้าย จำเป็นต้องมีคู่หูหรือบัดดี้เสมอ ห้ามปฏิบัติงานตามลำพังโดยเด็ดขาด เมื่อจะเข้าปฺฎิบัติงานในกรงสัตว์จำเป็นต้องบอกกล่าวและให้เพื่อนร่วมทำงานด้วยทุกครั้ง
  • ก่อนจะลงมือปฏิบัติงานจำเป็นต้องบอกเพื่อนให้ทราบว่ากำลังจะทำสิ่งใดเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น หากจะเปิดประตูกรงต้องบอกเพื่อนให้ทราบเพื่อจะได้ช่วยกันดูประตูบานอื่นและตำแหน่งที่สัตว์อยู่เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเอง
  • หากต้องการจะบังคับเสือ สามารถทำได้โดยการใช้น้ำฉีดไล่หรือใช้ไม้ด้ามยาวไล่ เสือนั่นมีพฤติกรรมที่จะวิ่งหลบให้ไกลที่สุด ดังนั้นการออกแบบกรงจึงนิยมให้ประตูอยู่ติดฝาผนังฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อสะดวกในการไล่ต้อนเสือนั่นเอง

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลสัตว์

คือ จำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่และเรียนรู้พฤติกรรม นิสัย ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์แต่ละชนิดแต่ละตัวให้ทราบเสียก่อนว่า ปกติของแต่ละตัวคืออะไร เพราะจะทำให้เราทราบว่าสิ่งใดคือสิ่งผิดปกติ และสามารถมองเห็นสิ่งผิดปกตินั่นๆได้อย่างทันท่วงทีที่สิ่งนั่นเกิดขึ้นและป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที

.....................................................................................



Read more!

ไปฟังเรื่องช้างที่ Utrech

"ไปฟังเรื่องช้างที่ Utech"

โดย : หมอจับฉ่าย


เริ่มงานตอนเช้าเปิดประเด็นเรื่อง ช้างอัฟริกา ซึ่งปัญหาที่พบในขณะนี้คือการมีประชากรมากจนเกินไป! โดยมีมากถึง 800,000 ตัว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นชื่อใน CITES appendix 1 ก็ถูกย้ายมาอยู่ appendix 2 ในบางประเทศซึ่งการที่มีประชากรหนาแน่นเกินไปนี้มีผลต่อระบบนิเวศน์ รวมทั้งก่อปัญหาให้กับคนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ในปี 2003 จึงมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางในการควบคุมปริมาณประชากรช้างอัฟริกา

เริ่มพูดกันตั้งแต่ข้อจำกัดต่างๆที่พบ วิธีการที่เป็นไปได้ ทั้งการคุมกำเนิดแบบถาวร และการคุมกำเนิดชั่วคราว ข้อดี ข้อด้อยของแต่ละวิธี การเลือกคุมกำเนิดในช้างเพศผู้ หรือเพศเมีย รวมทั้งผลการวิจัยที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่

การคุมกำเนิดแบบถาวร มีข้อจำกัด และข้อควรคำนึงหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น จำนวนช้างที่จะคุมกำเนิด วิธีการคุมกำเนิด เพราะหากไม่วางแผนดีๆแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดขึ้นมา อาจทำให้ช้างอัฟริกาต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้เลยก็ได้ นอกจากนี้การคุมกำเนิดโดยวิธีการผ่าตัดยังเป็นไปได้ยากเพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีลูกอัณฑะอยู่ในช่องท้อง ไม่รวมไปถึงขนาดที่ใหญ่ และผิวหนังที่หนาและยากต่อการกลับคืนสู่สภาพเดิม การผ่าตัดเปิดช่องท้องจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างยิ่ง ไม่แนะนำให้ทำ

เมื่อไม่สามารถคุมกำเนิดโดยการผ่าตัดได้ จึงมีการคิดหาวิธีโดยนำวิธีที่ใช้ในม้ามาทดลองใช้ ซึ่งก็คือการให้สารที่ไปออกฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นการหลั่ง gonadotropin (Anti gonadotropin releasing hormone, anti GnRH )วิธีการนี้มีการศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการลดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในช้างที่ตกมันการคุมกำเนิดแบบถาวรในช้างเพศผู้อาจจะเหมาะสมสำหรับช้างที่เลี้ยงสวนสัตว์ แต่ในธรรมชาติเมื่อช้างอยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ในช้างเพศเมีย กลับเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่า วิธีการที่ใช้ก็ต่างไปจากวิธีที่เราๆท่านๆใช้ ซึ่งก็เป็นการดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะถ้าคิดให้ดีๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการมีสารในกลุ่มที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมมากเกินไป และสาเหตุหลักที่พบก็คือการคุมกำเนิดของคน หากช้างคุมกำเนิดโดยการให้ฮอร์โมน ไม่อยากจะนึกเลยว่าเราจะทำให้แม่น้ำลำคลองปนเปื้อนสารเคมีไปอีกเท่าไหร่


ในช้างอัฟริกาเขาจึงศึกษาความเป็นไปได้ในการคุมกำเนิดโดยการใช้ porcine zona pellucida (pZP) vaccine หลังจากได้รับ vaccine เมื่อมีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น sperm จะไม่สามารถผ่านชั้น zona pellucida เข้าไปผสมกับ egg ได้

· ข้อดี ของการใช้ pZP vaccine นี้คือไม่มีผลต่อการตั้งท้อง พบว่าเมื่อฉีดให้ช้างที่กำลังท้องอยู่ ก็ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ เนื่องจากไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งท้องในช้าง แต่

· ข้อเสีย ที่พบก็คือช้างตัวเมียจะอยู่ในระยะที่พร้อมผสมพันธุ์นานกว่าปกติ ทำให้มีตัวผู้เข้ามาวอแวอยู่เรื่อยๆ หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการคุมกำเนิดช้างมาพูดผ่านไป 3-4 คน

ประเด็นต่อไปที่ถูกยกขึ้นมานำเสนอก็คือ ความคุ้มค่า ความเหมาะสมของการคุมกำเนิดในช้าง ประเด็นเรื่องการคัดทิ้ง และความคุ้มในการคุมกำเนิดถูกหยิบขึ้นมาโดยนำไปเปรียบเทียบถึงประชากรผู้หิวโหย และประโยชน์ที่ได้จากซากช้าง 1 ตัว เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อคำนวณดูแล้วการคุมกำเนิดครั้งต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยนับตั้งแต่ค่ายา ค่าหมอ รวมถึงค่าเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการติดตามช้าง และเมื่อมองถึงการฆ่าช้าง 1 ตัวซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แถมยังได้ประโยชน์จากเนื้อช้าง งาช้าง และอวัยวะบางส่วนของช้างที่มีคนสะสม โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน สามารถทำรายได้เข้าประเทศจากอวัยวะและชิ้นส่วนของช้าง

นอกจากนี้ยังมีการนำ mathematical model เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ผลที่ได้รับแสดงให้เห็นแนวโน้มว่าการพยายามที่จะคุมกำเนิดช้างโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆนั้นเห็นผลค่อนข้างช้า หากต้องการวิธีที่ได้ผลชัดเจนนั้นการคัดทิ้งน่าจะเป็นวิธีที่ประสิทธิภาพมากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีเห็นผลที่มีน้ำหนักมากมาย แต่การตัดสินใจในการฆ่าช้าง คงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยง่าย ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ก็ยังคงเป็นประเด็นที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญยังคงต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ไม่ว่าจะถูกข้างใดทั้งสองฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์รวมกันคือต้องการลดจำนวนประชากรช้างเพื่อให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรในพื้นที่ป่าของทวีปอัฟริกา



เมื่อหมดเรื่องช้างอัฟริกา ก็ได้เวลาพักกลางวันก่อนที่จะนำไปสู่เรื่องของช้างเอเชียต่อไป ปัญหาของช้างเอเชียตรงกันข้ามกับปัญหาของช้างอัฟริกาโดยสิ้นเชิง ในขณะที่อัฟริกามีประชากรช้างมากเกินไปทางฝั่งเอเชียกลับมีปริมาณช้างลดลงอย่างน่าใจหาย โดยประมาณว่ามีประมาณ 50,000 ตัว งานวิจัยส่วนใหญ่ในภาคพื้นเอเชียจึงมุ่งประเด็นไปที่การผสมเทียม การจับสัด การศึกษาพฤติกรรมทางเพศของช้าง รวมทั้งการศึกษาทางพันธุศาสตร์เพื่อลดปัญหาช้างเลือดชิด (inbreed) น่าภูมิใจที่ประเทศเรานับเป็นแนวหน้าสำหรับเรื่องเหล่านี้

เริ่มด้วยเรื่องของช้างตัวผู้ก่อน งานวิจัยก็มุ่งเน้นไปเรื่องการเก็บน้ำเชื้อ การทำน้ำเชื้อแช่แข็ง ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อ การรีดน้ำเชื้อทำโดยใช้มือสอดเข้าไปทางทวารหนักและใช้มือกระตุ้น ampulae ซึ่งเป็นงานที่ใช้แรงงานอย่างมาก บางครั้งอาจต้องเปลี่ยนคนมากกว่า 1 คนกว่าจะได้น้ำเชื้อ ปัญหาของการรีดน้ำเชื้อโดยวิธีนี้คืออาจมีปัสสาวะปนเปื้อนเนื่องจากตำแหน่งของampulae อยู่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะ การที่มีปัสสาวะปนเปื้อนก็มีผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อได้ พูดถึงคุณภาพของน้ำเชื้อ ผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่าฤดูกาลนั้นมีผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อ โดยพบว่าน้ำเชื้อในฤดูหนาวจะมีคุณภาพดีกว่า


เมื่อจบเรื่องช้างตัวผู้ก็มาต่อด้วยเรื่องช้างตัวเมีย พบว่าใน 1 ปีช้างตัวเมียจะมีโอกาสตั้งท้องแต่ปีละ 3 ครั้ง และช่วงเวลาตกไข่แต่ละครั้งก็จะสั้นๆแต่ 2-3 วัน แถมยังไม่ค่อยมีอาการปรากฏชัดเจน ช้างตัวผู้จะรู้ได้ก็พิสูจน์จาก กลิ่นของ pheromone ที่ปะปนออกมากับปัสสาวะ ในปางช้างบางที่มีการตรวจสัดในช้างตัวเมียโดย นำช้างตัวเมีย 6-8 ตัวมายืนเรียง แล้วให้ช้างตัวผู้ที่มีอยู่เป็นตัวพิสูจน์กลิ่นที่ออกมากับปัสสาวะ ช้างตัวเมียตัวใดที่ได้รับความสนใจจากตัวผู้เป็นพิเศษ แสดงว่าน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะต่อการผสมพันธุ์ ช้างตัวเมียตัวนั้นก็จะถูกปล่อยไปอยู่รวมกับช้างตัวผู้ ในป่าประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วก็มีถึงการตรวจการตั้งท้อง ทำได้หลายวิธีการเหมือนกันตั้งแต่การตรวจปริมาณ progesterone ในซีรั่ม ตรวจหา prolactin ในซีรั่ม รวมถึงการตรวจด้วย คลื่นอัลตราซาวด์ ซึ่งจะเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุการ ตั้งท้อง 8-10 สัปดาห์ การตรวจการตั้งท้องมีประโยชน์สำหรับการเตรียมพร้อม หากแม่ช้างมีปัญหาในการคลอดลูก เพราะการคลอดยากเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ และมีรายงานอยู่ทั่วไปทั้งในไทย ยุโรป และอเมริกา การแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงทั้งสุขภาพ การการรอดชีวิตของทั้งแม่ช้าง และลูกช้าง

นอกจากปัญหาการคลอดยาก แล้วปัญหาที่พบตามมาคือ รกค้าง แม่ช้างไม่สามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอ แม่ช้างไม่ยอมเลี้ยงลูก ปัญหาต่างๆเหล่านี้สามารถบรรเทาความรุนแรงลงได้โดย ทำประวัติการผสมที่แน่นอน การตรวจอายุการตั้งท้อง และมีการเตรียมตัวให้พร้อมในช่วงระหว่างและหลังคลอด หมดเรื่องเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ ก็มีขอแถมนิดหนึ่งเกี่ยวกับโรคที่พบในช้าง โรคสำคัญ2 โรคที่นำมากล่าวถึงคือ Endotheliotropic Elephant Herpes Virus (EEH virus) และ วัณโรค EEH virus ในช้างเอเชียมักเป็นแบบ peracute ช้างบางตัวตายโดยไม่แสดงอาการทางคลินิกใดๆ ผลผ่าซากจะพบ ลิ้นบวม และเป็นสีม่วง นอกจากนี้ยังพบส่วนหัวและคอบวม รวมทั้งมีเลือดออกที่อวัยวะต่างๆ การตรวจระวังช้างที่เป็นพาหะยังไม่มีวิธีใดที่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีการศึกษาวิจัยทั้งวิธี PCR และ การหา antibody โดยวิธี ELISA สำหรับการป้องกันก็ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน สิ่งเดียวที่สามารถทำได้ในตอนนี้ก็คือ การจัดการที่ดี และมีการตรวจสอบก่อนที่จะมีการย้ายช้าง หรือมีการนำน้ำเชื้อช้างมาผสมเทียม

วัณโรค สาเหตุหลักของวัณโรคในช้างคือติดมาจากคน โรคนี้เป็นโรคที่เรื้อรัง หากตรวจพบในระยะแรกๆก็อาจพิจารณารักษา แต่เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เรื้อรัง ใช้เวลาในการรักษานาน ค่ายาแพง รวมทั้งช้างที่หายจากโรคยังสามารถเป็นพาหะนำเชื้อต่อไปได้ ดังนั้นการพิจารณารักษาจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสัตวแพทย์เป็นกรณีไป สำหรับเนื้อหาของ symposium ก็คงจะหมดลงประมาณนี้ค่ะ แต่ได้มีโอกาสคุยกับคุณหมอฉัตรโชติ และคุณหมอนิกร ได้ความคิดเพิ่มเติมมาอีกหน่อยว่างานวิจัยเกี่ยวกับช้างยังมีอีกมากมายรอให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้า ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็ต่างผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ออกมา ต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือต้องการอนุรักษ์สัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนิดนี้ไว้ ให้อยู่คู่กับประเทศไทยต่อไปเรื่อย และมีผลพลอยได้ตามมานิดคือชื่อเสียงของประเทศเรา ช่างน่าภาคภูมิใจเสียจริงๆ

ไปแล้วค่ะ หากมีโอกาส ไปเปิดหูเปิดตาที่ไหน จะมาเล่าให้ฟังอีกค่ะ

ขอขอบคุณคุณหมอฉัตรโชติ และหมอนิกรสำหรับข้อมูล และคำแนะนำค่ะ


Read more!