Wednesday, February 20, 2008

Pain manangement in rabbit


Pain Mangement in Rabbit
น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล


Blog discussion คราวนี้จะขอมาแบบอ่านง่ายๆ สบายๆ แล้วกันนะ วันนี้เราจะมาพูดถึง การควบคุมความเจ็บปวดในกระต่ายกันหน่อยดีกว่าครับ แต่ก่อนอื่นผมขอเท้าความนิดหน่อยก่อนละกันครับ

ในกระต่ายมีความเชื่อที่ว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย แค่ลูกมะพร้าวตกลงมาก็ตกใจแล้ว..จริงหรือมั่วนิ่ม ลองอ่านบทความนี้ดูแล้วกันครับ

Pain หรือว่าความเจ็บปวด เราสามารถแบ่งความเจ็บปวดได้หลายสาเหตอาจจะเกิดจาก
1) ความเจ็บปวดจากการผ่าตัด
2) ความเจ็บปวดจากโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น โรคที่เกี่ยวกับฟัน ฝี หรือ มะเร็ง ฯ
3) จากอุบัติเหต และหรือการจับบังคับที่ผิดวิธี และจากสาเหตอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
หลังจากกระต่ายได้รับความเจ็บปวด นั้น กระต่ายจะมีภาวะเครียด ซึ่งหลังจากภาวะเครียด บังเกิด ร่างกายกระต่ายก็จะมีการหลั่ง ฮอร์โมนออกมาตัวนึง ซึ่งมีชื่อว่า catecholamines ซึ่งฮอร์โมนนี้จะมีผลกับร่างกายหลายอย่าง โดยผมจะขอพูดคร่าวๆ แล้วกันนะครับ โดยจะไปกระตุ้นระบบประสาท ในส่วน sympathetic ทำให้ ยับยั้งการทำงาน ของระบบทางเดินอาหาร และจะโน้มนำทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหารตามมาได้ และ มีการ ไปลดการกรองและสร้างปัสสาวะ ทำให้อาจจะมีปัญหา ทางระบบขับถ่ายปัสสาวะ และ/หรือ โรคไต ตามมาและยังสามารถ ไป กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว และถ้าหลั่งออกมามากๆอาจจะทำให้เกิดหัวใจวายได้ด้วยนะครับ

ลักษณะอาการเจ็บปวดในกระต่ายที่เราสามารถสังเกตได้คร่าวๆก็คือ การนั่งตัวงอๆหลังโก่งๆ หรือ แยกตัวออกจากฝูงแล้วไปนั่งอยู่มุมกรง มีการกัดฟัน ไม่ร่าเริง บางทีการสังเกตที่ดวงตาซึ่งอาจจะดูหมองๆ และอาจจะตาแห้งๆ หรือบางทีตาอาจจะปิดลงมาครึ่งตา และไม่สนใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ไม่ยอมทานอาหาร และบางทีอาจจะมี พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นดุ ขึ้น และไม่ยอมให้อุ้ม และในบางกรณี ถ้าปวดมากกระต่ายบางตัวจะวิ่งไปรอบๆและกระโดด ไปมาในกรง ส่วนการเปลี่ยนแปลง ของอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการหาย ไม่ได้บ่งบอกอะไรมากมาย
การเลือกใช้ยาลดปวดในกระต่ายสามารถแบ่งได้เป็น สองกลุ่มหลักๆ คือ
1) NSAID (non-steroidal anagesicss )
2) Opioids
ซึ่งการพิจาณาขึ้นอยู่กับสภาพสัตว์ในขณะนั้นและความต้องการว่าจะให้ออกฤทธิ์ ที่ตำแหน่งไหนเป็นพิเศษ แต่สัตว์แพทย์ส่วนใหญ่ นิยมใช้ ยาลดปวดในกลุ่ม NSAID เป็นหลัก โดยยาในกลุ่มนี้ที่พอจะหาได้ในบ้านเราก็มีหลายตัว และยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ ที่ บริเวณผิวหนัง และกล้ามเนื้อ ได้ดีกว่าการระงับปวดที่ อวัยวะภายใน และข้อควรระวังในการเลือกใช้ยาในกลุ่ม Opioids เช่น Morphine ผลข้างเคียงคือสามารถทำให้เกิด Gastrointstinal hypomotility ได้

หลักการใช้ยาลดปวดให้ได้ผลคือ ถ้า แผนการรักษา รู้ว่าต้องมี การกระทำให้เจ็บปวด การให้ยาลดปวดก่อน ก่อนที่จะทำการรักษาและเราสามารถให้ยาลดปวดทั้งชนิด NSAID และ Opioids ร่วมกันได้ ในกรณีที่คาดว่าสัตว์ได้รับความเจ็บปวดที่รุนแรง ซึ่งยาจะดังกล่าวจะออกฤทธิ์เสริมกัน และบางทีเราสามารถใช้ยาชาเฉพาะที่ร่วมด้วยได้ โดยส่วนตัวจากประสบการณ์ การให้ยาลดปวด ในการรักษา เช่นการถอนฟัน ทำหมัน ผ่าคลอด และอื่นๆ โดยให้ก่อนผ่าตัด สัตว์จะกลับมาทานอาหารได้เร็วกว่า ไม่ได้ให้ หรือให้หลังผ่าตัด และยาลดปวดควรจะให้จนกว่าสัตว์จะกินอาหารได้เป็นปกติ

Dose ของยาลดปวดที่นิยมใช้
Carprofen 2-4 mg/kg PO, S/C sid-bid
Meloxicam 0.2-0.3 mg/kg PO, S/C sid
Ketoprofen 1-3 mg/kg S/C ,IM sid –bid
Tolfenamic acid 4 mg/kg S/C sid
Flunixin 1.1 mg/kg S/C sid

คิดว่าผู้อ่านทั่วๆไปสามารถอ่านได้และเข้าใจ สัตว์แพทย์ก็อ่านได้แต่อาจจะไม่ลงลึกมากนัก ถ้าใครมีข้อสงสัยหรืออยากให้เพิ่มเติมเนื้อหาตรงส่วนใด หรือมีประสบการณ์ที่จะแลกเปลี่ยนกัน ก็ยินดีอย่างยิ่งนะครับ

ปล. รูปที่แสดงเป็นเคสกระต่ายขาหัก ทำการรักษาโดยใช้วิธี External fixator โดยให้ ยาลดปวดคือ meloxicam 0.3 mg/kg sid โดยให้ก่อนผ่าตัด 1 วัน และ ให้ก่อนผ่าตัด และ ให้ต่อเนื่อง เป็นเวลา 7 วัน กระต่ายรู้สึกตัวดีหลังผ่าตัดและทานอาหารได้หลังจากฟื้นสลบ


Read more!

Thursday, January 31, 2008

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเม่นแคระ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเม่นแคระ
น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล
 
สวัสดีครับวันนี้เราจะมาพูดถึงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษกันอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในบ้านเราอีกชนิดก็คือ เม่นแคระ หรือ Hedgehogs นั่นเอง  เสน่ห์ของเจ้าตัวเม่นแคระนี่อยู่ที่มีหนามแหลมและขี้เล่น ซึ่งในการ์ตูน เรื่อง Peter Rabbit ก็จะมีการ นำตัวเม่นแคระนี่เองไปเป็นตัวละควร ชื่อ Mrs. Tiggy-winkle  เช่นเดียวกับในเกมส์ หลายๆเกมส์ที่มีตัวละครเอกเป็นเม่นแคระ เช่นเกมส์  Sonic นั่นเอง 

 เจ้าตัวเม่นแคระนี้มีแหล่งที่มามา หลักๆ อยู่ สองที่คือ ยุโรป(Brown European hedgehog) และ แอฟริกา (Africa pygmy hedgehog) ในที่นี้เราจะพูดถึงเม่นแคระที่มาจาก แอฟริกานั้นเนื่องจากว่าเป็นที่นิยมเลี้ยงมากกว่าในประเทศไทย  โดยลักษณะหน้าตาของเค้านั้นจะคล้ายกับหนูหรือตัวแรคคูน และชอบทำจมูกกระดุกกระดิก ไปมา ลำตัวจะมีหนามแหลม ซึ่งจะมีสีแตกต่างกันไป  ทั้งผิวหนังและสีขน เช่นตัวสัดำ หรือสีน้ำตาล จนไปถึงขาว เช่นเดียวกับหนามบนลำตัว ซึ่งก็จะมีตั้งแต่สี ขาว สีน้ำตาล และดำ หรือ ผสมกัน ตามความหนาแน่นของหนาม และบางทีอาจจะเม่นที่มีลักษณะ ตาสีแดงและขนสีขาวได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะนี้จะเป็น เม่นเผือก (Albino)  

โดยธรรมชาติ เม่นแคระเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน ( nocturnal)  แต่เมื่อเรานำมาเลี้ยง เม่นแคระสามารถปรับตัวได้ดีโดยสามารถใช้ชีวิตในเวลากลางวันได้เป็นปกติและจะ แอคทีฟ มากกว่าปกติในเวลากลางคืน  เม่นแคระเป็นสัตว์  ที่สามารถนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้ดีเนื่องจากปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี และผู้เลี้ยงสามารถ จับอุ้มเล่น หรือมีกิจกรรมต่างๆร่วมกันได้ด้วย    โดยถ้าเราเลี้ยงตั้งแต่ๆเด็ก เม่นแคระจะติดเราและไม่แสดงอาการหวาดระแวงต่อผู้คนด้วย  

ที่อยู่อาศัยและอาหารการกิน ก็ไม่ยากจนเกินไปสำหรับผู้เริ่มต้นหัดเลี้ยงใหม่ๆ โดยที่อยู่อาศัย อาจจะทำเป็นกรง แต่ไม่ควรจะเป็นกรงลวด เพราะว่าอาจจะบาดขาหรือถ้าเป็นร่องก็อาจจะทำให้ตกไปในร่องได้เช่นกัน ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงในเมืองไทย นิยมใช้กล่องพลาสติกขุ่น หรือทึบแสง ขนาดใหญ่ หรือ ตู้ปลา ที่เปิดข้างบนโล่ง  โดยถ้าเป็นกล่องอาจจะมีการเจาะรูรอบด้านเพื่อระบายอากาศ โดยที่นิยมให้เป็นกล่องทึบแสงเนื่องจากว่าเม่นเป็นัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน แต่ถ้าต้องการใช้เป็นกล่องใสก็ได้แต่ควรจะมี ที่หลบซ่อนตัวให้เม่นได้หลบบ้าง (Hiding box) โดยส่วนใหญ่แล้ว ควรจะจัดพื้นที่ประมาณ 4 ตร.ฟุต ต่อตัว แต่ถ้าเลี้ยงหลายตัวอาจจะเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม  และกล่องที่เลี้ยงควรจะมีความสูง เพราะว่าเม่นแคระชอบปืนป่ายอาจจะทำให้หลุดได้ง่าย และนอกจากปืนป่ายแล้วยังชอบขุดอีกด้วย ดังนั้นอาจจะต้องใส่สิ่งปูรองนอนเช่น ให้สูงอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตรด้วย เพื่อจะได้ให้เค้าได้รู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติ  แต่ในความเป็นจริงผู้เลี้ยงมักจะไม่ใส่ให้สูงขนาดนั้นเนื่องจากสิ้นเปลืองและทำความสะอาดยาก  และมักจะมองไม่เห็นตัวเม่น 

สิ่งปูรองที่มักจะนิยมใช้คือ ขี้เลื่อย ซึ่งจะสามารซับกลิ่นได้ในระดับหนึ่งแต่มักจะต้องเปลี่ยนหรือทำความสะอาดบ่อยๆไม่เช่นนั้นแล้วจะมีสิ่งสกปรกหมักหมมทำให้เม่นแคระมีปัญหาของโรคผิวหนังหรือปัญหาทางระบบทางเดินหายใจตามมา 

ในกรงอาจจะต้องหาของเล่นต่างๆใส่ไว้ให้ด้วย เพื่อให้เม่นได้เล่นจะได้ช่วยลดความเครียด ได้ ของเล่นเช่น ขอนไม้  ลูกบอลที่สามารถกลิ้งได้ หรือว่าอาจจะมี ท่อ ที่สามารถฝังลงไปในสิ่งรองนอนได้  ทำให้เป็นเหมือนโพรงในธรรมชาติ  และอาจจะหาถาดน้ำใส่ให้เค้าก็ได้เพราะเม่นเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ เหมือนกัน โดยเม่นบางตัวชอบที่จะให้เจ้าของอาบน้ำให้บ่อยๆ และบางตัวมีความสามารถในการว่ายน้ำด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาจจะทำให้สิ่งปูรองเปียกและทำให้หมักหมมได้อาจจะต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ  ดังนั้นจึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้เลี้ยงแต่ละคนว่ามีเวลาดูแลขนาดไหน

ส่วนเรื่องอาหาร เม่นแคระจัดเป็นสัตว์ในตระกูล  Insectivore ซึ่งเป็นสัตว์ในกลุ่มที่กินแมลงเป็นอาหาร เม่นแคระเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะอาหารแบบ กระเพาะเดี่ยว และทานทั้งเนื้อและพืช  (Monogastric omnivores )โดยอาหารธรรมชาติของเม่นแคระคือสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังเช่นแมลงหรือหนอนต่างๆ และ  กบ กิ้งก่า หรือหนู และไข่ รวมถึง ผลไม้ และเห็ด   แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาหารที่เรานิยมให้เมื่อเรานำเค้ามาเลี้ยงก็คือ อาหารแมว โดยสามารถให้ได้ทุกวัน  และอาจจะเสริมผักให้ได้โดยสามารถโรยวิตามิน และแคลเซี่ยมเสริม ได้ และอาจจะเสริมแมลง หรือหนอนนกให้ได้  โดยให้ สี่ถึงห้าตัวต่อ ครั้ง สามถึงสี่ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ควรให้เยอะจนเกินไปเนื่องจากว่าจะทำให้อ้วนจนเกินไปได้และจะทำให้มีโรคอ้วนในเม่นแคระตามมา

หลักการในการให้อาหาร ควรจะให้ในช่วงเย็นหรือกลางคืน มากกว่าช่วงเช้า  แต่ก็สามารถฝึกและปรับให้เม่นแคระทานอาหารในช่วงกลางวันได้เช่นกัน และอาจจะ เอาอาหารบางส่วนซ่อนไว้ใน สิ่งปูรอง เพื่อให้เม่นแคระ ได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติ และออกกำลังกายไปด้วย ส่วนน้ำที่ให้เม่นทาน ควรจะเป็นน้ำสะอาดและฝึกให้เม่นสามารถทานจากขวดน้ำเช่นเดียวกับหนูหรือกระต่ายได้

โรคที่พบได้บ่อยในเม่นแคระ คือ

 โรคผิวหนัง  พบบ่อยที่สุดคือเกิดจากตัวไร  (acariasis)  โดยจะมีอาการขนหลุดง่าย พบรังแคตามผิวหนังและลำตัว  และตัวไรอีกชนิดที่มักพบได้คือไรในหูหรือ ear mites ซึ่งจะพบรังแค และขี้หู และทำให้เกิดหูอักเสบได้ (otitis) และโรคผิวหนังอื่นที่พบได้เช่นกันคือ  เชื้อรา และ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะอาการที่พบก็คือ หนามมักจะหลุดร่วงง่าย และมีรังแค และสะเก็ด  และเม่นอาจจะแสดงอาการคันได้ โดยการวินิจฉัยอาจจะต้องใช้ วิธีการทางห้องปฎิบัติการ    

โรคทางระบบทางเดินหายใจ  พบได้เช่นเดียวกับสัตว์ pocket pet อื่นๆ โดยมักจะมีอาการ หายใจกระแทก หอบ ซึมและเบื่ออาหาร

โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ ที่พบได้บ่อยๆคือ นิ่ว และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยจากการที่เม่นแคระทานแต่อาหารแมว อย่างเดียว  และทานน้ำน้อย

โรคทางระบบทางเดินอาหาร  มักจะพบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  Salmonella   และแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ซึ่ง บางทีเม่นแคระอาจจะมีอาการท้องเสีย ซึมเบื่ออาหาร และมีอาการขาดน้ำ ได้  อาการท้องเสียมักจะพบในลูกเม่นแคระที่กำลังหย่านม หรือ เปลี่ยนอาหาร 

โรคตับ มักจะพบได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการทานอาหารที่มีสารอาหารไม่สมดุลยเป็นระยะเวลานานๆ หรือทานอาหารที่มีสารตกค้าง และมักพบได้บ่อยในสัตว์ที่อ้วนกว่าปกติ

โรคขาดสารอาหาร เนื่องจากผู้เลี่ยงบางคนมักจะให้หนอนเป็นอาหารหลัก  เช่น หนอนนก แต่ว่าหนอนนกที่ให้นั้นมักจะเป็นหนอนนกที่เลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมดังนั้น สารอาหารตามธรรมชาติที่หนอนควรได้รับก็จะไม่ได้รับ และวิตามิน อื่นๆอีกรวมถึงแคลเซี่ยม ดังนั้นจึงควรทำการ เลี้ยงหนอนด้วยอาหารเลี้ยงหนอนก่อน ( gut load) หรือคลุกแคลเซี่ยมก่อน จึงค่อยนำไปให้ เม่นแคระกิน 

โดยสรุปแล้วเม่นแคระเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยากเกินไปถ้าเราเข้าใจความต้องการทางธรรมชาติและความต้องการอาหารและเม่นแคระนี้จะมีความทนทานต่อโรคเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นค่อนข้างสูง  และมีการปรับตัวให้เข้าวิถีชีวิตของผู้เลี้ยงได้ และยังเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์และขี้เล่นไม่เหมือนใคร  หากท่านผู้อ่านได้ลองเลี้ยงดูรับรองจะหลงรัก เจ้าเม่นแคระ นี้อย่างแน่นอน  
 
Read more!

Tuesday, January 8, 2008

ทำยังไงดีเมื่อหมอต้องเฝ้าช้างคลอด

ทำยังไงดีเมื่อหมอต้องเฝ้าช้างคลอด

      นสพ. รณชิต รุ่งศรี *

      ผศ.นสพ. ฉัตรโชติ ทิตาราม **

      * ปางช้างแม่สา จ.เชียงใหม่

      ** สาขาวิชาคลินิกช้างและสัตว์ป่า

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      ผู้เขียนมีโอกาสได้เฝ้าช้างคลอดหลายครั้งครับ มันตื่นเต้นเหมือนกันเมื่อช้างจะคลอด สิ่งที่น่าสงสัยและน่าเศร้าก็คือมีเรื่องเล่าว่าช้างเมื่อคลอดลูกจะเจ็บและทำร้ายลูกช้างที่พึ่งเกิดเพราะคิดว่าเป็นตัวที่ทำให้แม่ ช้างเจ็บ ผลก็คือลูกช้างที่ตัวเองอุตส่าห์ตั้งท้องมาตั้ง 22 เดือน ต้องจบชีวิตลงเพราะน้ำมือ (เท้า) ตัวเอง ตัวเราเองจะสามารถเข้าไปแยกแม่ช้างออกจากลูกช้างได้หรือในเมื่อตัวเราเองก็กลัวแม่ช้างเหยียบเหมือนกัน หรือมันเป็นแค่เพียงเรื่องเล่า เราไม่ควรเข้าไปยุ่งและแทรกแซงในช่วงเวลาที่ช้างคลอด ควรปล่อยให้มีการคลอดเองตามธรรมชาติ เมื่อเราต้องมีโอกาสไปเป็นสัตวแพทย์ประจำปางช้าง โรงพยาบาลช้าง สวนสัตว์ หรือถูกขอร้องให้ไปดูแลเมื่อช้างคลอด เราควรทำอย่างไรที่จะพยายามรักษาชีวิตลูกช้างไว้ให้ได้

      ที่จะกล่าวต่อไป จะขอแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการเตรียมตัวก่อนคลอด และ การเตรียมตัวระหว่างคลอด

การเตรียมตัวก่อนคลอด

1. ประวัติการผสมของช้าง

อันนี้ต้องตรวจสอบให้ละเอียดนะครับ ถ้าได้ทราบวันที่ผสม ผสมกี่ครั้ง นานเท่าไร กับพ่อช้างเชือกไหน จะดีมาก ทำให้สามารถตรวจสอบการทำประวัติการผสมพันธุ์ได้ อย่าลืมว่าบางทีไม่ได้ผสมในช่วงเวลานั้นเวลาเดียว อาจมีช่วงอื่นอีกด้วย หรือ อาจมีช้างตัวผู้หลุดมาแอบผสมช้างตัวเมียได้เช่นกัน ต้องถามควาญช้างหรือเจ้าของช้างให้ละเอียด

2. การตรวจท้อง

      ที่นี้ถึงจุดที่สำคัญ คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าช้างท้องหรือไม่ วิธีการตรวจที่สะดวกและง่าย สามารถทำได้ในประเทศไทย คือ

1) โดยการสังเกต

      การสังเกตดูได้จากเต้านมขยาย เดินขาแกว่ง โดยลักษณะดังกล่าวจะเป็นตอนใกล้คลอด ควาญช้างที่มีประสบการณ์จะสามารถสังเกตได้ค่อนข้างถูกต้องและรวดเร็ว ทั้งนี้อย่าลืมพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นด้วย โดยเฉพาะการยืนยันด้วยวิธทางวิทยาศาสตร์

2) การตรวจฮอร์โมน

      การตรวจฮอร์โมนที่ใช้คือการตรวจระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นเวลาประมาณ 16-20 สัปดาห์ โดยต้องทำการตรวจซ้ำทุกสัปดาห์หรือทุก 2 สัปดาห์ จนระดับของฮอร์โมนสูงคงที่ ถ้าช้างไม่ท้องจะมีระดับของฮอร์โมนลดลงในช่วงเวลาที่ตรวจ โดยมักจะต่ำลงจนถึงใกล้ 0 ng/ml สามารถตรวจฮอร์โมน โปรเจสเตอโรนได้ตามห้องปฏิบัติการฮอร์โมนทั่วไปด้วยวิธี Radioimmunoassay (RIA) หรือ Electrochemiluminescense immunoassay (ECLIA) และที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสวนสัตว์เชียงใหม่ ด้วยวิธี Enzymeimmunoassay (EIA) ส่งตัวอย่าง serum หรือ plasma โดยพยายามปั่นแยกเม็ดเลือดออกให้เร็วที่สุด เพราะการทิ้งเม็ดเลือดแดงไว้กับซีรัมเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณฮอร์โมนลดลง

3) การตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonography)

      สามารถตรวจการตั้งท้องได้ที่ประมาณ 10 สัปดาห์ โดยสามารถมองเห็นถุงน้ำคร่ำภายในมดลูก แต่ปัญหาที่พบคือช้างไม่สามารถรับการตรวจทางทวารหนักได้ทุกตัว ส่วนมากมักเป็นช้างที่เคยฝึกหรือชินกับการล้วงตรวจมาแล้ว

3. การจัดการแม่ช้างก่อนคลอด

      เมื่อรู้แล้วว่าช้างท้องก็ต้องมาเตรียมตัวช้างเพื่อที่จะได้คลอดอย่างไม่มีปัญหา สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวและจัดการก่อนที่ช้างจะคลอดมีดังนี้

1. การหยุดงานเมื่อรู้ว่าช้างท้อง

   เมื่อทราบว่าช้างแม่พันธุ์ได้ตั้งท้องแล้ว การให้ช้างหยุดพักก่อนถึงช่วงเวลาตกลูกเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ช้างได้เตรียมตัวที่จะตกลูกและเลี้ยงลูกต่อไป ในระหว่างการพักช้างท้องนั้นจะต้องให้ช้างได้คุ้นเคยกับสถานที่ๆเตรียมไว้ให้ช้างตกลูกด้วย เพื่อไม่ให้ช้างเกิดความเครียดหรือมีอาการตื่นกลัวเมื่อใกล้เวลาตกลูก โดยทั่วไปการพักช้างท้องควรพักเมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 8-10 เดือนเป็นต้นไป จะมีประโยชน์ต่อช้างมาก จากประสบการณ์เคยพบว่าช้างแท้งตอนที่ท้องได้ประมาณ 12 เดือน เนื่องจากทำงานหนักเกินไป เช่น การแบกนั่งท่องเที่ยว หรือ ชักลากไม้ทั้งวัน

1. การให้อาหารช้างท้อง

   การจัดการ เรื่องอาหารสำหรับช้างท้องนั้น ก็ไม่มีอะไรพิเศษมากนัก เพียงแต่จัดอาหารให้ช้างท้องได้รับอย่างเพียงพอ โดยแบ่งเป็นหญ้า 70-80 % และเป็นอาหารเสริมเช่น กล้วย อ้อย หรือข้าวเหนียวนึ่งอีก 20-30 % การให้อาหารต้องให้ช้างได้กินอยู่บ่อยๆ และไม่ควรให้ในปริมาณมากเพียงครั้งเดียว จะทำให้สูญเสียอาหารโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ควรให้ช้างท้องที่เตรียมคลอดอ้วนจนเกินไป ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์พอควรเท่านั้น

1. การเตรียมพื้นที่สำหรับช้างคลอด

   พื้นที่สำหรับการจะให้ช้างตกลูก จะต้องเป็นพื้นที่ๆช้างท้องสามารถพักได้เป็นเวลานาน ไม่เกิดความเครียด และควรเป็นพื้นที่ๆสะอาด ปลอดโปร่งมีการระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดี ไม่เป็นที่น้ำท่วมถึง รวมถึงไม่เป็นที่ลาดชันหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง หรือลำคลอง จนเกินไป พื้นควรเป็นดินอัดหรือมีการปูด้วยวัสดุธรรมชาติเช่นฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง เพราะหากช้างตกลูกแล้วจะทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างและแม่ช้างได้ลำบากโดยเฉพาะในยามค่ำคืนและเป็นช่วงที่ลูกช้างยังไม่แข็งแรงพอที่จะเดินไปไหนได้ไกลๆ ไม่ควรเป็นพื้นคอนกรีต เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อลูกช้างเนื่องจากร่างกายลูกช้างยังบอบบางนัก

   การเตรียมพื้นที่ ต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆทั้งทางกายภาพของพื้นที่และยังต้องคำนึงถึงด้านจิตใจของช้างด้วย อีกประการหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยนั่นคือ ความสะดวกปลอดภัยในการปฏิบัติงานของทีมงาน ทั้งสัตวแพทย์ และผู้ช่วยสัตวแพทย์รวมถึงควาญช้าง ด้วย

1. การเตรียมคอกสำหรับช้างแม่-ลูกอ่อน ก่อนตกลูก

   คอกสำหรับช้างท้องก่อนตกลูกนั้นก็จำเป็นเช่นกัน ซึ่งหากเมื่อลูกช้างตกลูกการทำคอกกั้นนั้นจะยากกว่าการทำคอกไว้ล่วงหน้า ซึ่งขนาดของคอกควรเป็นคอกที่กว้าง และทำจากวัสดุที่แข็งแรง ไม่มีส่วนที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อแม่และลูกช้าง เช่นตะปูหรือเหล็กแหลม โดยทั่วไปคอกสำหรับช้างควรมีขนาด 8 x 8 เมตร หรือมากกว่า ซึ่งเมื่อช้างตกลูกแล้ว ลูกช้างจะแข็งแรงพอที่จะเดินไปมาสะดวกและไม่ตื่นกลัวจนเกินไป นั้นต้องใช้เวลาประมาณ ½ - 1 เดือน และจะเริ่มเล่นซน วิ่งไปมาอยู่ใต้ท้องแม่ช้างและพยายามใช้งวงและขาทั้งสี่คอยเล่นกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นควาญพี่เลี้ยง หรือผู้คนที่อยู่แวดล้อมรวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นคอกสำหรับช้างแม่ลูกจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะในกรณีที่ช้างอยู่ในแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชม สำหรับคอกที่ใช้ในการจัดแสดงตอนกลางวันนั้นอาจจะอยู่ในโรงเรือน ใต้ร่มไม้หรือกลางแจ้งก็ได้ และจะต้องทำความสะอาดง่าย ไม่ชื้นแฉะ และอากาศต้องถ่ายเทได้ดี

   ที่นี้เมื่อถึงเวลาที่สำคัญแล้วว่าช้างจะคลอด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าช้างจะคลอดเมื่อไรตามปกติช้าง

มักจะคลอดลูกในเวลากลางคืน แต่ก็มีบ้างที่คลอดในช่วงเวลากลางวัน ก่อนคลอดลูก แม่ช้างจะมีอาการหงุดหงิด ไม่ค่อยกินอาหาร ก่อนคลอด 12-24 ชั่วโมงจะมีเมือกเหนียวใสไหลออกมาทางช่องคลอด ถ้าช้างเชือกใดที่มีการตรวจระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมาตลอด เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด อาจเพิ่มความถี่ในการตรวจมากขึ้นโดยอาจตรวจทุกวัน (ถ้างบประมาณเพียงพอ) โดยส่วนมากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลงจนถึงใกล้ 0 ng/ml ประมาณ 1-3 วันก่อนคลอด จากประสบการณ์มีช้างบางเชือกก็มีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลงหลังคลอด

การเตรียมตัวระหว่างคลอด

      ในธรรมชาติช้างเอเชียเมื่อแม่จะคลอดลูก ช้างจะมีสัญชาตญาณในการหาเพื่อนมาคอยช่วยเหลือในการคลอดและดูแลลูกช้าง เรียกว่า "แม่รับ" โดยมากมักเป็นช้างพังที่มีความสนิทสนมกัน ช้างพังจะช่วยคลอด ฉีกรก แยกแม่ที่มีความเครียดและหงุดหงิดออกจากลูกช้างที่เกิดใหม่ และอาจให้นมลูกช้างในช่วงแรกด้วย แต่ในปัจจุบันลักษณะการเลี้ยงและการจัดการทำให้ระบบการใช้แม่รับในช้างลดน้อยลงหรือเหลือเพียงบางแห่งเท่านั้น เพราะการนำช้างพังเชือกอื่นที่ไม่ได้มีความใกล้ชิดกันมาอยู่ด้วยกัน อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นหน้าที่ในการคอยดูแลแม่ช้างและลูกช้างจึงตกมาอยู่ที่ควาญช้างและหมอช้างอย่างเราๆนี่แหละ สิ่งสำคัญหลายประการที่เราจะต้องเตรียมมีดังนี้ 

1. บริเวณที่ช้างคลอด

   บริเวณที่เตรียมให้ช้างตกลูก จะต้องเตรียมไว้ตั้งแต่เริ่มพักแม่ช้างโดยจะต้องเป็นที่ๆทำความสะอาดง่าย โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ทำระบบระบายน้ำไว้โดยรอบ ยิ่งโดยเฉพาะฤดูฝน เพราะช้างต้องใช้ชีวิตอยู่กับที่เป็นเวลานาน ซึ่งหากพื้นสกปรกและหมักหมม จะทำให้เกิดปัญหากับแม่และลูกช้างได้ เช่น เท้าเน่า ผิวหนังเหนือเล็บและซอกเล็บอักเสบ เป็นต้น

      ในส่วนความพร้อมอื่นๆ เช่นถังน้ำสำหรับให้แม่ช้างกิน และไฟฟ้าส่องสว่าง ในกรณีฉุกเฉิน รวม

   ไปถึงอุปกรณ์ในการตัดโซ่ โซ่สำรองและอุปกรณ์เสริมอื่นๆก็ควรเตรียมให้พร้อมเสมอ

1. ผู้ที่จะช่วยช้างคลอด

   ควาญช้างจัดได้ว่าเป็นผู้ช่วยหมอได้ดีที่สุดในยามที่ช้างตกลูก โดยเฉพาะควาญที่มีประสบการณ์ในการเฝ้าช้างตกลูกมาหลายครั้งและหากได้รับการอบรมเพิ่มเติม จะทำให้การปฏิบัติงานได้ผลดีมากขึ้น โดยเมื่อพบว่าช้างมีอาการผิดปกติ ควาญช้างจะต้องรีบแจ้งให้สัตวแพทย์ที่ดูแลทราบ เพื่อที่จะได้เฝ้าอาการและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการตกลูกในช่วงเวลาต่างๆ เพราะหากไม่ทราบการเปลี่ยนแปลงจะทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ อีกทั้งการเฝ้าสังเกตอาการของควาญนั้นจำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานด้านพฤติกรรมของช้างด้วย ซึ่งจำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีความรู้พอสมควร หรืออาจจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเฝ้าช้างตกลูกนั่นเอง ซึ่งต้องมีการวางแผนและซักซ้อมการปฏิบัติงานในขณะช้างตกลูกให้รอบคอบรัดกุม ซึ่งการจัดแบ่งหน้าที่นั้นจำเป็นมาก เพราะในช่วงเวลาสำคัญ คือช่วงที่ช้างตกลูกนั้นจะไม่มีเวลาหรือสมาธิพอที่จะจัดการได้ หากเกิดเหตุโกลาหล โดยสัตวแพทย์จะต้องเป็นผู้ควบคุมและดูแลทุกขั้นตอน เช่นหากเกิดความเข้าใจผิดในกรณีที่แม่ช้างใช้เท้าหรืองวงเตะลูก หากเข้าใจว่าแม่ช้างจะทำร้ายลูก อาจจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของสถานการณ์ได้ จึงจำเป็นจะต้องวางแผนและคอยควบคุมอย่างใกล้ชิด

      เมื่อใกล้คลอดช้างจะแสดงอาการกระสับกระส่าย อุจจาระและปัสสาวะบ่อยขึ้น เจ็บปวด ส่งเสียงร้อง มีการเบ่งเป็นระยะ ผุดลุกผุดนั่งและนอน ในช่วงเวลานี้ไม่ควรไปรบกวนอาจทำให้มีปัญหาตามมาได้ ในช่วงนี้ระยะเวลาจะแตกต่างกันแล้วแต่ตัวช้าง โดยถ้าเป็นช้างที่เคยมีลูกมาแล้วจะค่อนข้างเร็ว แต่ถ้าเป็นช้างสาวจะกินเวลานาน

      เมื่อถึงเวลาคลอดลูก ช้างจะเบ่งลูกออกมาตาม Urogenital canal ซึ่งสามารถสังเกตได้ชัดบริเวณก้นของช้างและจะค่อยๆเคลื่อนลงมาตามแรงเบ่ง จากนั้นถุงน้ำคร่ำ (amniotic sac) จะแตกออกโดยที่มีน้ำคร่ำปริมาณมากไหลออกมา จากนั้นจะเห็นส่วนของลูกช้างโผล่มาบริเวณช่องคลอด ช้างจะมีการย่อตัวลง กางขาออก และเบ่ง เพื่อลดความสูงที่ลูกจะตกถึงพื้น จากนั้นลูกก็จะคลอดออกมาโดยมีส่วนของเยื่อหุ้มติดออกมาด้วย ท่าที่คลอดเป็นได้ทั้งการเอาส่วนหน้าและส่วนท้ายออก (Anterior and posterior presentation) โดยมักเป็นท่าเอาส่วนท้ายออกมากกว่า

      เป็นที่เล่าต่อกันมาว่าแม่ช้างบางเชือกจะหงุดหงิดจากการคลอดลูกและจะไปทำร้ายหรือฆ่าลูกตัวเอง จากประสบการณ์ของผู้เขียนและที่ได้ยินมาว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แม่ช้างจะหงุดหงิด ร้อง และอาละวาดเนื่องมาจากคนไปกันแม่จากลูกและกลัวว่าลูกจะถูกทำร้าย รวมทั้งช้างหงุดหงิดเหยียบลูกตัวเองเช่นเดียวกัน โดยผู้เขียนพบแม่ช้าง 2 เชือกเหยียบลูกตาย ในช่วงที่ไม่มีควาญอยู่ใกล้

      เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วจากนั้นแม่จะใช้งวงดูดเอาเมือกออกจากปากและงวงของลูก กระตุ้นการหายใจโดยการเตะและเหยียบที่ช่องอกของลูกช้างไปมา ซึ่งเมื่อคนเราดูอาจนึกว่าลูกช้างถูกทำร้ายได้ จากนั้นแม่จะพยายามให้ลูกยืนและดูดนมจากแม่ ลูกช้างควรจะยืนเองได้ และจะเข้าไปใช้ปากดูดนมแม่ แม่ที่ดีควรจะย่อตัวลงมาเพื่อให้ลูกดูดนมได้สะดวก ในช่วงแรกควรให้ลูกช้างดูดนมโดยเร็วเพราะจะเป็นนมน้ำเหลืองซึ่งประกอบด้วย Immunoglobulin ที่สามารถดูดซึมในระบบทางเดินอาหารในช่วงแรก ควรให้ลูกช้างดูดนมแม่ภายใน 24 ชั่วโมง รกควรถูกขับออกมาภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด ในบางครั้งรกอาจไม่ออกมาหรืออกมาแล้วค้างอยู่ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหามดลูกอักเสบหรือติดเชื้อตามมาทีหลังได้

บทบาทของสัตวแพทย์ในการประเมินระหว่างช้างคลอด

1. หน้าที่ของสัตวแพทย์ในการกำกับดูแลระหว่างช้างคลอด

      สัตวแพทย์ ผู้ควบคุมดูแลช้างตกลูกจะต้องเข้าใจธรรมชาติของการตกลูกในช้างเสียก่อน และจะต้องอธิบายและทำความเข้าใจกับทีมงานหรือผู้ช่วยให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วช้างท้องที่ได้รับการดูแลจัดการในระหว่างท้องอย่างดีและเป็นระบบนั้น มักจะไม่มีปัญหาในระหว่างตกลูก และหน้าที่หลักของสัตวแพทย์คือ ควบคุมกำกับไม่ให้เกิดการรบกวนช้างและเฝ้าดูอาการของแม่ช้างและจดบันทึก เท่านั้นเอง ซึ่งปัญหาที่พบส่วนมากมักเป็นการรบกวนแม่ช้างจากสิ่งแวดล้อม มากกว่า เช่น ผู้คนที่สนใจในการเฝ้าชมช้างตกลูก หรือเสียงที่ดังเกินไป ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้สัตวแพทย์ที่เฝ้าดูแลจะต้องชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน

2. อุปกรณ์เวชภัณฑ์ ที่ควรเตรียมระหว่างช้างคลอด

      ก่อนช้างจะตกลูก สัตวแพทย์จะต้องเตรียมเวชภัณฑ์ ไว้ในกรณีที่จะต้องใช้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ช้างคลอดยาก ช้างเสียเลือดจากการฉีกขาดของช่องคลอด หรือ ในกรณ๊อื่นๆ โดยเวชภัณฑ์ที่จำเป็นมีดังนี้

1) สารน้ำชนิดต่างๆ เช่น Normal Saline, D-5-S, D-5W, Acetate Solution etc.

2) Oxytocin   ในกรณี ที่แม่ช้างไม่มีแรงเบ่ง หรือรกไม่หลุดหลังตกลูก 6- 12 ชั่วโมง

3) Adrenaline  ในกรณีที่ช้างเลือดไหลไม่หยุด

4) Transmin  ในกรณีที่ช้างเลือดไหลไม่หยุด

5) Vitamin K  ในกรณีที่ช้างเลือดไหลไม่หยุด

6) Dexamethasone  ในกรณีช็อค

7) Antibiotic  ในกรณีมีการฉีกขาดของช่องคลอด หนือมีการติดเชื้อ 

8) Antiseptic , Tincture iodine ในกรณีมีแผล และใส่สะดือลูกช้าง

9) อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เช่น กระบอกฉีดยา เข็มเบอร์ 18G สำลีแอลกอฮอล์ ถุงมือ อุปกรณ์

ศัลยกรรม เป็นต้น

3. การประเมินสภาพของช้างในระหว่างคลอด

   การประเมินตัวช้างระหว่างคลอดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการตัดสินใจหลายอย่าง นี่คือระยะเวลาและเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจว่าสัตวแพทย์อย่างเราอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยชีวิตลูกช้างหรือแม่ช้าง

1) ช้างควรคลอดลูกภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังเกิดการเบ่ง

   2) ลูกช้างควรถูกขับออกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังถุงน้ำคร่ำแตก

3) ลูกช้างควรคลอดภายใน 5 วันหลังจากระดับ โปรเจสเตอโรน ลดลงถึงใกล้ 0 ng/ml

   สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกช้างไม่ถูกขับออกมาตามเวลาที่กำหนด คือ

1. ภาวะมดลูกล้า (Uterine inertia)

2. ภาวะคอมดลูกไม่ขยาย (No relaxation of cervix)

3. ภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ (Hypocalcemia)

4. ความผิดปกติของลูกช้าง เช่น ลูกผิดท่า ลูกมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ลูกตายในท้อง ฯลฯ

   ซึ่งสาเหตุดังกล่าวที่ได้กล่าวมาอาจจะทำให้เกิดภาวะคลอดยากขึ้นมาได้ ดังนั้นวิธีการประเมินในเบื้องต้นที่ได้กล่าวมาเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการช่วยชีวิตลูกช้างและแม่ช้าง ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นตามเกณฑ์ต่างๆมาแล้ว สัตวแพทย์ควรพิจารณาและช่วยเหลือในการคลอด สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคืออุปกรณ์ที่จะใช้ในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความมั่นในในการประเมินสภาพของความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น อุปกรณ์ดังกล่าว (ถ้าเป็นไปได้) คือ

1. Ultrasonography เพื่อประเมิน relaxation of cervix

   2) Endoscope เพื่อประเมินลักษณะและท่าของลูกช้าง

   3) ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในกระแสเลือด

   4) ระดับแคลเซียมในกระแสเลือด

4. การพิจารณาให้การช่วยเหลือกรณีช้างมีปัญหาระหว่างคลอด

      ในส่วนของช่วยเหลือหรือการรักษาสามารถทำได้โดยควรมีการประเมินจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อความมั่นใจและความถูกต้องในการรักษา เช่น

1. การให้ Calcium ทั้งโดยการฉีดและการกิน เพื่อเพิ่มการบีบตัวของมดลูก

2) การให้ Estradiol ทางทวารหนักและการฉีด เพื่อขยายคอมดลูก

3) การให้ Oxytocin โดยการฉีด ข้อควรระวังในการให้ Oxytocin คือ Oxytocin จะไม่สามารถออกฤทธิ์

ได้ถ้าไม่มี estradiol นำก่อน (estradiol ไปกระตุ้นการสร้าง oxytocin receptor) และ ต้องพิจารณาว่าคอมดลูกเปิดและลูกไม่ผิดท่าหรือใหญ่เกินไป การใช้ oxytocin จะกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก จึงทำให้มดลูกแตกได้

      ในกรณีที่ลูกไม่สามารถคลอดออกมาได้เป็นเวลานาน เกิดการผิดท่า ลูกมีขนาดใหญ่ และอื่นๆ อาจต้องพิจารณาการผ่าช่วยคลอดทาง Urogenital canal โดยวิธี Episiotomy หรือ Vestibulotomy ซึ่งต้องใช้ทีมงานสัตวแพทย์ที่มีความพร้อม ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ส่วนการผ่าตัดเอาลูกออกทางท้อง (cesarean section) จะไม่แนะนำในช้างเนื่องจากมีการรายงานหลายครั้งในต่างประเทศพบว่าแม่ช้างตายหมดทุกเชือกหลังการผ่าตัด

      สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ เราเองสัตวแพทย์ต้องเป็นผู้ประเมินสภาพของแม่ช้างและลูกช้างในการช่วยเหลือ ในบางครั้งอาจต้องมีการตัดสินใจว่าจะรักษาชีวิตของแม่ช้างหรือลูกช้างไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าของและคำแนะนำของเราครับ ขอให้มีหยุดคิดอย่างมีสติและใช้สิ่งที่เราเรียนและศึกษามา ขอให้เก็บประสบการณ์ที่ได้มาได้ใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดนะครับ

รายงานการตกลูกของช้างจากปางช้างแม่สา

      ต่อไปที่จะกล่าวเป็นรายงานการตกลูกของช้างที่ได้มีการบันทึกไว้ ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะต้องเฝ้าช้างคลอดและสามารถช่วยชีวิตแม่ช้างและลูกช้างได้

1. รายงานการตกลูกของช้างพังสมนึก วันที่ 21 มิถุนายน 2547

แม่พันธุ์   พังสมนึก อายุ 38 ปี แม่ช้างในโครงการส่งเสริมสืบสานสายพันธุ์ช้างไทย

พ่อพันธุ์   สีดอดอ อายุ 41 ปี

ผสมเมื่อ   วันที่ 25-30 สิงหาคม 2545

วัน-เวลา ตกลูก  วันที่ 21 มิถุนายน 2547 เวลา 1.55 น.

ลูกช้างเพศผู้  น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 90 กิโลกรัม ส่วนสูง 97 เซนติเมตร 

      นับเป็นช้างเชือกที่ 10 ของโครงการส่งเสริมสืบสานสายพันธุ์ช้างไทย

การแสดงอาการก่อนตกลูกของแม่ช้าง

เวลา    อาการ

1. น. เริ่มมีเมือกเหนียวขุ่นออกจากอวัยวะเพศ เปื้อนที่ขาหลังทั้งสองข้าง

2. น. กินหญ้ากินอาหารเป็นปกติ เริ่มปัสสาวะและอุจจาระถี่ขึ้น

19.30 น. ช้างกินอาหารได้เป็นปกติ อุจจาระปัสสาวะบ่อยและ มีเมือกหลังปัสสาวะออกมาเป็นระยะๆ

22.00 น. เริ่มเบ่งบ่อยขึ้น อุจจาระปัสสาวะถี่ขึ้น มีเมือกเยิ้มระหว่างขาหลัง

00.25 น. เริ่มแสดงอาการเบ่ง และเห็นตัวลูกช้างผลุบโผล่ตรงด้านท้ายเล็กน้อย

01.00 น. แสดงอาการเบ่งบ่อยขึ้น

01.20 น. มองเห็นตัวลูกช้างเคลื่อนที่มาอยู่ส่วนท้ายมากขึ้น

01.55 น. แม่ช้างใช้เวลาในการเบ่งครั้งสุดท้าย1-2 นาที ถุงหุ้มลูกช้างก็โผล่พ้นจากอวัยวะเพศ และหลุดออกจากช่องคลอด ในท่าเอาขาหลังออก (ท่าปกติ)

01.56 น. ถุงหุ้มลูกช้างฉีกเอง และแม่ช้างพยายามใช้ขาหลังเขี่ยลูกช้างให้ลุกขึ้น

01.57 น.  ลูกช้างตัวอ้วน เริ่มขยับจะลุกยืน แม่ช้างพยายามเข้าคร่อมและใช้งวงพยุงลูกช้าง

01.59 น.  ลูกช้างลุกขึ้นยืนและล้มสลับไปมา แม่ช้างแสดงอาการหวงลูกมาก และพยายามใช้

      งวงและขาหลังพยุงตลอด

02.05 น. ลูกช้างลุกขึ้นยืนได้นิ่งและเริ่มขยับเดินเอง

02.30 น. ลูกช้างเริ่มเดินวนไปมาได้ไกลขึ้น แม่ช้างแสดงอาการหวงลูก ลดลง

02.40 น. เริ่มให้อาหารแม่ช้าง แม่ช้างกินหญ้าได้ตามปกติ

03.30 น. ลูกช้างรู้ตำแหน่งของเต้านมแม่ ลูกช้างเริ่มดูดนม

04.00 น. รกช้างหลุดออกมาจากช่องคลอดแม่ช้าง

05.00 น. ลูกช้างแข็งแรงดีมาก และเริ่มดูดนมมากขึ้น

2. รายงานการตกลูกของช้างพังหนุงหนิง 

แม่พันธุ์   พังหนุงหนิง  อายุ 10 ปี

พ่อพันธุ์   พลายจัมโบ้ บี   อายุ 28 ปี

ผสมเมื่อ   8 – 16 เมษายน 2544

วัน-เวลา ตกลูก  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 23.40 น.

ลูกช้างเพศผู้  น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 80 กิโลกรัม

      เป็นการตั้งท้องครั้งแรก จากการผสมครั้งแรก

พักช้างเมื่อเดือน กรกฎาคม 2545 เมื่ออายุตั้งท้อง 15 เดือน

      เวลา   อาการ 

      15.00 น  แสดงอาการปวดเบ่งและ มีน้ำเมือกใสไหลออกจากอวัยวะเพศ

      17.00 น.  เมือกปิดปากมดลูกหลุดออกมาเป็นก้อน(สีขาวขุ่น)

      20.00 น.  เริ่มกระวนกระวายมากขึ้น ผุดลุกผุดนั่ง

      22.30 น.  เริ่มเบ่งมากขึ้น พบว่าตัวลูกช้างมาตุงที่ด้านท้ายของแม่ช้าง

      23.40 น.  เบ่ง 3 – 4 ครั้ง ตกลูกออกมาเป็นช้างเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม

      02.30 น.  รกหลุด สมบูรณ์แบบ

3. รายงานการตกลูกของช้างพังสวย  อายุ 22 ปี

พ่อพันธุ์   สีดอใหญ่  อายุ 41 ปี

ผสมเมื่อ   วันที่ 4-6 กันยายน 2545

วัน-เวลาตกลูก  วันที่ 24 มิถุนายน 2547 เวลา 14.40 น.

ลูกช้างเพศผู้  น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 95 กิโลกรัม ส่วนสูง 100 เซนติเมตร 

      นับเป็นช้างเชือกที่ 11 ของโครงการส่งเสริมสืบสานสายพันธุ์ช้างไทย

การแสดงอาการก่อนตกลูกของแม่ช้าง

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2547

เวลา    อาการ

19.30 น.  ช้างกินอาหารน้อยลง อุจจาระปัสสาวะบ่อย กระสับกระส่ายเล็กน้อย

22.00 น. ไม่พบว่ามีสิ่งคัดหลั่งใดๆ

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2547

เวลา    อาการ

1. น. กระวนกระวายผุดลุกผุดนั่ง

2. น. กินหญ้ากินอาหารลดลง เริ่มปัสสาวะและอุจจาระถี่ขึ้น

12.30 น. เริ่มเบ่งมากขึ้น ยังไม่พบเมือกออก

13.05 น. เริ่มเบ่งบ่อยขึ้น อุจจาระปัสสาวะถี่ขึ้น พบว่าลูกช้างเริ่มเคลื่อนออกมาที่ด้าน

      ท้ายของแม่ช้าง

13.25 น. เบ่งเป็นระยะ และเห็นตัวลูกช้างผลุบโผล่ตรงด้านท้ายมากขึ้น

14.05 น.  มองเห็นตัวลูกช้างเคลื่อนที่มาอยู่ส่วนท้ายมากขึ้น

14.40 น. แม่ช้างใช้เวลาในการเบ่งครั้งสุดท้าย1 นาที ถุงหุ้มลูกช้างก็โผล่พ้นจากอวัยวะเพศ และหลุดออกจากช่องคลอด ในท่าเอาขาหลังออก (ท่าปกติ)

14.45 น. ถุงหุ้มลูกช้างฉีกเอง และแม่ช้างพยายามใช้ขาหน้าเขี่ยลูกช้างให้ลุกขึ้น

14.47 น.  ลูกช้างตัวอ้วน เริ่มขยับลุกยืน แม่ช้างพยายามใช้งวงพยุงลูกช้าง

14.50 น.  ลูกช้างลุกขึ้นยืนและล้มสลับไปมา แม่ช้างแสดงอาการหวงลูกมาก และพยายามใช้งวง

      และขาพยุงตลอด

15.02 น. ลูกช้างลุกขึ้นยืนได้นิ่งและเริ่มเดินไปมา

15.05 น. ลูกช้างเริ่มเดินวนไปมาได้ไกลขึ้น และเริ่มดูดนมเป็นครั้งแรก

15.10 น. เริ่มให้อาหารแม่ช้าง แม่ช้างกินหญ้าได้ตามปกติ

15.30 น. ลูกช้างรู้ตำแหน่งของเต้านมแม่ ลูกช้างดูดนมได้มากและนานขึ้น

19.09 น. รกช้างหลุดออกมาจากช่องคลอดแม่ช้าง

19.30 น. ลูกช้างแข็งแรงดีมาก แม่ช้างมีอาการทั่วไปปกติดี





Read more!

Saturday, January 5, 2008

100 เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเสือโคร่ง

น.สพ.กมลชาติ นันทพรพิพัฒน์
นายสัตวแพทย์ประจำสวนเสือศรีราชา

ลักษณะและสายพันธุ์
1. เสือโคร่งเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดร่างกายใหญ่ที่สุด
2. เสือโคร่งในป่าธรรมชาติเป็นสัตว์ที่อยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหาร
3. เสือโคร่งมีอยู่ 10 Subspecies คือ จีนใต้ , บาหลี , แคสเปี้ยน , สุมาตรา , ไซบีเรีย , เบงกอลมาเลเซีย , ทรินิล , อินโดจีน , ชวา
4. เสือโคร่งได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 4 Subspecies , เสือโคร่งพันธุ์ Bali สูญพันธุ์ไปเมื่อปี 1940 , เสือโคร่งพันธุ์ Caspian สูญพันธุ์ไปเมื่อปี 1970 , เสือโคร่งพันธุ์ Javan สูญพันธุ์ไปเมื่อปี 1980 , และเสือโคร่งพันธุ์ Trinil
5. ชื่อละตินของเสือโคร่งแต่ละ Subspecies
Pantheris tigris amoyensis The South China tiger
Pantheris tigris altaica The Amur ( Siberian ) tiger
Pantheris tigris sumatrae The Sumatran tiger
Pantheris tigris corbetti The Indochinese tiger
Pantheris tigris tigris The Bengal tiger
Pantheris tigris balica The Bali tiger
Pantheris tigris virgata The Caspian tiger
Pantheris tigris sondaica The Javan tiger
Pantheris tigris jacksoni The Malayan tiger
Pantheris tigris trinilensis The Trinil tiger
6. เสือโคร่งพันธุ์ South China เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดเสือโคร่งของ Subspecies ของเสือโคร่งอื่น ๆ
7. เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ในสัตว์ตระกูลแมวใหญ่ โดยเฉพาะเสือโคร่งชนิด South China ซึ่งมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมากโดยปัจจุบันพบอยู่ประมาณ 60 ตัว ในสวนสัตว์ต่าง ๆ ของจีน และอีกประมาณ 20 ตัวในป่าธรรมชาติ ( ซึ่งคาดการณ์กันว่าอีกประมาณ 20 ปีจะสูญพันธุ์ )
8. เสือโคร่งในธรรมชาติไม่พบอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ถิ่นที่พบจะกระจายแถบทวีปเอเชียไปจนถึงประเทศจีนตอนใต้
9. เสือโคร่งในกรงเลี้ยงสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 20 ปี ในขณะที่เสือโคร่งในป่าธรรมชาติสามารถมีชีวิตอยู่ได้เพียง 10 ถึง 15 ปี
10. เสือโคร่งถูกจัดเป็น “Umbrell species” หมายถึงควรได้รับการปกป้องซึ่งรวมถึงการรักษาไว้ซึ่งถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร
11. เนื่องจากความหนาวเย็นทางตอนใต้ของประเทศรัสเซียและทางตอนเหนือของประเทศจีน ทำให้เสือโคร่งสายพันธุ์ Siberian มีขนาดลำตัวที่ใหญ่ที่สุดโดยมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ฟุต 8 นิ้ว และมีน้ำหนักเฉลี่ย 540 ปอนด์ มันมีขนที่หนาและมีถิ่นอาศัยที่กว้างใหญ่
12. เสือโคร่งสายพันธุ์ Bengal พบได้ในประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ตามเขตแดนของประเทศจีน เป็นเสือที่มีขนาดใหญ่รองลงมา น้ำหนักเฉลี่ย 480 ปอนด์ และมีความยาวของลำตัว 9 ฟุต 5 นิ้ว
13. เสือโคร่งสายพันธุ์ Indochinese พบได้ตลอดแนวตอนใต้ของทวีปเอเชีย มันมีขนาดลำตัวยาว 8 ฟุต 8 นิ้ว และมีน้ำหนักตัว 380 ปอนด์
14. เสือโคร่งสายพันธุ์ South China พบได้เพียงทางตอนใต้ของประเทศจีน มันมีขนาดลำตัวยาว 8 ฟุต 1 นิ้ว และมีน้ำหนักตัว 336 ปอนด์
15. เสือโคร่งสายพันธุ์ Sumatran เป็นเสือโคร่งที่มีขนาดเล็กที่สุดที่ยังไม่สูญพันธุ์ โดยมีขนาดลำตัวยาว 7 ฟุต 8 นิ้ว และมีน้ำหนักตัว 250 ปอนด์ นำมาซึ่งความเป็นจริงตามธรรมชาติที่พื้นที่อาณาเขตน้อยเนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ที่เป็นเกาะสุมาตรา
16. มีข้อมูลบันทึกน้ำหนักที่มากที่สุดของเสือโคร่ง ซึ่งเป็นเสือสายพันธุ์ Siberian คือมีน้ำหนักถึง 1,025 ปอนด์
17. เสือโคร่งสายพันธุ์ Bengal มีจำนวนประชากรมากที่สุดคือประมาณ 3,000 ตัว รองลงมาคือ เสือโคร่งสายพันธุ์ Indochinese ซึ่งมีประมาณ 1,000 – 1,500 ตัว และรองลงมาอีกคือเสือโคร่งสายพันธุ์ Siberian มีอยู่ประมาณ 230 – 400 ตัว และสุดท้ายเสือโคร่งสายพันธุ์ South China มีประมาณ 60 – 80 ตัว
18. เสือโคร่งสายพันธุ์ Sumatran จะมีแผงขนมากบริเวณต้นคอ
19. เสือโคร่งสายพันธุ์ South China จะมีลายบริเวณลำตัวน้อยที่สุด
20. ในปี 1959 เสือโคร่งสายพันธุ์ South China มีอยู่ประมาณ 4,000 ตัว ทั่วโลก

กายวิภาค
21. ลายบริเวณลำตัวของเสือโคร่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งคล้าย ๆ กับลายนิ้วมือของมนุษย์
22. ถ้าหากคุณโกนขนของเสือโคร่งออกให้หมด เสือโคร่งก็จะยังคงมีลายเหมือนเดิม
23. เสือโคร่งจะมีการพัฒนาด้านประสาทสัมผัสโดยเฉพาะด้านการรับฟังเสียง
24. เสือโคร่งไม่สามารถที่จะส่งเสียงขู่ได้ เหมือนลักษณะเด่นที่จะพบได้ในแมว
25. ดวงตาของเสือโคร่งจะไม่เหมือนดวงตาของแมวบ้านคือตาของเสือโคร่งจะมีรูม่านตาที่กลม แต่ในขณะที่รูม่านตาของแมวจะเป็นวงรี
26. รอยเท้าของเสือโคร่งสามารถสังเกตได้ ซึ่งจะแตกต่างจากรอยเท้าของสุนัข บางครั้งสามารถระบุได้ว่าเป็นสัตว์ในตระกูลเสือ
27. เสือโคร่งสามารถหดอุ้งเล็บได้ ซึ่งคล้าย ๆ กับอุ้งเล็บของแมวบ้านทั่วไป
28. เท้าหน้าของเสือโคร่งจะมีนิ้วเท้า 5 นิ้ว ส่วนนิ้วเท้าขาหลังจะมีอยู่แค่เพียง 4 นิ้วในเท้าแต่ละข้าง
29. การมองเห็นในเวลากลางคืนของเสือโคร่งนั้นสามารถมองเห็นได้ดีกว่าสายตาของมนุษย์
30. ฟันเขี้ยวของเสือโคร่งสามารถยาวได้ถึง 3 นิ้ว ซึ่งสามารถฉีกสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังทุกชนิดบนโลกได้
31. เสือโคร่งจะมีฟันน้ำนมจำนวน 24 ซี่ และจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 10 - 14 วัน
32. เสือโคร่งที่เจริญเติบโตเต็มที่จะมีฟันแท้ทั้งหมด 30 ซี่
33. โดยเฉลี่ยแล้วหางของเสือโคร่งจะมีความยาว 4 ฟุต หรือมีความยาวเป็นครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว
34. หางของเสือโคร่งจะช่วยในการทรงตัวในขณะที่เสือโคร่งวิ่ง และช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างเสือโคร่งด้วยกันเอง
35. เส้นเอ็นบริเวณขาของเสือโคร่งนั้นมีความแข็งแรงมาก ดูได้จากการล่าเหยื่อที่ตะปบให้เหยื่อเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน
36. เท้าหน้าของเสือโคร่งจะมีกำลังมาก ซึ่งมากกว่าเท้าหลังเพื่อการตะปบเหยื่อที่มีขนาดใหญ่
37. เสือโคร่งสายพันธุ์ South China จะมีลักษณะของโครงสร้างกะโหลกที่แตกต่างกันไป เบ้าตาลึก และมีโหนกนูนเล็กน้อยบริเวณด้านหลังต้นคอ
38. ลายของเสือโคร่งส่วนมากจะเป็นพื้นสีส้มและมีแถบดำคาด และขนบางแห่งจะมีสีขาวโดยเฉพาะขนบริเวณด้านท้องและขากรรไกรล่าง
39. เสือโคร่งที่โตเต็มที่หนึ่งตัวสามารถกินเนื้อได้ถึง 6 กิโลกรัมต่อวันและสามารถอดอาหารได้เป็นอาทิตย์โดยไม่กินอะไรเลย
40. เสือโคร่งเพศเมียจะมีเต้านม 4 เต้า หรือบางครั้งอาจพบเต้านม 3 – 5 เต้าได้

ชีววิทยา
41. เสือโคร่งที่โตเต็มที่เป็นสัตว์ที่ชอบสันโดษ มีอาณาเขตเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจจะคลอบคลุมพื้นที่กว่า 100 ตารางไมล์
42. เสือโคร่งจะสร้างอาณาเขตของตัวเองโดยการสเปร์ฉี่ไปตามต้นไม้ ข่วนต้นไม้เป็นสัญลักษณ์
43. กลิ่นฉี่ของเสือโคร่งและรอยขีดข่วนที่เสือทำไว้เป็นสัญลักษณ์ที่เสือด้วยกันสามารถรับรู้ได้ สัญลักษณ์นี้ไม่ได้เพียงเพื่อจะเตือนหรือห้ามไม่ให้บุกรุก แต่ยังเป็นการให้ข้อมูลแก่เสือตัวอื่น ๆถึงความต้องการทางการผสมพันธุ์ด้วย
44. อาณาเขตของเสือเพศผู้จะมีการซ้อนทับกับอาณาเขตของเสือเพศเมียหลายตัว
45. เสือโคร่งจะมีการเดินทางภายในอาณาเขตของตนเองทุก ๆ 2 – 3 วัน
46. ลายที่ลำตัวของเสือโคร่งมีประโยชน์มากสำหรับการอาศัยหรือการหลบซ่อนในบริเวณที่เป็นหญ้ารกทึบและสูง
47. เสือโคร่งจะมีการพัฒนาด้านประสาทสัมผัสโดยเฉพาะด้านการรับฟังเสียง
48. เสือโคร่งสามารถล่าเหยื่อได้สำเร็จจากการพยายามล่าเหยื่ออย่างน้อย 20 ครั้ง
49. เสือโคร่งชอบกินหมู กวาง ควาย แต่ก็ชอบกินเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่าด้วยเช่น กระต่าย ปลา
50. โดยเฉลี่ยแล้วเสือโคร่งสามารถกินอาหารได้มากถึง 60 ปอนด์ของเนื้อภายในมื้อเดียวได้
51. หลังจากเสือโคร่งกินอาหารเสร็จแล้ว เสือโคร่งจะทำการซ่อนซากเหยื่อจากสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ เพื่อที่ตัวมันเองจะกลับมากินอีกครั้ง
52. เสือโคร่งสามารถอดอาหารได้ 2 – 3 วันโดยไม่กินอะไรเลย
53. เสือโคร่งสามารถใช้เวลาอย่างน้อย 18 ชั่วโมงในการนอนหลับ
54. เสือโคร่งสามารถว่ายน้ำได้ และชอบความเย็นโดยการลงไปนั่งแช่น้ำ
55. เวลาเสือโคร่งจะเข้าทำร้ายเหยื่อจะไม่เข้าด้านหน้า แต่จะลอบเข้าทำร้ายจากด้านหลัง
56. เหยื่อพวกกวางที่เสือโคร่งล่าได้ เสือโคร่งจะเลือกกินกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกของเหยื่อก่อน โดยที่เสือโคร่งจะไม่กินเหยื่อบริเวณท้อง และมักไม่กินเครื่องใน
57. เสือโคร่งเป็นสัตว์หากินกลางวัน เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพความแข็งแรงสูงสุดจะเป็นช่วงเช้าถึงเย็น
58. เสือโคร่งจะก้าวเท้าไปทางด้านหน้าด้วยการที่ก้าวเท้าที่อยู่ด้านเดียวกันออกไปก่อน

การสืบพันธุ์
59. วัยเจริญพันธุ์ของเสือโคร่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่อายุ 3 ปี
60. เสือโคร่งเพศผู้นั้นสามารถทำการผสมพันธุ์ได้ 6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง
61. เสือโคร่งเพศเมียมักจะให้กำเนิดลูกเสือ 2 – 3 ตัวต่อครอกในป่าธรรมชาติ และมีโอกาสการสูญเสียค่อนข้างมาก
62. ช่วงระยะเวลาของการตั้งท้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 102 – 106 วันนับจากวันที่เริ่มมีการผสมพันธุ์
63. เสือโคร่งทุกสายพันธุ์จะให้กำเนิดลูกเสือในอัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียในอัตรา 1:1
64. ลูกเสือแรกเกิดจะไม่สามารถมองเห็น หนังตาเปิดออกจากกันเมื่ออายุประมาณ 7 – 10 วัน
65. อัตราการเจริญเติบโตในลูกเสือสามารถเติบโตได้ถึงวันละ 100 กรัมต่อวัน
66. ลูกเสือจะเริ่มกินอาหารแข็งเมื่ออายุประมาณ 12 – 13 สัปดาห์ และหย่านมเมื่ออายุระหว่าง 17 สัปดาห์
67. ลูกเสือจะเล่นและฝึกการต่อสู้กับพี่น้องร่วมครอกเดียวกัน ซึ่งสามารถทำให้มันมีความแข็งแรงและมีความว่องไวเพิ่มมากขึ้น
68. ลูกเสือจะสามารถที่จะทำการล่าเหยื่อได้เองเมื่อมันมีอายุราว 18 เดือน
69. ลูกเสือจะอยู่กับแม่เสือโคร่งจนถึงอายุประมาณ 2 – 3 ปี
70. เสือโคร่งเพศผู้จะเข้าใจการฆ่าและกินลูกเสือโคร่งที่เป็นเพศผู้ตัวอื่น ๆ ก่อนที่ลูกเสือจะเติบโตมาแย่งการผสมกับเสือโคร่งเพศเมีย
71. บ่อยครั้งก่อนที่จะมีการผสมพันธุ์ เสือโคร่งจะมีการแสดงอาการคลอเคล้ากัน และมีการทำเสียงในลักษณะให้มีลมเบา ๆ ผ่านออกมาทางรูจมูก
72. เสือโคร่งสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในราวปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนเมษายน
วัฒนธรรมและความเชื่อ
73. น้ำลายของเสือโคร่งบางคนเชื่อว่าปราศจากเชื้อโรคและเหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดบาดแผลตัวเสือโคร่งเอง
74. บางหมู่บ้านจะมีการใส่หน้ากากเอาไว้ทางด้านหลังของศีรษะเอาไว้ตลอดเวลาในขณะเข้าป่าเพื่อป้องกันการเข้าทำร้ายของเสือโคร่ง
75. จุดด่างสีขาวบนหลังใบหูของเสือโคร่งทุกตัวนั้น มนุษย์มีความเชื่อว่ามันมีไว้เพื่อให้ลูกเสือสังเกตเห็นแม่มันในขณะที่ลูกเสือเดินตามหลังแม่
76. เสือโคร่งขาวไม่ใช่เสือโคร่งเผือก , เสือโคร่งขาวทุกตัวนั้นมีความเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากเสือโคร่งขาวเพียงตัวเดียวซึ่งเป็นเพศผู้มีชื่อว่า “Mohan”
77. แต่ก่อนมีความเชื่อว่าเสือโคร่งสายพันธุ์ South China ไม่สามารถนำมาฝึกได้ , ละครสัตว์ส่วนมากในประเทศจีนจะยกเลิกการฝึกหลังจากที่ได้ทดลองฝึกแล้วเห็นว่าไม่ได้
78. ในประเทศจีนมีการนับถือและบูชาเสือโคร่ง ซึ่งเป็นความเชื่อว่ามีพลัง
79. เสือโคร่งเป็นหนึ่งในสัตว์ 12 นักษัตร คือเป็นสัตว์ที่อยู่ในตำแหน่งที่ 3
80. หยินและหยาง บางครั้งก็มีการเปรียบเทียบกับเสือโคร่งคือ หยินเปรียบเป็นเสือโคร่งและหยางเปรียบเหมือนมังกร
81. ทุก ๆ ส่วนของตัวเสือโคร่งทางประเทศจีนมีความเชื่อว่าเป็นยาทั้งหมด
82. ความเชื่อทางด้านการนำอวัยวะของเสือโคร่งไปทำยานั้นทางประเทศจีนมีความเชื่อมากว่า 1,000 ปีแล้ว
83. ยังไม่มีการรายงานยืนยันทางด้านการแพทย์ว่าอวัยวะต่าง ๆ ของเสือโคร่งสามารถรักษาโรคได้

เกร็ดความรู้
84. บางที่ของประเทศอินเดียเรียกเสือโคร่งว่า Sundehan ซึ่งรู้กันว่ากินมนุษย์
85. เสือโคร่งทุกตัวจะมีลายที่ใกล้เคียงกันที่บริเวณหน้าผาก ซึ่งคล้ายกับภาษาเขียนของภาษาจีนซึ่งมีความหมายว่า “wang” ซึ่งแปลว่า พระมหากษัตริย์
86. ภาษาจีนเรียกเสือว่า “Wu Lao Hu” ภาษาอินเดียเรียกว่า “Bagh” “Sher” ภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า “Harimau” “Macan” ภาษาเกาหลีเรียกว่า “Ho Lang-ee” ภาษาเวียดนามเรียกว่า “Cop” ภาษาไทยและลาวเรียกเสือว่า “Seua” ประเทศเนปาลเรียกว่า “Bagh” ภาษาพม่าเรียกว่า “Kyar” และที่ประเทศมาเลเซียเรียกว่า “Harimau”
87. ในประเทศไทย เสือโคร่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
88. เสือโคร่งลดจำนวนลงเนื่องจากการถูกคุกคามพื้นที่ป่าและการลักลอบล่า
89. ในทวีปเอเชียยังคงมีการลักลอบเลี้ยงเสือโคร่งเพื่อจะส่งอวัยวะ หรือชิ้นส่วนซากออกไปจำหน่ายยังตลาดมืดเพื่อใช้เป็นยาจีน
90. ในระหว่างปี 1960 และ 1984 มีการจับพวกลักลอบค้าสัตว์ป่าได้และพบหนังเสือโคร่งเป็นจำนวนกว่า 3,000 ผืน
91. ปัจจุบันรัฐบาลของประเทศจีนได้กำหนดกฎหมายเพื่อการคุ้มครองเสือโคร่งอย่างเข้มงวด เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งให้คงอยู่คู่กับประเทศจีนต่อไป
92. การลักลอบค้าซากเสือโคร่งปัจจุบันได้ลดน้อยลง ซึ่งยิ่งทำให้ราคาสูงมากขึ้นโดยถ้ามีการค้าเสือโคร่งเพียงหนึ่งตัวนั่นหมายถึงว่าสามารถได้รับเงินเท่า ๆ กับการได้รับเงินเดือนยาวนานไป 10 ปีเลยทีเดียว
93. ประเทศที่มีการลักลอบค้าเสือโคร่งกันมากได้แก่ จีน , ไต้หวัน , เกาหลี , และญี่ปุ่น
94. คาดการณ์ว่าเสือโคร่งสายพันธุ์ Bengal ยังคงมีการลักลอบ โดยเฉลี่ยแล้วมีการลักลอบวันละ 1 ตัว
95. ในปี 1980 ในประเทศไต้หวันการค้าขายเสือโคร่งเป็นเรื่องที่พบเห็นโดยทั่วไป
96. โรงเบียร์ที่ประเทศไต้หวันมีการนำเข้ากระดูกเสือโคร่งกว่า 2,000 กิโลกรัมในช่วงปี 1980 และมีซากเสือโคร่งจำนวน 100 – 200 ซากเพื่อการผลิตไวส์ 100,000 ขวด
97. ปัจจุบันนี้มีเสือโคร่งที่เลี้ยงอยู่ในกรงเลี้ยงมีจำนวนมากกว่าเสือโคร่งที่อยู่ตามธรรมชาติ
98. เสือโคร่งก็เป็นไข้หวัดนกได้เช่นเดียวกับสัตว์ปีก
99. มนุษย์ถูกเสือโคร่งทำร้ายจนถึงเสียชีวิตเฉลี่ย 50 คนต่อปี
100. มันเป็นการยากที่จะนับจำนวนเสือโคร่งที่อยู่ในธรรมชาติได้ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญได้คาดคะเนว่าน่าจะมีน้อยกว่า 6,000 ตัว
Read more!

Wednesday, December 12, 2007

กรณีศึกษา:พยาธิ Strongyloides spp. ในชะนี

"กรณีศึกษา:พยาธิ Strongyloides spp. ในชะนี"


โดย สัตวแพทย์หญิงมนทกานติ์ วงศ์ภากร

กลุ่มโรคสัตว์น้ำและสัตว์ป่า สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ




คำนำ

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546 Mr.Edwin Wiek ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า วัดเขาลูกช้าง อ. ท่ายาง จ. เพชรบุรี 76130 ได้นำซากของชะนีพันธุ์มือขาว เพศเมีย อายุ 2 ปี มาที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ เพื่อหาสาเหตุของการตาย โดยทราบข้อมูลว่าชะนีป่วยมา 4-5 วันแล้ว ก่อนตาย มีอาการ ซึม อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ ท้องเสียอุจจาระเหลว อาเจียนมีสีเขียว สภาพแวดล้อมของฟาร์มจะใช้ตาข่ายล้อมต้นไม้ ให้อาหารเป็นผัก ผลไม้ ใบไม้ ประวัติการให้ยา มีการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี และให้ยา ivermectin เพื่อถ่ายพยาธิ ทุก 6 เดือน ชะนีที่เลี้ยงไว้มี 35 ตัว เป็นพันธุ์มือขาว 25 ตัว พันธุ์แขนขาว 5 ตัว ตายไปแล้ว 5 ตัว เจ้าของเคยนำซากไปตรวจวินิจฉัยที่อื่นแต่ไม่พบสาเหตุการตาย ในการป่วยครั้งนี้เจ้าของให้ยา enrofloxacin และ gentamycin ผลของการให้ยาพบว่าอาการไม่ดีขึ้น และชะนีได้ตายในเวลาต่อมา ปัจจุบันยังมีชะนีป่วยอีก 5 ตัว

การตรวจตัวอย่าง
ทำการผ่าซากตรวจดูรอยโรค แล้วเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อส่งตรวจห้องปฏิบัติการต่างๆคือ สมอง หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ไตและลำไส้ ส่งตรวจทางจุลพยาธิวิทยาและแบคทีเรียวิทยา ตับส่งตรวจทางชีวเคมีและพิษวิทยา และลำไส้ส่งตรวจทางปาราสิตวิทยา

ผลการผ่าซาก
พบปอดมีเลือดคั่งอย่างรุนแรงที่ diaphragmatic lobe ทั้ง 2 ข้าง มีจุดเนื้อตายสีเทา-เหลืองในส่วนของปอดทั้งช่วงบนและช่วงล่าง ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มีของเหลวเหลืองปนมูกร่วมกับไฟบริน


ผลการตรวจชิ้นเนื้อทางจุลพยาธิวิทยา
ปอดพบการอักเสบแบบมีหนอง โดยพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล แทรกอยู่ในเนื้อเยื่อปอดร่วมกับการมีเลือดออกอย่างรุนแรง
ลำไส้พบการอักเสบ ร่วมกับเนื้อตาย และมีการลอกหลุดของเซลล์ชั้นบนของเยื่อบุ โดยพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซด์ และอีโอสิโนฟิลจำนวนมาก ในชั้นลามินา โพรเพรีย (laminar propria)

ผลการตรวจทางแบคทีเรียวิทยา
ไม่พบเชื้อแบคทีเรียชนิดก่อโรค

ผลการตรวจทางชีวเคมีและพิษวิทยา
ไม่พบยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต จากตัวอย่างเนื้อเยื่อตับ


ผลการตรวจทางปาราสิตวิทยา
พบตัวพยาธิในเยื่อเมือกของลำไส้เล็กโดยการขูดเยื่อเมือกจากลำไส้ (scraping) แล้วนำมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ จากบริเวณที่พบสันนิษฐานว่าเป็น Strongyloides spp. จึงแนะนำให้ส่งอุจจาระของชะนีตัวอื่นที่ป่วยมาตรวจด้วย
ต่อมา เจ้าของได้นำอุจจาระของชะนีป่วยอีก 5 ตัวอย่าง และค่างป่วยอีก 1 ตัวอย่าง มาส่งตรวจ ผลการตรวจพบไข่ของ Strongyloides spp. และ Trichuris spp. ในชะนี 4 ตัวอย่าง และไข่ของ Strongyloides spp. ในค่าง 1 ตัวอย่าง จึงแนะนำเจ้าของให้ถ่ายพยาธิชะนีและค่างทุกตัวด้วยยา Thiabendazole 100 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมน้ำหนักตัว โดยให้กิน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ และล้างพื้นคอกให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
** 3 เดือนต่อมา ได้ติดตามอาการของโรค พบว่าตัวที่ป่วยอาการดีขึ้น ไม่มีการป่วยหรือตายอีก **


จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า Strongyloides spp. หรือพยาธิเส้นด้าย เป็นพยาธิตัวกลมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ประเภทลิงรวมทั้งคนเป็นอย่างมาก โดยเชื้อนี้จะติดได้ทั้งทางปากและการชอนไชเข้าทางผิวหนัง อาการที่พบจะไม่แน่ชัดแต่จะมีอาการท้องเสียร่วมด้วย การไอจะพบในกรณีที่ตัวอ่อนเดินทางผ่านปอด (visceral larva migrans) ในการผ่าซากจะพบว่าลำไส้เกิดแผลหลุมและมีเลือดคั่ง ปอดจะมีเลือดคั่ง ส่วนพยาธิเต็มวัยจะฝังตัวในเยื่อเมือกของลำไส้เล็กส่วนต้น จากนั้นจะออกไข่ในเยื่อเมือก ไข่จะฟักเป็นตัวอ่อน และตัวอ่อนบางส่วนจะออกมากับอุจจาระ หรือบางส่วนอาจจะไชไปยังส่วนต่างๆของร่างกายทำให้ในบริเวณนั้นเกิดอันตรายได้ โดยในกรณีที่ผ่านผิวหนังจะพบอาการคันและเป็นผื่นแดง ผ่านปอดจะทำให้เกิดปอดบวม และในบางครั้งจะพบการตายเนื่องจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคนี้จะร้ายแรงมากในไพรเมท (DePaoli and Johnsen, 1978) การทำความสะอาดคอกอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้

Reference
- DePaoli, A. and Johnsen, D.O. 1978. Fatal strongyloidiasis in gibbon (Hyalobates lar). Veterinary Pathology 15(1) :31.

กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณ ผศ.ดร.พารณ ดีคำย้อย ภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลที่กรุณาตรวจต้นฉบับ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติทุกท่าน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่กลุ่มปาราสิตวิทยาที่ให้ความร่วมมือในการชันสูตร

Read more!

เขาหาว่าผมฆ่าช้าง..นะครับ

เขาหาว่าผมฆ่าช้าง..นะครับ


โดย: หมอจ๊อบ..ค่ะ


" พี่ต้อมอยากให้จ๊อบเอาเรื่องนี้มาเราให้พวกเรา zoo_vet ได้ทราบถึงข้อเท็จจริงกัน เพราะอย่างน้อยเรากันเอง ก็น่าจะเข้าใจกันเอง..."

...ปกติแล้วพี่ต้อมจะมีหน้าที่ต้องลงไปตรวจสุขภาพช้างในเขตพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับมูลนิธิช่วยช้างภาคใต้ เป็นประจำทุก 6 เดือนอยู่แล้ว ครั้งนี้ก็เช่นกัน เราไปจากลำปางกัน 3 คน คือ พี่ต้อม จ๊อบและ Dr. Bjarne เจ้าหน้าที่จาก RSPCA และเราลงไปภูเก็ต เพื่อเจอกับ หมอเอ สยาม ซาฟารี (vet 61) และคุณเอ เจ้า หน้าที่ประสานงานของมูลนิธิช่วยช้างภาคใต้


ในวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ย.เป็นวันแรกที่เราเข้าเยี่ยมแค้มป์ ก็ได้เจอกับปศุสัตว์อำเภอ (หมอจิรายุ) แกบอกว่าที่แค้มป์ช้างบางแป ซาฟารี มีช้างป่วยมากอยู่เชือกนึง เมื่อวานได้เข้าไปดูและรักษาไปบ้างแล้ว ยังไงถ้าเราว่าง ให้ช่วยเข้าไปดูให้หน่อย เผื่อ จะช่วยอะไรได้บ้าง


เช้าวันจันทร์ เราก็เข้าไปดูให้ แจ้งพนักงานที่เคาเตอร์ว่าหมอจิรายุบอกว่ามีช้างป่วยให้มาดูแล เจ้าหน้าที่ก็พาไปดูช้างตัวที่ป่วย ซึ่งยืนนิ่ง งวงตก หางไม่ไกว หูไม่แกว่ง และช้างอยู่ในสภาพที่ผอมมาก ขนาดที่ว่าเราให้ BCS = 1 (จริงๆ อยากจะให้ 0 ด้วยซ้ำแต่ก็เกรงใจ)


หลังจากซักประวัติจากควาญแล้ว ทราบว่าช้างเพิ่งมาจากพัทยา เมื่อประมาณ 1 เดือน โดยควาญเป็นคนไปรับช้างมาเอง ตอนแรกที่มาช้างมีสภาพผอมไม่ต่างจากนี้มากนัก แต่ยังคงกินอาหารได้ และยังสามารถรับนักท่องเที่ยวได้วันหลายรอบ ช้างเพิ่งจะมาไม่ค่อยยอมกินอาหารเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง เมื่อวานซืนหมอเพิ่งจะมาดู และได้ให้น้ำเกลือไป 4 ลิตร พร้อมกับฉีดยาให้ 2 เข็ม อันได้แก่ Catosan, PenStrep
จากการตรวจสภาพร่างกาย พบว่าช้างมีแผลเปื่อยอยู่ทั่วตัว ซึ่งควาญบอกว่าเมื่อมาถึง หมอฉีด Ivomec ให้ หลังจากนั้นอีก 3-4 วัน ก็เกิดแผลขึ้นทั่วตัว และเป็นอยู่อย่างนั้นมาจนวันนี้ (เกือบเดือน) โดยเฉพาะบริเวณหัวแล้ว เราพบแผลหลุมลึก
ค่อนข้างใหญ่อยู่ไม่ต่ำว่า 2 จุด ปากแผลเปื่อย และมีหนองเล็กน้อย นอกจากนั้นยังพบแผลเปื่อยอีกจุด คือบริเวณรอบทวารหนัก ซึ่งเป็นจุดที่มีแผลกว้างมากที่สุด

หลังจากนั้นได้พยายามล้วงก้นเพื่อจะเก็บอึ ในครั้งแรกเราไม่สามารถเก็บได้ เนื่องจากไม่พบสิ่งใดอยู่ในลำไส้เลย นอกจากนั้นยังพบว่า ภายในลำไส้ยังมีสภาพที่เย็นมากต่างจากช้างปกติทั่วไป เมื่อเก็บอึในครั้งแรกไม่ได้ เราจึงเก็บเลือดไปตรวจ (เป็นตัวเดียวที่เราเก็บในการไปภูเก็ตครั้งนี้ เนื่องจากช้างเชือกอื่นๆ ที่เราเจอทุกแค้มป์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก) แล้วเราก็ฉีดยาให้ โดยพิจารณาตามยาที่หมอเคยให้เมื่อ 2 วันก่อน ยาที่เราให้ก็คือ Pen-strep, Roborante, และ Triam เพื่อลดการอักเสบของแผลที่ผิวหนังด้วย


หลังจากให้ยาแล้ว เราได้พยายามที่จะเก็บอึอีกครั้ง ได้ออกมานิดหน่อยประมาณ ครึ่งฝ่ามือแบบางๆ ลักษณะของอึที่เก็บได้ ดูแล้วเหมือนแทบจะไม่ได้ผ่านการย่อยมาเลย เพราะหยาบมาก

ส่วนบาดแผลตามร่างกาย เราก็ช่วยกันทำแผลตามปกติ ใช้เวลากับช้างเชือกนี้มากกว่า 1ชั่วโมง ตลอดเวลาที่เราทำการรักษา ควาญจะชี้ให้ ดูความผิดปกติของช้างแทบจะตลอดเวลา เช่นว่า ขาหลังไม่ค่อยมีแรง หรือไม่ก็ คอยจะขอยาทำแผลไว้บ้าง ส่วนพนักงานที่เจอเราในตอนแรกก็ให้การต้อนรับขับสู้อย่างดี มีน้ำมาเสิร์ฟ คอย อำนวยความสะดวกในการรักษาตลอด ซึ่งหลังจากที่เรารักษาช้างเรียบร้อยแล้ว Dr. Bjarne ยังกำชับให้บอกควาญว่า หากว่างให้ควาญไปตรวจสุขภาพตัวเองด้วย เพราะควาญมีสภาพผอมโซ ดูขาไม่ ค่อยจะมีเรี่ยวมีแรง ซึ่งไม่ต่างจากช้างเท่าไรนัก จากนั้นเราก็ออกเดินทางเพื่อไปเยี่ยมช้างต่อ บริเวณเขาหลัก เขาสก ซึ่งเป็นจุดที่ บริษัทมือถือต่างๆ คงยังเข้าไปสำรวจไม่ถึง จึงทำให้โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ ไม่ สามารถติดต่อกับใครได้ จนกระทั่งเย็น เมื่อเรากลับเข้าในตัวเมือง ประมาณเกือบ 2 ทุ่ม มีคนโทรมาบอกว่า ช้างล้มอยู่ในคูน้ำ ไม่สามารถลุกขึ้นได้ เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงไปถึงแค้มป์ ระหว่างที่เราใกล้จะถึงนั้น ก็มีคน
โทรมารายงานว่า ช้างเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากเจ้าของเรียกรถเครนมายกช้างขึ้นจากคูน้ำ

เมื่อไปถึงเราพบช้างอยู่ในสภาพนอนตะแคงซ้าย บริเวณอกมีเชือกมะนิลา 2 เส้น คาดแบบสะพายแล่งอยู่ อยู่ข้างสะพานรถข้ามริมถนน รอประมาณครึ่งชั่วโมงเจ้าของจึงเดินทางมาถึง ก็ได้พยายามที่จะทำความเข้าใจกับ เจ้าของ โดยมีปศุสัตว์อำเภอเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่เป็นผล ควาญเอง ก็ต้องเอาตัวรอด โดยบอกเจ้าของว่า ได้ห้ามเราแล้วไม่ให้ฉีดยาช้าง แต่เราไม่ยอมฟัง เจ้าของเองไม่ยอมรับว่าช้างของตัวเองอยู่ในสภาพที่แย่เต็มที กลับบอก ว่า "ช้างมันจะตายวันนี้พรุ่งนี้ ก็ปล่อยให้มันตายของมันเอง นี่พวกคุณเข้ามา ฉีดยาช้างผมนั่นแหล่ะ ช้างผมถึงตายเร็วขึ้นไปอีก" และเจ้าของยังไม่ยอมให้เราผ่าซากเพื่อพิสูจน์หาความจริง โดยบอกว่า "ช้างมันตายไปแล้ว พวกคุณจะอ้างว่ามันเป็นอะไรก็ได้ ถึงทำให้ช้างตาย โดยที่ไม่ยอมรับว่ามันตายเพราะพวกคุณฉีดยา...ผมไม่เชื่อพวกคุณหรอก" เป็นอันว่าคืนนั้น เราก็ตกลงกันไม่ได้ ปศุสัตว์อำเภอจึงให้พวกเรากลับกันไปก่อน โดยบอกว่าจะช่วยคุยให้

ผลปรากฏว่า วันรุ่งขึ้นเจ้าของเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ และพานักข่าวมาทำข่าว ที่ตัวช้าง ซึ่งในขณะนั้น พวกเราก็ออก ทำงานตามโปรแกรมที่วางไว้ คือที่จังหวัดกระบี่ ตกเย็นเราถึงทราบจากปศุสัตว์อำเภอว่านักข่าวมาทำข่าวไปเรียบร้อยแล้ว
จึงออกมาเป็นข่าวให้เห็นดังที่ได้อ่านกัน เย็นวันนั้น เราเข้าไปคุยกับปศุสัตว์จังหวัด พร้อม OPD และผลเลือด ซึ่งท่านก็เข้า
ใจ และยืนยันจะช่วยไกล่เกลี่ยให้ ซึ่งวันถัดมา คือวันที่ 12 พ.ย. เจ้าของช้างได้เข้าพบปศุสัตว์จังหวัด โดยนำทนาย
ไปด้วย บอกว่าไม่ว่ายังไงก็จะฟ้องร้องให้ถึงที่สุด ปศุสัตว์ท่านก็บอกว่า ฟ้องไปก็แพ้ เพราะดูจากสภาพความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรผิด

สุดท้ายแล้ว ในวันต่อมา เจ้าของก็เข้าไปถอนแจ้งความ... และผู้ประสานงานของมูลนิธิโทรมาบอกเราในระหว่างเดินทางกลับว่า ผู้ว่าราชการ จังหวัด พร้อมด้วยปศุสัตว์จังหวัด ได้แจ้งให้ทราบว่า ในเดือนหน้าจะทำหนังสือมา เชิญพี่ต้อมกลับไปอีกครั้ง เพื่อทำการตรวจช้างทุกเชือกในภูเก็ตโดยละเอียด

....ส่วนผลการตรวจอื่นๆ จะแจ้งให้ทราบในคราวต่อไป และหากมีการตรวจพบว่า
เป็นโรคติดต่อร้ายแรง อาจมีการรายงานอย่างเป็นทางการ....!?!



Read more!

บรรพบุรุษของช้างมาจากไหน?

บรรพบุรุษของช้างมาจากไหน ?


จาก : คอลัมภ์คลื่นยาว เดลินิวส์ 23 มิ.ย. 2542 หน้า 24










นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียพบหลักฐานในตัวช้างว่า ช้างมีบรรพบุรุษเป็นวัวทะเล (SEA COW) หรือนางเงือก

วัวทะเล หรือ ตัวพะยูน หรือ นางเงือก เป็นสัตว์น้ำที่กำลังจะสูญพันธุ์ เพราะมีความเชื่องกับมนุษย์ และเคลื่อนไหวได้เชื่องช้าใน ถิ่นที่อยู่ธรรมชาติคือในน้ำ

การค้นพบใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ประกอบด้วย แอนน์ เกท (ANN GAETH) โรเจอร์ ชอร์ต (ROGER SHORT) และ มาริลัน เรนฟรี (MARILYN RENFREE) เกิดขึ้นจากการศึกษาอวัยวะ คือ ไตของตัวอ่อนช้างแอฟริกา และพบส่วนประกอบบางอย่างภายในไต ซึ่งมีอยู่เฉพาะในตัวของสัตว์น้ำมีกระดูกสันหลัง แต่ไม่พบมาก่อนใน ตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

เมื่อปี ค.ศ. 1865 นักชีววิทยาเยอรมัน ชื่อ เอิร์นต์ แฮกเคล (ERNST HAECKEL) ได้เสนอทฤษฎีว่า ตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยง ลูกด้วยนม รวมทั้งตัวอ่อนมนุษย์ด้วย มีพัฒนาการตั้งแต่การผสมกันระหว่างไข่กับสเปิร์ม จนกระทั่งเติบโตเป็นทารกเต็มตัวพร้อมจะ คลอดจากท้องผู้เป็นแม่ ที่แสดงลักษณะเฉพาะอันเป็นผลจากวิวัฒนาการอันยาวนาน...กล่าวคือตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี ลักษณะรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงตามรอยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เป็นบรรพบุรุษในอดีตมาก่อน ดังนั้นตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงเริ่มร้นจากการมีรูปร่างคล้ายปลา จากนั้นจึงเปลี่ยนรูปร่างมาคล้ายสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ต่อมาอีกจึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นคล้ายสัตว์ เลื้อยคลานและในที่สุด จึงเปลี่ยนรูปร่างเป็นลักษณะสุดท้ายของชนิดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

มาถึงปัจจุบันวงการวิทยาศาสตร์ถือว่า ทฤษฎีของเอิร์นต์ แฮกเคลไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ผิดไปเสียทั้งหมด เพราะพัฒนาการของตัว อ่อนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไปก็ผ่านระยะที่มีอวัยวะบ่งบอกถึงบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมว่าเคยใช้ชีวิตในน้ำมาก่อน หลักฐานคือร่องเหงือกที่มีอยู่กับตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคปัจจุบันนั่นเอง

สำหรับช้างกับวัวทะเล วงการชีววิทยาเชื้อกันมานานแล้วว่า มีบรรพบุรุษร่วมกัน ถึงแม้ลักษณะทางกายภาพจะแตกต่างกันอย่าง ชัดเจน ในปัจจุบันหลักฐานที่สนับสนุนมีอยู่มากทีเดียว ทั้งหลักฐานประเภทฟอสซิล และหลักฐานทางด้านพันธุกรรมคือยีนที่สะสมมาก ขึ้นในระยะไม่กี่ปีมานี้

ปัญหาที่วงการชีววิทยายังค้างคากันอยู่มากคือ บรรพบุรุษร่วมของช้างกับวัวทะเลเป็นสัตว์น้ำ ดังเช่น วัวทะเลใช่หรือไม่ ? และ เส้นทางวิวัฒนาการของช้าง จะเป็นแบบที่กลับไปกลับมาระหว่างน้ำกับบนบกใช่หรือไม่? กล่าวคือ ช้างเริ่มต้นชีวิตบรรพบุรุษเป็นสัตว์ น้ำแล้วก็ขึ้นสู่แผ่นดิน (โดยที่บรรพบุรุษเปลี่ยนจากสัตว์จำพวกปลาเป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก) จากนั้นก็หวนกลับคืนสู่น้ำอีก แล้วในที่สุด จึงขึ้นมาใช้ชีวิตเป็นสัตว์บกเต็มตัว ดังเช่นช้างในปัจจุบัน

สิ่งที่คณะวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นค้นพบ สนันสนุนเส้นทางวิวัฒนาการดังกล่าวไปแล้ว เพราะสิ่งที่พบจากการศึกษาไต ของตัวอ่อนช้างแอฟริกาคือ มีส่วนประกอบด้วย เซลล์เนื้อเยื่อเรียก นีโฟรสโทม (NEPHROSTOME) มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ รูป กรวย ซึ่งพบอยู่ในสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ไม่พบในตัวอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอาศัยอยู่บนบกมาก่อน แสดง ว่าช้างเคยมีบรรพบุรุษ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในน้ำชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมาก่อน ทั้งนี้เพราะว่าร่องเหงือกเป็นหลักฐานแสดงบรรพบุรุษ ของช้าง เคยเป็นปลามาก่อน และเนื้อเยื่อที่เป็นรูปกรวยค้นพบใหม่ ก็เป็นหลักฐานแสดงบรรพบุรุษของช้างเคยเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วย นมที่อาศัยอยู่ในน้ำมาก่อน นับเป็นหลักฐานสนับสนุนความเข้าใจว่าช้างกับวัวทะเล มีบรรพบุรุษร่วมกันอยู่ในน้ำ

ข้อมูลการค้นพบสนับสนุนทฤษฎีว่า ช้างเคยเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังอยู่ในน้ำดังเช่นวัวทะเลมาก่อน อธิบายที่มาของลักษณะ เฉพาะของช้างด้วยว่า การที่ช้างมีจมูกยาว คือ งวงช้าง ก็เพราะบรรพบุรุษของช้างเคยอยู่ในน้ำ และการมีจมูกยาวเป็นงวง ก็เป็น ประโยชน์สำหรับการหายใจขณะอยู่ในน้ำนั่นเอง...


Read more!