Tuesday, January 8, 2008

ทำยังไงดีเมื่อหมอต้องเฝ้าช้างคลอด

ทำยังไงดีเมื่อหมอต้องเฝ้าช้างคลอด

      นสพ. รณชิต รุ่งศรี *

      ผศ.นสพ. ฉัตรโชติ ทิตาราม **

      * ปางช้างแม่สา จ.เชียงใหม่

      ** สาขาวิชาคลินิกช้างและสัตว์ป่า

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      ผู้เขียนมีโอกาสได้เฝ้าช้างคลอดหลายครั้งครับ มันตื่นเต้นเหมือนกันเมื่อช้างจะคลอด สิ่งที่น่าสงสัยและน่าเศร้าก็คือมีเรื่องเล่าว่าช้างเมื่อคลอดลูกจะเจ็บและทำร้ายลูกช้างที่พึ่งเกิดเพราะคิดว่าเป็นตัวที่ทำให้แม่ ช้างเจ็บ ผลก็คือลูกช้างที่ตัวเองอุตส่าห์ตั้งท้องมาตั้ง 22 เดือน ต้องจบชีวิตลงเพราะน้ำมือ (เท้า) ตัวเอง ตัวเราเองจะสามารถเข้าไปแยกแม่ช้างออกจากลูกช้างได้หรือในเมื่อตัวเราเองก็กลัวแม่ช้างเหยียบเหมือนกัน หรือมันเป็นแค่เพียงเรื่องเล่า เราไม่ควรเข้าไปยุ่งและแทรกแซงในช่วงเวลาที่ช้างคลอด ควรปล่อยให้มีการคลอดเองตามธรรมชาติ เมื่อเราต้องมีโอกาสไปเป็นสัตวแพทย์ประจำปางช้าง โรงพยาบาลช้าง สวนสัตว์ หรือถูกขอร้องให้ไปดูแลเมื่อช้างคลอด เราควรทำอย่างไรที่จะพยายามรักษาชีวิตลูกช้างไว้ให้ได้

      ที่จะกล่าวต่อไป จะขอแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการเตรียมตัวก่อนคลอด และ การเตรียมตัวระหว่างคลอด

การเตรียมตัวก่อนคลอด

1. ประวัติการผสมของช้าง

อันนี้ต้องตรวจสอบให้ละเอียดนะครับ ถ้าได้ทราบวันที่ผสม ผสมกี่ครั้ง นานเท่าไร กับพ่อช้างเชือกไหน จะดีมาก ทำให้สามารถตรวจสอบการทำประวัติการผสมพันธุ์ได้ อย่าลืมว่าบางทีไม่ได้ผสมในช่วงเวลานั้นเวลาเดียว อาจมีช่วงอื่นอีกด้วย หรือ อาจมีช้างตัวผู้หลุดมาแอบผสมช้างตัวเมียได้เช่นกัน ต้องถามควาญช้างหรือเจ้าของช้างให้ละเอียด

2. การตรวจท้อง

      ที่นี้ถึงจุดที่สำคัญ คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าช้างท้องหรือไม่ วิธีการตรวจที่สะดวกและง่าย สามารถทำได้ในประเทศไทย คือ

1) โดยการสังเกต

      การสังเกตดูได้จากเต้านมขยาย เดินขาแกว่ง โดยลักษณะดังกล่าวจะเป็นตอนใกล้คลอด ควาญช้างที่มีประสบการณ์จะสามารถสังเกตได้ค่อนข้างถูกต้องและรวดเร็ว ทั้งนี้อย่าลืมพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นด้วย โดยเฉพาะการยืนยันด้วยวิธทางวิทยาศาสตร์

2) การตรวจฮอร์โมน

      การตรวจฮอร์โมนที่ใช้คือการตรวจระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นเวลาประมาณ 16-20 สัปดาห์ โดยต้องทำการตรวจซ้ำทุกสัปดาห์หรือทุก 2 สัปดาห์ จนระดับของฮอร์โมนสูงคงที่ ถ้าช้างไม่ท้องจะมีระดับของฮอร์โมนลดลงในช่วงเวลาที่ตรวจ โดยมักจะต่ำลงจนถึงใกล้ 0 ng/ml สามารถตรวจฮอร์โมน โปรเจสเตอโรนได้ตามห้องปฏิบัติการฮอร์โมนทั่วไปด้วยวิธี Radioimmunoassay (RIA) หรือ Electrochemiluminescense immunoassay (ECLIA) และที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสวนสัตว์เชียงใหม่ ด้วยวิธี Enzymeimmunoassay (EIA) ส่งตัวอย่าง serum หรือ plasma โดยพยายามปั่นแยกเม็ดเลือดออกให้เร็วที่สุด เพราะการทิ้งเม็ดเลือดแดงไว้กับซีรัมเป็นเวลานานจะทำให้ปริมาณฮอร์โมนลดลง

3) การตรวจด้วยเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonography)

      สามารถตรวจการตั้งท้องได้ที่ประมาณ 10 สัปดาห์ โดยสามารถมองเห็นถุงน้ำคร่ำภายในมดลูก แต่ปัญหาที่พบคือช้างไม่สามารถรับการตรวจทางทวารหนักได้ทุกตัว ส่วนมากมักเป็นช้างที่เคยฝึกหรือชินกับการล้วงตรวจมาแล้ว

3. การจัดการแม่ช้างก่อนคลอด

      เมื่อรู้แล้วว่าช้างท้องก็ต้องมาเตรียมตัวช้างเพื่อที่จะได้คลอดอย่างไม่มีปัญหา สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวและจัดการก่อนที่ช้างจะคลอดมีดังนี้

1. การหยุดงานเมื่อรู้ว่าช้างท้อง

   เมื่อทราบว่าช้างแม่พันธุ์ได้ตั้งท้องแล้ว การให้ช้างหยุดพักก่อนถึงช่วงเวลาตกลูกเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ช้างได้เตรียมตัวที่จะตกลูกและเลี้ยงลูกต่อไป ในระหว่างการพักช้างท้องนั้นจะต้องให้ช้างได้คุ้นเคยกับสถานที่ๆเตรียมไว้ให้ช้างตกลูกด้วย เพื่อไม่ให้ช้างเกิดความเครียดหรือมีอาการตื่นกลัวเมื่อใกล้เวลาตกลูก โดยทั่วไปการพักช้างท้องควรพักเมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 8-10 เดือนเป็นต้นไป จะมีประโยชน์ต่อช้างมาก จากประสบการณ์เคยพบว่าช้างแท้งตอนที่ท้องได้ประมาณ 12 เดือน เนื่องจากทำงานหนักเกินไป เช่น การแบกนั่งท่องเที่ยว หรือ ชักลากไม้ทั้งวัน

1. การให้อาหารช้างท้อง

   การจัดการ เรื่องอาหารสำหรับช้างท้องนั้น ก็ไม่มีอะไรพิเศษมากนัก เพียงแต่จัดอาหารให้ช้างท้องได้รับอย่างเพียงพอ โดยแบ่งเป็นหญ้า 70-80 % และเป็นอาหารเสริมเช่น กล้วย อ้อย หรือข้าวเหนียวนึ่งอีก 20-30 % การให้อาหารต้องให้ช้างได้กินอยู่บ่อยๆ และไม่ควรให้ในปริมาณมากเพียงครั้งเดียว จะทำให้สูญเสียอาหารโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ควรให้ช้างท้องที่เตรียมคลอดอ้วนจนเกินไป ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์พอควรเท่านั้น

1. การเตรียมพื้นที่สำหรับช้างคลอด

   พื้นที่สำหรับการจะให้ช้างตกลูก จะต้องเป็นพื้นที่ๆช้างท้องสามารถพักได้เป็นเวลานาน ไม่เกิดความเครียด และควรเป็นพื้นที่ๆสะอาด ปลอดโปร่งมีการระบายน้ำ ระบายอากาศได้ดี ไม่เป็นที่น้ำท่วมถึง รวมถึงไม่เป็นที่ลาดชันหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง หรือลำคลอง จนเกินไป พื้นควรเป็นดินอัดหรือมีการปูด้วยวัสดุธรรมชาติเช่นฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง เพราะหากช้างตกลูกแล้วจะทำการเคลื่อนย้ายลูกช้างและแม่ช้างได้ลำบากโดยเฉพาะในยามค่ำคืนและเป็นช่วงที่ลูกช้างยังไม่แข็งแรงพอที่จะเดินไปไหนได้ไกลๆ ไม่ควรเป็นพื้นคอนกรีต เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อลูกช้างเนื่องจากร่างกายลูกช้างยังบอบบางนัก

   การเตรียมพื้นที่ ต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆทั้งทางกายภาพของพื้นที่และยังต้องคำนึงถึงด้านจิตใจของช้างด้วย อีกประการหนึ่งที่จะขาดไม่ได้เลยนั่นคือ ความสะดวกปลอดภัยในการปฏิบัติงานของทีมงาน ทั้งสัตวแพทย์ และผู้ช่วยสัตวแพทย์รวมถึงควาญช้าง ด้วย

1. การเตรียมคอกสำหรับช้างแม่-ลูกอ่อน ก่อนตกลูก

   คอกสำหรับช้างท้องก่อนตกลูกนั้นก็จำเป็นเช่นกัน ซึ่งหากเมื่อลูกช้างตกลูกการทำคอกกั้นนั้นจะยากกว่าการทำคอกไว้ล่วงหน้า ซึ่งขนาดของคอกควรเป็นคอกที่กว้าง และทำจากวัสดุที่แข็งแรง ไม่มีส่วนที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อแม่และลูกช้าง เช่นตะปูหรือเหล็กแหลม โดยทั่วไปคอกสำหรับช้างควรมีขนาด 8 x 8 เมตร หรือมากกว่า ซึ่งเมื่อช้างตกลูกแล้ว ลูกช้างจะแข็งแรงพอที่จะเดินไปมาสะดวกและไม่ตื่นกลัวจนเกินไป นั้นต้องใช้เวลาประมาณ ½ - 1 เดือน และจะเริ่มเล่นซน วิ่งไปมาอยู่ใต้ท้องแม่ช้างและพยายามใช้งวงและขาทั้งสี่คอยเล่นกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นควาญพี่เลี้ยง หรือผู้คนที่อยู่แวดล้อมรวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นคอกสำหรับช้างแม่ลูกจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะในกรณีที่ช้างอยู่ในแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชม สำหรับคอกที่ใช้ในการจัดแสดงตอนกลางวันนั้นอาจจะอยู่ในโรงเรือน ใต้ร่มไม้หรือกลางแจ้งก็ได้ และจะต้องทำความสะอาดง่าย ไม่ชื้นแฉะ และอากาศต้องถ่ายเทได้ดี

   ที่นี้เมื่อถึงเวลาที่สำคัญแล้วว่าช้างจะคลอด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าช้างจะคลอดเมื่อไรตามปกติช้าง

มักจะคลอดลูกในเวลากลางคืน แต่ก็มีบ้างที่คลอดในช่วงเวลากลางวัน ก่อนคลอดลูก แม่ช้างจะมีอาการหงุดหงิด ไม่ค่อยกินอาหาร ก่อนคลอด 12-24 ชั่วโมงจะมีเมือกเหนียวใสไหลออกมาทางช่องคลอด ถ้าช้างเชือกใดที่มีการตรวจระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมาตลอด เมื่อใกล้ครบกำหนดคลอด อาจเพิ่มความถี่ในการตรวจมากขึ้นโดยอาจตรวจทุกวัน (ถ้างบประมาณเพียงพอ) โดยส่วนมากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลงจนถึงใกล้ 0 ng/ml ประมาณ 1-3 วันก่อนคลอด จากประสบการณ์มีช้างบางเชือกก็มีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนลดลงหลังคลอด

การเตรียมตัวระหว่างคลอด

      ในธรรมชาติช้างเอเชียเมื่อแม่จะคลอดลูก ช้างจะมีสัญชาตญาณในการหาเพื่อนมาคอยช่วยเหลือในการคลอดและดูแลลูกช้าง เรียกว่า "แม่รับ" โดยมากมักเป็นช้างพังที่มีความสนิทสนมกัน ช้างพังจะช่วยคลอด ฉีกรก แยกแม่ที่มีความเครียดและหงุดหงิดออกจากลูกช้างที่เกิดใหม่ และอาจให้นมลูกช้างในช่วงแรกด้วย แต่ในปัจจุบันลักษณะการเลี้ยงและการจัดการทำให้ระบบการใช้แม่รับในช้างลดน้อยลงหรือเหลือเพียงบางแห่งเท่านั้น เพราะการนำช้างพังเชือกอื่นที่ไม่ได้มีความใกล้ชิดกันมาอยู่ด้วยกัน อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นหน้าที่ในการคอยดูแลแม่ช้างและลูกช้างจึงตกมาอยู่ที่ควาญช้างและหมอช้างอย่างเราๆนี่แหละ สิ่งสำคัญหลายประการที่เราจะต้องเตรียมมีดังนี้ 

1. บริเวณที่ช้างคลอด

   บริเวณที่เตรียมให้ช้างตกลูก จะต้องเตรียมไว้ตั้งแต่เริ่มพักแม่ช้างโดยจะต้องเป็นที่ๆทำความสะอาดง่าย โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ทำระบบระบายน้ำไว้โดยรอบ ยิ่งโดยเฉพาะฤดูฝน เพราะช้างต้องใช้ชีวิตอยู่กับที่เป็นเวลานาน ซึ่งหากพื้นสกปรกและหมักหมม จะทำให้เกิดปัญหากับแม่และลูกช้างได้ เช่น เท้าเน่า ผิวหนังเหนือเล็บและซอกเล็บอักเสบ เป็นต้น

      ในส่วนความพร้อมอื่นๆ เช่นถังน้ำสำหรับให้แม่ช้างกิน และไฟฟ้าส่องสว่าง ในกรณีฉุกเฉิน รวม

   ไปถึงอุปกรณ์ในการตัดโซ่ โซ่สำรองและอุปกรณ์เสริมอื่นๆก็ควรเตรียมให้พร้อมเสมอ

1. ผู้ที่จะช่วยช้างคลอด

   ควาญช้างจัดได้ว่าเป็นผู้ช่วยหมอได้ดีที่สุดในยามที่ช้างตกลูก โดยเฉพาะควาญที่มีประสบการณ์ในการเฝ้าช้างตกลูกมาหลายครั้งและหากได้รับการอบรมเพิ่มเติม จะทำให้การปฏิบัติงานได้ผลดีมากขึ้น โดยเมื่อพบว่าช้างมีอาการผิดปกติ ควาญช้างจะต้องรีบแจ้งให้สัตวแพทย์ที่ดูแลทราบ เพื่อที่จะได้เฝ้าอาการและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงในขั้นตอนการตกลูกในช่วงเวลาต่างๆ เพราะหากไม่ทราบการเปลี่ยนแปลงจะทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้ อีกทั้งการเฝ้าสังเกตอาการของควาญนั้นจำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานด้านพฤติกรรมของช้างด้วย ซึ่งจำเป็นจะต้องเป็นคนที่มีความรู้พอสมควร หรืออาจจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเฝ้าช้างตกลูกนั่นเอง ซึ่งต้องมีการวางแผนและซักซ้อมการปฏิบัติงานในขณะช้างตกลูกให้รอบคอบรัดกุม ซึ่งการจัดแบ่งหน้าที่นั้นจำเป็นมาก เพราะในช่วงเวลาสำคัญ คือช่วงที่ช้างตกลูกนั้นจะไม่มีเวลาหรือสมาธิพอที่จะจัดการได้ หากเกิดเหตุโกลาหล โดยสัตวแพทย์จะต้องเป็นผู้ควบคุมและดูแลทุกขั้นตอน เช่นหากเกิดความเข้าใจผิดในกรณีที่แม่ช้างใช้เท้าหรืองวงเตะลูก หากเข้าใจว่าแม่ช้างจะทำร้ายลูก อาจจะเป็นการเพิ่มความรุนแรงของสถานการณ์ได้ จึงจำเป็นจะต้องวางแผนและคอยควบคุมอย่างใกล้ชิด

      เมื่อใกล้คลอดช้างจะแสดงอาการกระสับกระส่าย อุจจาระและปัสสาวะบ่อยขึ้น เจ็บปวด ส่งเสียงร้อง มีการเบ่งเป็นระยะ ผุดลุกผุดนั่งและนอน ในช่วงเวลานี้ไม่ควรไปรบกวนอาจทำให้มีปัญหาตามมาได้ ในช่วงนี้ระยะเวลาจะแตกต่างกันแล้วแต่ตัวช้าง โดยถ้าเป็นช้างที่เคยมีลูกมาแล้วจะค่อนข้างเร็ว แต่ถ้าเป็นช้างสาวจะกินเวลานาน

      เมื่อถึงเวลาคลอดลูก ช้างจะเบ่งลูกออกมาตาม Urogenital canal ซึ่งสามารถสังเกตได้ชัดบริเวณก้นของช้างและจะค่อยๆเคลื่อนลงมาตามแรงเบ่ง จากนั้นถุงน้ำคร่ำ (amniotic sac) จะแตกออกโดยที่มีน้ำคร่ำปริมาณมากไหลออกมา จากนั้นจะเห็นส่วนของลูกช้างโผล่มาบริเวณช่องคลอด ช้างจะมีการย่อตัวลง กางขาออก และเบ่ง เพื่อลดความสูงที่ลูกจะตกถึงพื้น จากนั้นลูกก็จะคลอดออกมาโดยมีส่วนของเยื่อหุ้มติดออกมาด้วย ท่าที่คลอดเป็นได้ทั้งการเอาส่วนหน้าและส่วนท้ายออก (Anterior and posterior presentation) โดยมักเป็นท่าเอาส่วนท้ายออกมากกว่า

      เป็นที่เล่าต่อกันมาว่าแม่ช้างบางเชือกจะหงุดหงิดจากการคลอดลูกและจะไปทำร้ายหรือฆ่าลูกตัวเอง จากประสบการณ์ของผู้เขียนและที่ได้ยินมาว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แม่ช้างจะหงุดหงิด ร้อง และอาละวาดเนื่องมาจากคนไปกันแม่จากลูกและกลัวว่าลูกจะถูกทำร้าย รวมทั้งช้างหงุดหงิดเหยียบลูกตัวเองเช่นเดียวกัน โดยผู้เขียนพบแม่ช้าง 2 เชือกเหยียบลูกตาย ในช่วงที่ไม่มีควาญอยู่ใกล้

      เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วจากนั้นแม่จะใช้งวงดูดเอาเมือกออกจากปากและงวงของลูก กระตุ้นการหายใจโดยการเตะและเหยียบที่ช่องอกของลูกช้างไปมา ซึ่งเมื่อคนเราดูอาจนึกว่าลูกช้างถูกทำร้ายได้ จากนั้นแม่จะพยายามให้ลูกยืนและดูดนมจากแม่ ลูกช้างควรจะยืนเองได้ และจะเข้าไปใช้ปากดูดนมแม่ แม่ที่ดีควรจะย่อตัวลงมาเพื่อให้ลูกดูดนมได้สะดวก ในช่วงแรกควรให้ลูกช้างดูดนมโดยเร็วเพราะจะเป็นนมน้ำเหลืองซึ่งประกอบด้วย Immunoglobulin ที่สามารถดูดซึมในระบบทางเดินอาหารในช่วงแรก ควรให้ลูกช้างดูดนมแม่ภายใน 24 ชั่วโมง รกควรถูกขับออกมาภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด ในบางครั้งรกอาจไม่ออกมาหรืออกมาแล้วค้างอยู่ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหามดลูกอักเสบหรือติดเชื้อตามมาทีหลังได้

บทบาทของสัตวแพทย์ในการประเมินระหว่างช้างคลอด

1. หน้าที่ของสัตวแพทย์ในการกำกับดูแลระหว่างช้างคลอด

      สัตวแพทย์ ผู้ควบคุมดูแลช้างตกลูกจะต้องเข้าใจธรรมชาติของการตกลูกในช้างเสียก่อน และจะต้องอธิบายและทำความเข้าใจกับทีมงานหรือผู้ช่วยให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วช้างท้องที่ได้รับการดูแลจัดการในระหว่างท้องอย่างดีและเป็นระบบนั้น มักจะไม่มีปัญหาในระหว่างตกลูก และหน้าที่หลักของสัตวแพทย์คือ ควบคุมกำกับไม่ให้เกิดการรบกวนช้างและเฝ้าดูอาการของแม่ช้างและจดบันทึก เท่านั้นเอง ซึ่งปัญหาที่พบส่วนมากมักเป็นการรบกวนแม่ช้างจากสิ่งแวดล้อม มากกว่า เช่น ผู้คนที่สนใจในการเฝ้าชมช้างตกลูก หรือเสียงที่ดังเกินไป ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้สัตวแพทย์ที่เฝ้าดูแลจะต้องชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน

2. อุปกรณ์เวชภัณฑ์ ที่ควรเตรียมระหว่างช้างคลอด

      ก่อนช้างจะตกลูก สัตวแพทย์จะต้องเตรียมเวชภัณฑ์ ไว้ในกรณีที่จะต้องใช้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ช้างคลอดยาก ช้างเสียเลือดจากการฉีกขาดของช่องคลอด หรือ ในกรณ๊อื่นๆ โดยเวชภัณฑ์ที่จำเป็นมีดังนี้

1) สารน้ำชนิดต่างๆ เช่น Normal Saline, D-5-S, D-5W, Acetate Solution etc.

2) Oxytocin   ในกรณี ที่แม่ช้างไม่มีแรงเบ่ง หรือรกไม่หลุดหลังตกลูก 6- 12 ชั่วโมง

3) Adrenaline  ในกรณีที่ช้างเลือดไหลไม่หยุด

4) Transmin  ในกรณีที่ช้างเลือดไหลไม่หยุด

5) Vitamin K  ในกรณีที่ช้างเลือดไหลไม่หยุด

6) Dexamethasone  ในกรณีช็อค

7) Antibiotic  ในกรณีมีการฉีกขาดของช่องคลอด หนือมีการติดเชื้อ 

8) Antiseptic , Tincture iodine ในกรณีมีแผล และใส่สะดือลูกช้าง

9) อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เช่น กระบอกฉีดยา เข็มเบอร์ 18G สำลีแอลกอฮอล์ ถุงมือ อุปกรณ์

ศัลยกรรม เป็นต้น

3. การประเมินสภาพของช้างในระหว่างคลอด

   การประเมินตัวช้างระหว่างคลอดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการตัดสินใจหลายอย่าง นี่คือระยะเวลาและเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจว่าสัตวแพทย์อย่างเราอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยชีวิตลูกช้างหรือแม่ช้าง

1) ช้างควรคลอดลูกภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังเกิดการเบ่ง

   2) ลูกช้างควรถูกขับออกมาภายใน 2 ชั่วโมงหลังถุงน้ำคร่ำแตก

3) ลูกช้างควรคลอดภายใน 5 วันหลังจากระดับ โปรเจสเตอโรน ลดลงถึงใกล้ 0 ng/ml

   สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกช้างไม่ถูกขับออกมาตามเวลาที่กำหนด คือ

1. ภาวะมดลูกล้า (Uterine inertia)

2. ภาวะคอมดลูกไม่ขยาย (No relaxation of cervix)

3. ภาวะแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ (Hypocalcemia)

4. ความผิดปกติของลูกช้าง เช่น ลูกผิดท่า ลูกมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ลูกตายในท้อง ฯลฯ

   ซึ่งสาเหตุดังกล่าวที่ได้กล่าวมาอาจจะทำให้เกิดภาวะคลอดยากขึ้นมาได้ ดังนั้นวิธีการประเมินในเบื้องต้นที่ได้กล่าวมาเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการช่วยชีวิตลูกช้างและแม่ช้าง ถ้าไม่มีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นตามเกณฑ์ต่างๆมาแล้ว สัตวแพทย์ควรพิจารณาและช่วยเหลือในการคลอด สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคืออุปกรณ์ที่จะใช้ในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความมั่นในในการประเมินสภาพของความผิดปกติที่จะเกิดขึ้น อุปกรณ์ดังกล่าว (ถ้าเป็นไปได้) คือ

1. Ultrasonography เพื่อประเมิน relaxation of cervix

   2) Endoscope เพื่อประเมินลักษณะและท่าของลูกช้าง

   3) ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในกระแสเลือด

   4) ระดับแคลเซียมในกระแสเลือด

4. การพิจารณาให้การช่วยเหลือกรณีช้างมีปัญหาระหว่างคลอด

      ในส่วนของช่วยเหลือหรือการรักษาสามารถทำได้โดยควรมีการประเมินจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อความมั่นใจและความถูกต้องในการรักษา เช่น

1. การให้ Calcium ทั้งโดยการฉีดและการกิน เพื่อเพิ่มการบีบตัวของมดลูก

2) การให้ Estradiol ทางทวารหนักและการฉีด เพื่อขยายคอมดลูก

3) การให้ Oxytocin โดยการฉีด ข้อควรระวังในการให้ Oxytocin คือ Oxytocin จะไม่สามารถออกฤทธิ์

ได้ถ้าไม่มี estradiol นำก่อน (estradiol ไปกระตุ้นการสร้าง oxytocin receptor) และ ต้องพิจารณาว่าคอมดลูกเปิดและลูกไม่ผิดท่าหรือใหญ่เกินไป การใช้ oxytocin จะกระตุ้นการบีบตัวของมดลูก จึงทำให้มดลูกแตกได้

      ในกรณีที่ลูกไม่สามารถคลอดออกมาได้เป็นเวลานาน เกิดการผิดท่า ลูกมีขนาดใหญ่ และอื่นๆ อาจต้องพิจารณาการผ่าช่วยคลอดทาง Urogenital canal โดยวิธี Episiotomy หรือ Vestibulotomy ซึ่งต้องใช้ทีมงานสัตวแพทย์ที่มีความพร้อม ซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ส่วนการผ่าตัดเอาลูกออกทางท้อง (cesarean section) จะไม่แนะนำในช้างเนื่องจากมีการรายงานหลายครั้งในต่างประเทศพบว่าแม่ช้างตายหมดทุกเชือกหลังการผ่าตัด

      สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ เราเองสัตวแพทย์ต้องเป็นผู้ประเมินสภาพของแม่ช้างและลูกช้างในการช่วยเหลือ ในบางครั้งอาจต้องมีการตัดสินใจว่าจะรักษาชีวิตของแม่ช้างหรือลูกช้างไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าของและคำแนะนำของเราครับ ขอให้มีหยุดคิดอย่างมีสติและใช้สิ่งที่เราเรียนและศึกษามา ขอให้เก็บประสบการณ์ที่ได้มาได้ใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดนะครับ

รายงานการตกลูกของช้างจากปางช้างแม่สา

      ต่อไปที่จะกล่าวเป็นรายงานการตกลูกของช้างที่ได้มีการบันทึกไว้ ผู้เขียนหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จะต้องเฝ้าช้างคลอดและสามารถช่วยชีวิตแม่ช้างและลูกช้างได้

1. รายงานการตกลูกของช้างพังสมนึก วันที่ 21 มิถุนายน 2547

แม่พันธุ์   พังสมนึก อายุ 38 ปี แม่ช้างในโครงการส่งเสริมสืบสานสายพันธุ์ช้างไทย

พ่อพันธุ์   สีดอดอ อายุ 41 ปี

ผสมเมื่อ   วันที่ 25-30 สิงหาคม 2545

วัน-เวลา ตกลูก  วันที่ 21 มิถุนายน 2547 เวลา 1.55 น.

ลูกช้างเพศผู้  น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 90 กิโลกรัม ส่วนสูง 97 เซนติเมตร 

      นับเป็นช้างเชือกที่ 10 ของโครงการส่งเสริมสืบสานสายพันธุ์ช้างไทย

การแสดงอาการก่อนตกลูกของแม่ช้าง

เวลา    อาการ

1. น. เริ่มมีเมือกเหนียวขุ่นออกจากอวัยวะเพศ เปื้อนที่ขาหลังทั้งสองข้าง

2. น. กินหญ้ากินอาหารเป็นปกติ เริ่มปัสสาวะและอุจจาระถี่ขึ้น

19.30 น. ช้างกินอาหารได้เป็นปกติ อุจจาระปัสสาวะบ่อยและ มีเมือกหลังปัสสาวะออกมาเป็นระยะๆ

22.00 น. เริ่มเบ่งบ่อยขึ้น อุจจาระปัสสาวะถี่ขึ้น มีเมือกเยิ้มระหว่างขาหลัง

00.25 น. เริ่มแสดงอาการเบ่ง และเห็นตัวลูกช้างผลุบโผล่ตรงด้านท้ายเล็กน้อย

01.00 น. แสดงอาการเบ่งบ่อยขึ้น

01.20 น. มองเห็นตัวลูกช้างเคลื่อนที่มาอยู่ส่วนท้ายมากขึ้น

01.55 น. แม่ช้างใช้เวลาในการเบ่งครั้งสุดท้าย1-2 นาที ถุงหุ้มลูกช้างก็โผล่พ้นจากอวัยวะเพศ และหลุดออกจากช่องคลอด ในท่าเอาขาหลังออก (ท่าปกติ)

01.56 น. ถุงหุ้มลูกช้างฉีกเอง และแม่ช้างพยายามใช้ขาหลังเขี่ยลูกช้างให้ลุกขึ้น

01.57 น.  ลูกช้างตัวอ้วน เริ่มขยับจะลุกยืน แม่ช้างพยายามเข้าคร่อมและใช้งวงพยุงลูกช้าง

01.59 น.  ลูกช้างลุกขึ้นยืนและล้มสลับไปมา แม่ช้างแสดงอาการหวงลูกมาก และพยายามใช้

      งวงและขาหลังพยุงตลอด

02.05 น. ลูกช้างลุกขึ้นยืนได้นิ่งและเริ่มขยับเดินเอง

02.30 น. ลูกช้างเริ่มเดินวนไปมาได้ไกลขึ้น แม่ช้างแสดงอาการหวงลูก ลดลง

02.40 น. เริ่มให้อาหารแม่ช้าง แม่ช้างกินหญ้าได้ตามปกติ

03.30 น. ลูกช้างรู้ตำแหน่งของเต้านมแม่ ลูกช้างเริ่มดูดนม

04.00 น. รกช้างหลุดออกมาจากช่องคลอดแม่ช้าง

05.00 น. ลูกช้างแข็งแรงดีมาก และเริ่มดูดนมมากขึ้น

2. รายงานการตกลูกของช้างพังหนุงหนิง 

แม่พันธุ์   พังหนุงหนิง  อายุ 10 ปี

พ่อพันธุ์   พลายจัมโบ้ บี   อายุ 28 ปี

ผสมเมื่อ   8 – 16 เมษายน 2544

วัน-เวลา ตกลูก  วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 23.40 น.

ลูกช้างเพศผู้  น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 80 กิโลกรัม

      เป็นการตั้งท้องครั้งแรก จากการผสมครั้งแรก

พักช้างเมื่อเดือน กรกฎาคม 2545 เมื่ออายุตั้งท้อง 15 เดือน

      เวลา   อาการ 

      15.00 น  แสดงอาการปวดเบ่งและ มีน้ำเมือกใสไหลออกจากอวัยวะเพศ

      17.00 น.  เมือกปิดปากมดลูกหลุดออกมาเป็นก้อน(สีขาวขุ่น)

      20.00 น.  เริ่มกระวนกระวายมากขึ้น ผุดลุกผุดนั่ง

      22.30 น.  เริ่มเบ่งมากขึ้น พบว่าตัวลูกช้างมาตุงที่ด้านท้ายของแม่ช้าง

      23.40 น.  เบ่ง 3 – 4 ครั้ง ตกลูกออกมาเป็นช้างเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม

      02.30 น.  รกหลุด สมบูรณ์แบบ

3. รายงานการตกลูกของช้างพังสวย  อายุ 22 ปี

พ่อพันธุ์   สีดอใหญ่  อายุ 41 ปี

ผสมเมื่อ   วันที่ 4-6 กันยายน 2545

วัน-เวลาตกลูก  วันที่ 24 มิถุนายน 2547 เวลา 14.40 น.

ลูกช้างเพศผู้  น้ำหนักแรกเกิดประมาณ 95 กิโลกรัม ส่วนสูง 100 เซนติเมตร 

      นับเป็นช้างเชือกที่ 11 ของโครงการส่งเสริมสืบสานสายพันธุ์ช้างไทย

การแสดงอาการก่อนตกลูกของแม่ช้าง

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2547

เวลา    อาการ

19.30 น.  ช้างกินอาหารน้อยลง อุจจาระปัสสาวะบ่อย กระสับกระส่ายเล็กน้อย

22.00 น. ไม่พบว่ามีสิ่งคัดหลั่งใดๆ

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2547

เวลา    อาการ

1. น. กระวนกระวายผุดลุกผุดนั่ง

2. น. กินหญ้ากินอาหารลดลง เริ่มปัสสาวะและอุจจาระถี่ขึ้น

12.30 น. เริ่มเบ่งมากขึ้น ยังไม่พบเมือกออก

13.05 น. เริ่มเบ่งบ่อยขึ้น อุจจาระปัสสาวะถี่ขึ้น พบว่าลูกช้างเริ่มเคลื่อนออกมาที่ด้าน

      ท้ายของแม่ช้าง

13.25 น. เบ่งเป็นระยะ และเห็นตัวลูกช้างผลุบโผล่ตรงด้านท้ายมากขึ้น

14.05 น.  มองเห็นตัวลูกช้างเคลื่อนที่มาอยู่ส่วนท้ายมากขึ้น

14.40 น. แม่ช้างใช้เวลาในการเบ่งครั้งสุดท้าย1 นาที ถุงหุ้มลูกช้างก็โผล่พ้นจากอวัยวะเพศ และหลุดออกจากช่องคลอด ในท่าเอาขาหลังออก (ท่าปกติ)

14.45 น. ถุงหุ้มลูกช้างฉีกเอง และแม่ช้างพยายามใช้ขาหน้าเขี่ยลูกช้างให้ลุกขึ้น

14.47 น.  ลูกช้างตัวอ้วน เริ่มขยับลุกยืน แม่ช้างพยายามใช้งวงพยุงลูกช้าง

14.50 น.  ลูกช้างลุกขึ้นยืนและล้มสลับไปมา แม่ช้างแสดงอาการหวงลูกมาก และพยายามใช้งวง

      และขาพยุงตลอด

15.02 น. ลูกช้างลุกขึ้นยืนได้นิ่งและเริ่มเดินไปมา

15.05 น. ลูกช้างเริ่มเดินวนไปมาได้ไกลขึ้น และเริ่มดูดนมเป็นครั้งแรก

15.10 น. เริ่มให้อาหารแม่ช้าง แม่ช้างกินหญ้าได้ตามปกติ

15.30 น. ลูกช้างรู้ตำแหน่งของเต้านมแม่ ลูกช้างดูดนมได้มากและนานขึ้น

19.09 น. รกช้างหลุดออกมาจากช่องคลอดแม่ช้าง

19.30 น. ลูกช้างแข็งแรงดีมาก แม่ช้างมีอาการทั่วไปปกติดี





7 comments:

STAROORT --Endless passion in Scientific world said...

ขออนุญาตินำข้อความไปเป็นบันทึกใน บล็อคส่วนตัวค่ะ
ด้วยความเคารพ
staroort

Anonymous said...

ได้เลยครับ แล้วช่วยอ้างอิงผู้เขียนด้วยนะครับ

StarlINg said...

เอ...รกของช้างนี่เป็น type ไหนครับ
จะเหมือนของม้ารึเปล่า

Anonymous said...

รกช้างเป็นแบบ zonary endotheliochorial placenta ครับ เหมือนในสุนัข และแมว
รายละเอียดเพิ่มเติมการเปรียบเทียบในสัตว์อื่นดูที่
http://www.vivo.colostate.edu/hbooks/pathphys/reprod/placenta/structure.html

Anonymous said...

ขอสอบถามคุณหมอช้างเพิ่มเติมสักนิดว่า..น้องพังที่ตั้งท้องประมาณ 3 เดือนควรหยุดทำงานแล้วใช่ไหมคะ? พอดีญ.ไปโรงถ่ายหนังนเรศวร 3 ที่กาญจนบุรีมาแล้วได้คุยกับควาญเห็นว่าตั้งท้อง 3 เดือนแล้วแต่ก็แปลกใจว่าทำไมยังให้น้องพังมาตรากตรำถ่ายทำหนังในตอนยุทธหัตถี ตามท้องเรื่องเป็นช้างทรงกษัตริย์พม่าซะด้วย อย่างนี้น้องพังจะเป็นอันตรายไหมคะ?

Anonymous said...

ขึ้นอยู่กับการจัดการของควาญช้างและกองถ่ายครับ ถ้างานไม่หนักมากก็ไม่มีปัญหา ทางที่ดีก้ควรหยุดพักก่อนดีกว่า โอกาสแท้งก็มีโดยเฉพาะช่วงต้นๆ เหมือนในคนแหละครับ

เพียงแต่ว่า.....ท้องจริงหรือเปล่าเท่านั้นแหละ ดูว่าช้างท้องหรือเปล่ายากมากกกกก โดยเฉพาะในช่วงแรกของการตั้งท้อง แค่บอกว่าผสมไปแล้วจะติดหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะว่าถ้าผสมไม่ตรงช่วงตกไข่ก็ไม่ได้ลูกเช่นเดียวกัน ต้องตรวจท้องดูครับ การตรวจท้องก็ไปอ่านได้ที่เขียนไปแล้ว

YingeXtreme said...

ขอบพระคุณค่ะพี่หมอบิ๊ค..(อยากจะแซวใจจะขาดนะเนี่ย! อิอิ) พอดีว่าญ.อยากจะทราบว่าเราสามารถทดสอบการตั้งครรภ์ของช้างจากปัสสาวะ เหมือนกับของคนที่มีชุดทดสอบการตั้งครรภ์อ่ะค่ะ เหะๆๆ พี่หมองงมะเนี่ย! หรือเอาชุดทดสอบการตั้งครรภ์ของคนไปใช้ทดสอบกับน้องพังว่าตั้งครรภ์ได้หรือเปล่าคะ? พี่หมอบิ๊ค