Thursday, January 31, 2008

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเม่นแคระ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเม่นแคระ
น.สพ.เชาวพันธ์ ยินหาญมิ่งมงคล
 
สวัสดีครับวันนี้เราจะมาพูดถึงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษกันอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในบ้านเราอีกชนิดก็คือ เม่นแคระ หรือ Hedgehogs นั่นเอง  เสน่ห์ของเจ้าตัวเม่นแคระนี่อยู่ที่มีหนามแหลมและขี้เล่น ซึ่งในการ์ตูน เรื่อง Peter Rabbit ก็จะมีการ นำตัวเม่นแคระนี่เองไปเป็นตัวละควร ชื่อ Mrs. Tiggy-winkle  เช่นเดียวกับในเกมส์ หลายๆเกมส์ที่มีตัวละครเอกเป็นเม่นแคระ เช่นเกมส์  Sonic นั่นเอง 

 เจ้าตัวเม่นแคระนี้มีแหล่งที่มามา หลักๆ อยู่ สองที่คือ ยุโรป(Brown European hedgehog) และ แอฟริกา (Africa pygmy hedgehog) ในที่นี้เราจะพูดถึงเม่นแคระที่มาจาก แอฟริกานั้นเนื่องจากว่าเป็นที่นิยมเลี้ยงมากกว่าในประเทศไทย  โดยลักษณะหน้าตาของเค้านั้นจะคล้ายกับหนูหรือตัวแรคคูน และชอบทำจมูกกระดุกกระดิก ไปมา ลำตัวจะมีหนามแหลม ซึ่งจะมีสีแตกต่างกันไป  ทั้งผิวหนังและสีขน เช่นตัวสัดำ หรือสีน้ำตาล จนไปถึงขาว เช่นเดียวกับหนามบนลำตัว ซึ่งก็จะมีตั้งแต่สี ขาว สีน้ำตาล และดำ หรือ ผสมกัน ตามความหนาแน่นของหนาม และบางทีอาจจะเม่นที่มีลักษณะ ตาสีแดงและขนสีขาวได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะนี้จะเป็น เม่นเผือก (Albino)  

โดยธรรมชาติ เม่นแคระเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน ( nocturnal)  แต่เมื่อเรานำมาเลี้ยง เม่นแคระสามารถปรับตัวได้ดีโดยสามารถใช้ชีวิตในเวลากลางวันได้เป็นปกติและจะ แอคทีฟ มากกว่าปกติในเวลากลางคืน  เม่นแคระเป็นสัตว์  ที่สามารถนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้ดีเนื่องจากปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี และผู้เลี้ยงสามารถ จับอุ้มเล่น หรือมีกิจกรรมต่างๆร่วมกันได้ด้วย    โดยถ้าเราเลี้ยงตั้งแต่ๆเด็ก เม่นแคระจะติดเราและไม่แสดงอาการหวาดระแวงต่อผู้คนด้วย  

ที่อยู่อาศัยและอาหารการกิน ก็ไม่ยากจนเกินไปสำหรับผู้เริ่มต้นหัดเลี้ยงใหม่ๆ โดยที่อยู่อาศัย อาจจะทำเป็นกรง แต่ไม่ควรจะเป็นกรงลวด เพราะว่าอาจจะบาดขาหรือถ้าเป็นร่องก็อาจจะทำให้ตกไปในร่องได้เช่นกัน ส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงในเมืองไทย นิยมใช้กล่องพลาสติกขุ่น หรือทึบแสง ขนาดใหญ่ หรือ ตู้ปลา ที่เปิดข้างบนโล่ง  โดยถ้าเป็นกล่องอาจจะมีการเจาะรูรอบด้านเพื่อระบายอากาศ โดยที่นิยมให้เป็นกล่องทึบแสงเนื่องจากว่าเม่นเป็นัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน แต่ถ้าต้องการใช้เป็นกล่องใสก็ได้แต่ควรจะมี ที่หลบซ่อนตัวให้เม่นได้หลบบ้าง (Hiding box) โดยส่วนใหญ่แล้ว ควรจะจัดพื้นที่ประมาณ 4 ตร.ฟุต ต่อตัว แต่ถ้าเลี้ยงหลายตัวอาจจะเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม  และกล่องที่เลี้ยงควรจะมีความสูง เพราะว่าเม่นแคระชอบปืนป่ายอาจจะทำให้หลุดได้ง่าย และนอกจากปืนป่ายแล้วยังชอบขุดอีกด้วย ดังนั้นอาจจะต้องใส่สิ่งปูรองนอนเช่น ให้สูงอย่างน้อย 10 เซ็นติเมตรด้วย เพื่อจะได้ให้เค้าได้รู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติ  แต่ในความเป็นจริงผู้เลี้ยงมักจะไม่ใส่ให้สูงขนาดนั้นเนื่องจากสิ้นเปลืองและทำความสะอาดยาก  และมักจะมองไม่เห็นตัวเม่น 

สิ่งปูรองที่มักจะนิยมใช้คือ ขี้เลื่อย ซึ่งจะสามารซับกลิ่นได้ในระดับหนึ่งแต่มักจะต้องเปลี่ยนหรือทำความสะอาดบ่อยๆไม่เช่นนั้นแล้วจะมีสิ่งสกปรกหมักหมมทำให้เม่นแคระมีปัญหาของโรคผิวหนังหรือปัญหาทางระบบทางเดินหายใจตามมา 

ในกรงอาจจะต้องหาของเล่นต่างๆใส่ไว้ให้ด้วย เพื่อให้เม่นได้เล่นจะได้ช่วยลดความเครียด ได้ ของเล่นเช่น ขอนไม้  ลูกบอลที่สามารถกลิ้งได้ หรือว่าอาจจะมี ท่อ ที่สามารถฝังลงไปในสิ่งรองนอนได้  ทำให้เป็นเหมือนโพรงในธรรมชาติ  และอาจจะหาถาดน้ำใส่ให้เค้าก็ได้เพราะเม่นเป็นสัตว์ที่ชอบเล่นน้ำ เหมือนกัน โดยเม่นบางตัวชอบที่จะให้เจ้าของอาบน้ำให้บ่อยๆ และบางตัวมีความสามารถในการว่ายน้ำด้วย แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอาจจะทำให้สิ่งปูรองเปียกและทำให้หมักหมมได้อาจจะต้องการความเอาใจใส่เป็นพิเศษ  ดังนั้นจึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของผู้เลี้ยงแต่ละคนว่ามีเวลาดูแลขนาดไหน

ส่วนเรื่องอาหาร เม่นแคระจัดเป็นสัตว์ในตระกูล  Insectivore ซึ่งเป็นสัตว์ในกลุ่มที่กินแมลงเป็นอาหาร เม่นแคระเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะอาหารแบบ กระเพาะเดี่ยว และทานทั้งเนื้อและพืช  (Monogastric omnivores )โดยอาหารธรรมชาติของเม่นแคระคือสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังเช่นแมลงหรือหนอนต่างๆ และ  กบ กิ้งก่า หรือหนู และไข่ รวมถึง ผลไม้ และเห็ด   แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาหารที่เรานิยมให้เมื่อเรานำเค้ามาเลี้ยงก็คือ อาหารแมว โดยสามารถให้ได้ทุกวัน  และอาจจะเสริมผักให้ได้โดยสามารถโรยวิตามิน และแคลเซี่ยมเสริม ได้ และอาจจะเสริมแมลง หรือหนอนนกให้ได้  โดยให้ สี่ถึงห้าตัวต่อ ครั้ง สามถึงสี่ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ควรให้เยอะจนเกินไปเนื่องจากว่าจะทำให้อ้วนจนเกินไปได้และจะทำให้มีโรคอ้วนในเม่นแคระตามมา

หลักการในการให้อาหาร ควรจะให้ในช่วงเย็นหรือกลางคืน มากกว่าช่วงเช้า  แต่ก็สามารถฝึกและปรับให้เม่นแคระทานอาหารในช่วงกลางวันได้เช่นกัน และอาจจะ เอาอาหารบางส่วนซ่อนไว้ใน สิ่งปูรอง เพื่อให้เม่นแคระ ได้แสดงพฤติกรรมทางธรรมชาติ และออกกำลังกายไปด้วย ส่วนน้ำที่ให้เม่นทาน ควรจะเป็นน้ำสะอาดและฝึกให้เม่นสามารถทานจากขวดน้ำเช่นเดียวกับหนูหรือกระต่ายได้

โรคที่พบได้บ่อยในเม่นแคระ คือ

 โรคผิวหนัง  พบบ่อยที่สุดคือเกิดจากตัวไร  (acariasis)  โดยจะมีอาการขนหลุดง่าย พบรังแคตามผิวหนังและลำตัว  และตัวไรอีกชนิดที่มักพบได้คือไรในหูหรือ ear mites ซึ่งจะพบรังแค และขี้หู และทำให้เกิดหูอักเสบได้ (otitis) และโรคผิวหนังอื่นที่พบได้เช่นกันคือ  เชื้อรา และ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะอาการที่พบก็คือ หนามมักจะหลุดร่วงง่าย และมีรังแค และสะเก็ด  และเม่นอาจจะแสดงอาการคันได้ โดยการวินิจฉัยอาจจะต้องใช้ วิธีการทางห้องปฎิบัติการ    

โรคทางระบบทางเดินหายใจ  พบได้เช่นเดียวกับสัตว์ pocket pet อื่นๆ โดยมักจะมีอาการ หายใจกระแทก หอบ ซึมและเบื่ออาหาร

โรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ ที่พบได้บ่อยๆคือ นิ่ว และกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยจากการที่เม่นแคระทานแต่อาหารแมว อย่างเดียว  และทานน้ำน้อย

โรคทางระบบทางเดินอาหาร  มักจะพบว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  Salmonella   และแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ซึ่ง บางทีเม่นแคระอาจจะมีอาการท้องเสีย ซึมเบื่ออาหาร และมีอาการขาดน้ำ ได้  อาการท้องเสียมักจะพบในลูกเม่นแคระที่กำลังหย่านม หรือ เปลี่ยนอาหาร 

โรคตับ มักจะพบได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากการทานอาหารที่มีสารอาหารไม่สมดุลยเป็นระยะเวลานานๆ หรือทานอาหารที่มีสารตกค้าง และมักพบได้บ่อยในสัตว์ที่อ้วนกว่าปกติ

โรคขาดสารอาหาร เนื่องจากผู้เลี่ยงบางคนมักจะให้หนอนเป็นอาหารหลัก  เช่น หนอนนก แต่ว่าหนอนนกที่ให้นั้นมักจะเป็นหนอนนกที่เลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมดังนั้น สารอาหารตามธรรมชาติที่หนอนควรได้รับก็จะไม่ได้รับ และวิตามิน อื่นๆอีกรวมถึงแคลเซี่ยม ดังนั้นจึงควรทำการ เลี้ยงหนอนด้วยอาหารเลี้ยงหนอนก่อน ( gut load) หรือคลุกแคลเซี่ยมก่อน จึงค่อยนำไปให้ เม่นแคระกิน 

โดยสรุปแล้วเม่นแคระเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายไม่ยุ่งยากเกินไปถ้าเราเข้าใจความต้องการทางธรรมชาติและความต้องการอาหารและเม่นแคระนี้จะมีความทนทานต่อโรคเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นค่อนข้างสูง  และมีการปรับตัวให้เข้าวิถีชีวิตของผู้เลี้ยงได้ และยังเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์และขี้เล่นไม่เหมือนใคร  หากท่านผู้อ่านได้ลองเลี้ยงดูรับรองจะหลงรัก เจ้าเม่นแคระ นี้อย่างแน่นอน  
 

8 comments:

Anonymous said...

ขอบคุณครับหมออ้อยที่ช่วยเขียนบทความ โอ้โฮ ความรู้แน่นจริงๆ ครับ หวังว่าโอกาสหน้าจะมีบทความดีๆ ให้อ่านอีกนะครับ

StarlINg said...

อืม...ได้เจอเคสเม่นแคระมาครั้งนึงครับ ยังไม่ชินกับการจับบังคับ และคราวนี้ ต้องบริหารยาด้วยความทุลักทุเลเป็นอย่างมาก
จะฉีดยาเข้าใต้หนังน่ะครับ พี่หมอพอมี site ที่ฉีดสะดวกๆ มั้ยครับ (ที่ผมฉีดคือ ง้างหนามมันขึ้นมาแล้วจิ้มไปตรงที่ว่างระหว่าง หนาม ปล. หงายท้องมันไม่ได้เลยคับ)

Anonymous said...

ถ้าเป็นเม่นแคระที่ไม่ค่อยดื้อและไม่หดตัวเวลาจับบังคับ ตำแหน่งฉีดยาในชั้นใต้หนังคือ ด้านข้างลำตัว ที่หนามต่อกับผิวหนังน่ะครับ พอนึกออกมั้ย

แต่ถ้าเม่นหดตัวกลมตลอดอาจจะฉีดยาแบบใต้ผิวหนังยากหน่อย แต่อาจจะพอทำได้บ้างคือให้นอนจดแบบตะแคง แล้วกดที่ตัวเบาๆด้านข้าง บางตัวจะคลายออก บางตัวจะคลายนิดหน่อย คงคล้ายๆกับโดนจ๊กจี้น่ะครับ แล้วก็ฉีดยาที่ตำแหน่งเดียวกัน

แต่ถ้าไม่ยอมเลยแต่จำเป็นต้องฉีดใต้ผิวหนังก็คงต้องหาที่ว่างระหว่างหนามแหละครับอาจจะยกขนขึ้นมาเล็กน้อย หรือไม่ยกก็ได้แต่ต้องแทงเข็มให้นอนขนานไปกับผิวหนังก็พอได้ครับ

แต่โดยส่วนตัวแล้วชอบฉีดยาเข้ากล้ามมากกว่าครับโดยตัวที่ขดก็สามารถฉีดได้โดยเข้ากล้ามที่บริเวณ lumba ครับ และในเม่นที่หดก็ยิ่งฉีดได้ง่ายครับ

jariya News said...

ขอบคุณมากเลยนะคะได้รับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเม่นแคระมากยิ่งขึ้น..อิอิ..ไม่แน่ใจว่าเคยเห็นเม่นแคระหรือเปล่า? และขอทราบเพิ่มเติมว่าคุณหมอเคยมีประสบการณ์โดนเม่นสลัดขนใส่ตอนทำการรักษามั่งหรือเปล่าคะ..อิอิ

รัฐพันธ์ said...

บาง textbook บอกฉีดกล้ามเนื้อ purse string อย่าเผลอไปหา anal sphincter นะครับ บาปกรรม บาปกรรม เขาหมายถึง กล้ามเนื้อข้างลำตัว ที่พอมันม้วนแล้ว จะเห็นเป็นสันๆขึ้นมาที่ด้าน lateral ที่มันใช้ม้วนตัวน่ะ

มันก็พอคลำได้นะ

รัฐพันธ์ said...

บาง textbook บอกฉีดกล้ามเนื้อ purse string อย่าเผลอไปหา anal sphincter นะครับ บาปกรรม บาปกรรม เขาหมายถึง กล้ามเนื้อข้างลำตัว ที่พอมันม้วนแล้ว จะเห็นเป็นสันๆขึ้นมาที่ด้าน lateral ที่มันใช้ม้วนตัวน่ะ

มันก็พอคลำได้นะ

Anonymous said...

เม่นแคระนี่ไม่สามารถสลัดขนได้นะครับ..กล้ามเนื้อที่พี่ต้อมพูดถึง นี่น่าจะหมายถึง orbicularis muscle ใช่มั้ยครับ

Anonymous said...

เหมือนจะแปลมาเลย ถ้าแปลมาก็ควรให้ credit ที่แปลด้วยก็ดีนะครับ ท่านสัตวแพทย์