Wednesday, December 12, 2007

แฮมเตอร์แคระ...เพื่อนใหม่

"แฮมเตอร์แคระ...เพื่อนใหม่"

โดย : หมอเกษตร สุเตชะ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เอาละครับ... ก่อนจะทราบว่าหนูเหล่านี้มาหาเราทำไม ???

เรามาทำความรู้จักกับพวกเขากันก่อนนะครับ...

ตามธรรมชาติ : แฮมสเตอร์แคระ (Dwarf Hamter) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตทะเลทราย ซึ่งในตอนกลางวันอุณหภูมิในทะเลทรายจะสูงมาก แฮมสเตอร์แคระจะหลบนอนในโพรงเพื่อเก็บแรง ตอนกลางคืนเมื่ออุณหภูมิต่ำ และไม่มีสัตว์ผู้ล่า แฮมสเตอร์แคระจะออกมาหาอาหาร โดยจะเก็บอาหารที่หาได้ไว้ที่กระพุ้งแก้ม และนำไปเก็บไว้ในโพรงที่สร้างเป็นห้องเก็บอาหารเฉพาะ เพระเหตุนี้ แฮมสเตอร์จึงต้องมีกระพุ้งแก้มเป็นแบบพิเศษ ที่สามารถใช้กักตุน และใช้ขนถ่ายอาหารได้ ชื่อเรียกว่า แฮมสเตอร์ ก็มีที่มาจากคำว่า "Hamper" ซึ่งแปลว่า "สะสม กักตุน" เมื่อแฮมสเตอร์แคระต้องการจะเอาอาหารที่ตุนไว้ออกมาจากแก้ม ก็จะใช้เท้าหน้าเล็กๆ ค่อยๆ ดันอาหารจากข้างในแก้มออกมา ซึ่งแก้มแบบพิเศษนี้ จะสามารถเก็บอาหารไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่มีน้ำลาย หรือกระบวนการย่อยใดๆเกิดขึ้นที่แก้มนี้ ทำให้เค้าสามารถจะเก็บอาหารไว้ได้ อย่างสด และแห้งสนิทเลยทีเดียว ซึ่งแก้มนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่มากั้นไม่ให้อาหารที่ตุนอยู่ ตกลงไปยังปากได้อีกด้วย

เมื่อมาเป็นสัตว์เลี้ยง : เจ้าของใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเวลากลางวัน ซึ่งสวนทางกับวิถีชีวิตหลักของแฮมสเตอร์แคระ บางตัวก็ปรับตัวตามเจ้าของได้ แต่ก็มีอีกหลายตัวที่ไม่ปรับตัว ซึ่งจะพบว่าถ้าไปเล่นกับหนูในเวลากลางวัน อาจโดยกัดได้โดยง่าย แต่ถ้าไปจับเล่นตอนพลบค่ำ แฮมสเตอร์แคระจะเชื่องมาก คงเหมือนคนกำลังง่วงนอน ถ้ามีคนไปปลุกจะหงุดหงิดเป็นเรื่องธรรมดา

สถานที่เลี้ยง : ควรแยกเป็นสัดส่วน แยกจากส่วนที่เจ้าของอยู่อาศัยอย่างชัดเจน เพราะมีหลายครั้งที่นำแฮมสเตอร์แคระไปนอนเล่นด้วยแล้วเผลอนั่งทับ หรือนอนทับ และในปัจจุบันมีผลิตภัฑณ์หลายอย่างที่อำนวยความสะดวกกับเจ้าของ ทั้งกรง, สิ่งปูรอง, อาหาร และของเล่น

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ : เลี้ยงหนูในที่ซึ่งร้อนเกินไป, เย็น หรือลมโกรกมากเกินไป, แออัดหนาแน่นมากเกินไป หรือการระบายอากาศไม่ดี, ให้อาหารไม่เหมาะสม และขาดการดูแลเอาใจใส่

การเลือกซื้อ : แฮมสเตอร์แคระที่ดี ควรจะสะอาด ขนต้องสะอาด ไม่มีอุจจาระเปื้อน หรือกลิ่นเหม็นผิดปกติ, ไม่ผอมผิดปกติ, ไม่ซึม, ต้องไม่มีบาดแผล ทั้งตัวและนิ้วเท้า, หูต้องสะอาดทั้งด้านในและด้านนอก, ตาต้องสดใส และไม่มีขี้ตา

ข้อมูลชีววิทยาของหนูแฮมสเตอร์แคระ ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย (คัดลอกมาจาก http://www.geocities.com/hamsterthai/index.html )

- Winter White Russian

ชื่อเล่น Siberian Hamster ,รัสเซียนแฮมสเตอร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Phodopus Sungorus ขนาดความยาว 10-12 เซนติเมตร ,น้ำหนัก 20-28 กรัม ,โครโมโซม 28 คู่ , ระยะตั้งครรภ์ 18-21 วัน ,อายุขัย 1.5-2 ปี , ถิ่นกำเนิด ที่ราบ และมีหญ้าขึ้น ตะวันออกของคาซัคสถาน และทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ ของไซบีเรีย ,ความยากในการผสม เลี้ยงง่าย เพาะง่าย ,นิสัยเป็นมิตรมากที่สุด อยู่ตัวรวมกันหลายตัวได้ ,จำนวนลูกเฉลี่ย 4-6 ตัว ,หย่านม 20 วัน ,มีโอกาสผสมติดเมื่อ 2 เดือน นำเข้ามาไม่นานมาก และนิยม เพราะเพาะง่าย เชื่อง ติดคน

- Campbells Russian

ชื่อเล่น ไซบีเรียนแฮมสเตอร์ Djungarian Hamster ชื่อวิทยาศาสตร์ Phodopus Campbelli ขนาดความยาว 10-12 เซนติเมตร ,น้ำหนัก 22-28 กรัม ,โครโมโซม 28 คู่ , ระยะตั้งครรภ์ 18-21 วัน ,อายุขัย 1.5-2 ปี ,ถิ่นกำเนิด ที่ราบสูง Steppes ,ที่แห้ง พบในมองโกเลีย และทางตะวันออกเฉียงเหนือ ของจีน อาศัยตามเนินทราย ในทะเลทราย ความยากในการผสม เลี้ยงง่าย เพาะง่าย นิสัยตามธรรมชาติอยู่เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ,จำนวนลูกเฉลี่ย 8 ตัว ,หย่านม 21 วัน ,โอกาสผสมติดเมื่อ 2 เดือน เพิ่งเริ่มเข้ามาในเมืองไทย ที่พบในประเทศไทย คือ สีขาวตาแดง

- Robovski

ชื่อเล่น แฮมสเตอร์ ทะเลทราย ชื่อวิทยาศาสตร์ Phodopus Roborovski ขนาดความยาว 4-5 เซนติเมตร ตัวเล็กที่สุด ,โครโมโซม 34 คู่ ,ระยะตั้งครรภ์ 23-30 วัน , อายุขัยเฉลี่ย 3-3.5 ปี เคยพบอยู่ได้นานถึง 4 ปี ,ถิ่นกำเนิดที่ราบสูง กึ่งทะเลทราย ทางตะวันออกและตะวันตก ของมองโกเลีย และทางเหนือของจีน ,ความยากในการผสม เพราะยาก พอสมควร ,นิสัยตามธรรมชาติอยู่เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ จำนวนลูกเฉลี่ย 6 ตัว ,หย่ายม 28-30 วัน มีโอกาสผสมติดเมื่อ 4 เดือน นำเข้ามาไม่นานมาก เป็นหนูพันธุ์ที่เล็กสุด แต่ค่อนข้างตื่นคนไว จับยาก

ปัญหาที่พบบ่อยๆ ในการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์แคระ

1. ทะเลาะกันเองในหมู่คณะ เป็นพฤติกรรมปกติของการเลี้ยงแฮมสเตอร์แคระหลายตัว ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน และแคบๆ เขาจะกัดกันจนบาดเจ็บไปตามๆกัน เลือดตกยางออก รอยกัดจะสร้างฝีขึ้นมาภายหลังถึงขั้นต้องกรีดออก บางครั้งการทะเลาะกันก็รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ยิ่งถ้าปล่อยไว้อีกละก็ จะพบว่าหนูผู้ชนะจะกัดกินหนูผู้เสียชีวิตด้วยนะครับ และสภาพการณ์แบบนี้จะรุนแรงมากขึ้น ถ้าเป็นการทะเลาะในเพศผู้ด้วยกันเอง ยิ่งขนาดตัวและอายุไม่เท่ากันจะเกิดสถานการณ์ "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" ครับ การแก้ไขต้องแยกเลี้ยงหนูที่โตอายุมากกว่าหนึ่งเดือนออกมาจับคู่ หรือแยกเดี่ยวไปเลยครับ เพื่อป้องกันปัญหานี้

2. ภาวะถุงเก็บอาหารที่กระพุ้งแก้มอักเสบ เกิดบ่อยๆในหนูที่ชอบมีนิสัยแย่งกันกินอาหาร เพราะหนูจะนำอาหารไปเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้ม เพื่อเก็บไว้กินยามว่าง แต่มีหลายตัวที่เก็บไว้นานมากเกินไป และชอบจะเติมมากว่า ไม่ยอมเอาออกมากินเสียที (กลัวเพื่อนแย่ง) จนอาหารที่อยู่ก้นถุงเริ่มเน่า ทีนี้ก็แย่ละสิ...ใช้ขาหน้าดันออกมาก็ไม่ได้ จะกินเข้าไปเก็บเพิ่มก็ไม่ได้ เจ็บแก้มก็เจ็บ สุดท้ายเจ้าของหนูจะเห็นว่าหนูผอมลงเรื่อยๆ ทั้งที่แก้มก็ป่องๆ บางตัวก็พยายามดันอาหารจนออกมาได้ครับ แต่ตัวถุงกระพุ้งแก้มกลับปลิ้นออกมาด้วย กลายเป็นภาวะแทรกซ้อน เข้าไปกันใหญ่ ผมชอบเรียกภาวะนี้ว่า "หนูขี้งก" ครับ การแก้ในเบื้องต้น เราต้องบีบเอาอาหารที่เน่าออกมาจากกระพุ้งแก้มเสียก่อนครับ อาจจะพบว่าอาหารจะเน่า. มีสิ่งแปลกปลอม และส่งกลิ่นเหม็นมาก ก็ทนๆเอาหน่อยนะครับ จากนั้นก็ต้องแยกเลี้ยงเดี่ยว และจำกัดปริมาณอาหารไม่ให้กินมากจนเกินไป เพราะหนูจะได้กินหมด และไม่เก็บสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้ม ถ้ามีการอักเสบก็ให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยครับ ส่วนที่มีการปลิ้นของถุงกระพุ้งแก้มออกมานั้น ก็ต้องยัดกลับเข้าไป ถ้าอักเสบมาก และมีเนื้อตายก็ต้องตัดออกครับ

3. ผิวหนังอักเสบจากเชื้อราอันเนื่องมากจากไม่ใช่โรคติดต่อ แต่อาจจะเป็นพร้อมกันได้หลายตัวถ้าหนูมีพฤติกรรมสองแบบนี้ คือ ชอบปัสสาวะแล้วนอนทับให้เปียกท้อง อีกอย่างเกิดจากการให้น้ำแบบถ้วย แล้วหนูชอบนอนลงไปแช่น้ำ จะพบผิวหนังส่วนล่างลำตัวแดง, หนาตัว, คัน, มีกลิ่นเหม็นหืนๆ และมีสะเก็ดบ้างเล็กน้อย การรักษาต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยารักษาเชื้อราชนิดกิน ราว 2 สัปดาห์ก็จะค่อยๆดีขึ้น แล้วต้องเปลี่ยนภาชนะให้น้ำจากถ้วยเป็นกินจากหลอด ส่วนเจ้าพวกนอนทับฉี่ตอนเองนั้น ต้องเปลี่ยนวัสดุปูรองสักสัปดาห์ละสองครั้ง ก็จะดีขึ้นครับ

4. อุบัติเหตุจากการทำหนูตก, โดนหนีบ, นอนทับ, เหยียบ ฯลฯ พบง่าต้องมีขา หรือกระดูกสันหลังหักแน่นอน แต่เราไม่สามารถดาม หรือรักษาได้ทุกกรณี ด้วยข้อจำกัดของขนาดหนูและวัสดุผ่าตัด เพราะหนูสามารถอยู่มีชีวิตได้ตามปกติ ถึงแม้ขาจะหักสามขา เพราะฉะนั้นอาจมีบางตัวที่ต้องปล่อยไปตามสภาพบ้าง

5. ท้องเสีย เป็นอาการป่วยที่เห็นได้ง่ายที่สุด มักเกิดจากอาหาร, น้ำ หรือภาชนะที่ใส่อาหารไม่สะอาด และบางครั้งเกิดจากการกินอาหารที่บูดเน่า (เนื่องจากเจ้าของไม่ใส่ใจ) บริเวณก้น และส่วนท้ายลำตัวจะเปียกแฉะตลอดเวลา อัตราการตายค่อนข้างต่ำ แต่อัตราการเป็นโรคสูง เพราะติดกันง่ายมาก (หนูจะชอบเลียให้กัน) การรักษา ต้องพูดคุยกับเจ้าของพยายามหาต้นตอของสาเหตุแล้วแก้สิ่งนั้นจะดีที่สุด หรือถ้าหาสาเหตุไม่ได้ก็นำหนูออกจากสิ่งแวดล้อมเดิม แล้วเริ่มในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด และควบคุมได้

6. เป็นเรื่องธรรมดาที่คนขายไม่ยอมบอกผู้ซื้อ ถึงอายุขัยที่แท้จริงของหนูแฮมสเตอร์แคระ ว่าส่วนใหญ่หนูมีอายุไม่เกิน 2 ปี และเมื่ออายุพ้นหนึ่งปีครึ่งไปแล้ว มักเกิดเนื้องอก (มะเร็ง) ที่รักษไม่หาย หรือเป็นฝีอยู่เสมอๆ พอกรีดรักษาแผลไปแล้ว สักพักก็เกิดขึ้นมาอีก จากการสักเกตพบว่า หนูแก่จะขนร่วงที่ส่วนท้ายลำตัว, กินได้ปกติแต่ผอมลงเรื่อยๆ, ตามลำตัวเรื่มมีตกกระ, นอนมากกว่าปกติ, ตาทั้งสองข้างเริ่มมองเห็นภาพไม่ชัด หนูจะระแวงภัยมากขึ้น ถ้าคนไม่คุ้นกันจริงๆ มาหยิบอุ้มจะโดนกัด และสุดท้ายอาจพบหูดได้ที่รูหูทั้งสองข้าง หรือกระจายตามลำตัว

7. ภาวะฟันเก (Malocclusion) เป็นเรื่องปกติที่พบสัตว์ฟันแทะเกือบทุกชนิด เจ้าของจะพบว่าหนูกินอาหารไม่ได้ และอ้าปากมีน้ำลายไหลอยู่ตลอดเวลารวมถึงผอมลง พบสาเหตุอยู่สองอย่างด้วยกัน คือ ฟันคู่หน้ายาวเกินกว่าจะสามารถใช้ขบกัดอาหารได้ มักเกิดจากการเลี้ยงด้วยอาหารนิ่มมาตลอด จนหนูไม่ได้ลับหรือฝนฟันให้อยู่ในความยาวที่เหมาะสม การรักษาต้องตัดฟันคูหน้าออกเป็นระยะๆ ส่วนสาเหตุที่สอง เกิดจากพันธุกรรมที่ฟันเกทั้งครอบครัว ส่งผลมายังลูกๆ ซึ่งนอกจากจะเกิดกับฟันคู่หน้าแล้ว ยังเกิดกับฟันกรามด้านในด้วย พบว่าหนูจะกรามโตกว่าปกติ ลักษณะคล้ายฝีแต่จับดูแล้วแข็งๆ นั่นคือเกิด Osteomyelitis แล้ว (ควรยืนยันด้วยการ x-ray ก่อนแจ้งเจ้าของทุกครั้ง) การรักษาส่วนใหญ่จะให้กินยาตลอดชีวิต เพราะการผ่าตัดกรีด เปิดทำความสะอาดนั้น มักทำให้หนูแย่ลงกว่าเดิม หรืออาจเสียชีวิตได้

เป็นอย่างๆไรบ้างครับ... เรื่องราวของเจ้าตัวน้อยน่ารัก และกำลังเป็นสัตว์เลี้ยงที่กำลังมาแรงในขณะนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นคงเพียงพอให้สัตวแพทย์ทุกท่าน มีความรู้เบื้องต้นเพื่อจัดการกับปัญหาของหนูแฮมสเตอร์แคระได้อย่างไม่ยากเย็นนัก และทุกท่านสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากอินเตอร์เน็ตได้อีกทางหนึ่ง จากนี้หนูแฮมสเตอร์แคระก็จะเปลี่ยนจาก "หนูใกล้ตัวไกลตา มาเป็นเป็น...หนูใกล้ตัวใกล้ตา" แล้วครับ

No comments: