Wednesday, December 12, 2007

งานช้างที่ศรีลังกา

"งานช้างที่ศรีลังกา"

โดย : อ.นสพ.ฉัตรโชติ ทิตาราม


ทุกท่านคงเคยได้อ่านวรรณกรรมคลาสสิกที่คุ้นเคยกับคนไทยและนิยมนำมาแสดงโขนกันนั่นก็คือเรื่อง รามเกียรติ์ ตามท้องเรื่องมีเมืองอยู่เมืองหนึ่งที่ทศกัณฐ์ ศัตรูของพระรามปกครองอยู่นั่นก็คือ กรุงลงกา หรือ ว่าประเทศศรีลังกาที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนนั่นเอง

ศรีลังกาได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดียด้วยที่รูปร่างของประเทศคล้ายหยดน้ำหรือไข่มุก โดยที่พื้นที่ของประเทศมีประมาณ 65,525 ตารางกิโลเมตรอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 องศาเซลเซียส

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมงานช้างที่ประเทศศรีลังกาโดยการจัดการประชุมในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 มีชื่อของการประชุมในครั้งนี้ว่า Symposium on Human Relationships and Conflicts โดยจัดที่เมืองโคลอมโบ เมืองหลวงของประเทศ ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2546 การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน มาจากทั่วโลกทั้งอาฟริกา ยุโรป อเมริกา เอเชีย โดยส่วนมากมาจากอินเดียและศรีลังกา ในการประชุมครั้งนี้มีคนไทย 3 คนครับคนหนึ่งมีพื้นที่ในการทำงานทางด้านช้างป่าที่เขาอ่างฤาไนยและเขาชะเมา ส่วนอีกคนทำอยู่ที่เขาใหญ่ ทำงานเกี่ยวกับช้างป่าทั้งคู่แหละครับ

การประชุมเริ่มต้นด้วยเสียงจังหวะกลองกระหึ่มและตามมาด้วยนักเต้นระบำพื้นเมือง จากนั้นจึงเป็นคณะกรรมการจัดงานซึ่งประกอบด้วย International Elephant Foundation (IEF) และ Biodiversity and Elephant Conservation Trust โดยมีคณะกรรมการออกมาจุดเทียนเปิดงานและกรรมการแต่ละคนมากล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ จากนั้นจึงปิดด้วย Mr. Jayantha Jayewardene ซึ่งเป็นเลขานุการและแม่งานในการจัดงานครั้งนี้ ในการนำเสนอผลงานต่างๆส่วนมากจะเป็นการนำเสนอผลงานในด้านปัญหาความขัดแย้ง การจัดการ การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างช้างและคนในแต่ละพื้นที่ของโลก โดยส่วนมากมาจากอินเดีย ศรีลังกา และ เคนยา ที่มาเป็นส่วนน้อยคือ เนปาล พม่า มาเลเซีย (บอร์เนียว) อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา จีน และ ไทย ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนมากจะเป็นนักชีววิทยา และคนที่ทำงานเกี่ยวกับทางด้านองค์กรเอกชน เช่น มูลนิธิต่างๆ และมีคนที่เป็นบุคลากรของรัฐที่ทำงานในกรมป่าไม้ กรมสัตว์ป่า ส่วนสัตวแพทย์มีมาร่วมเป็นส่วนน้อย ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ องค์กรเอกชนระหว่างชาติ เช่น US Fish and Wildlife, Flora and Fauna International, Wild Aid, Born Free และองค์กรอื่นๆ ได้สนับสนุนคนจากหลายประเทศมาร่วมงานมากมายโดยเฉพาะผู้เข้าร่วมงานจากประเทศลาว พม่า และกัมพูชา จะมีชาวต่างชาติจากยุโรปหรืออเมริกาเป็นผู้พามาและเป็นผู้เสนอผลงานแทน


ส่วนของประเทศไทยไปกันเองครับ ไม่ต้องมีฝรั่งพาไป ผมไปด้วยทุนของมหาวิทยาลัย ส่วนอีก 2 คน คนหนึ่งไปด้วยทุน Wild aid ส่วนอีกคนทาง US Fish and Wildlife ออกค่าใช้จ่ายและขอให้ไปนำเสนอ การทำงานในไทย ดูจากงานในครั้งนี้เหมือนพวกฝรั่งไม่ค่อยให้ความสนใจคนไทยที่ทำงานเกี่ยวกับช้างเท่าไหร่ อาจมาจากไม่มีคนที่ทำงานช้างป่ามากซึ่งเป็นจุดสนใจของเขา ฝรั่งเข้ามาทำงานเกี่ยวกับการจัดการช้างป่าในไทยได้ยาก เนื่องจากมีหน่วยงานในไทยหลายแห่งทำงานด้านนี้และมีมูลนิธิต่างๆลงไปทำงานกันมาก ดังนั้นการพึ่งพาฝรั่งในด้านงบประมาณจึงสำคัญน้อยลง หรือปัญหาความขัดแย้งของวงการช้างบ้านเราซับซ้อนทำให้ฝรั่งเข้ามาเจาะยาก

ในการนำเสนอผลงานครั้งนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น

1. Human Elephant Conflict (HEC) ในอินเดียและศรีลังกามีมากที่สุด โดยการนำเสนอเรื่องปัญหาความขัดแย้งของคนและช้างในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศมีเป็นจำนวนมาก ส่วนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีค่อนข้างน้อย

2. ปัญหาช้างฆ่าคนตาย มีจำนวนมากโดยในแคว้นอัสสัมของอินเดียในปี 2002 มีคนถูกช้างฆ่าตายถึง 64 คน นอกจากนี้ยังมีการวางยาพิษช้างโดยการใส่ยาฆ่าแมลงหรือสารพิษต่างๆลงในพืชไร่แบบกระจายตามจุดต่างๆ หรือ การไปใส่ในโป่งที่ช้างมากิน อีกเรื่องคือมีช้างป่าตายจากการถูกรถไฟชนด้วย

3. ปัญหาเกิดช้างป่าอยู่เป็นพื้นที่ที่แยกจากที่อื่น (Elephant pocket) ทำให้ช้างไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการผสมเลือดชิดขึ้น ดังนั้นจึงมีแนวคิดการทำทางเดินสำหรับช้าง (Elephant corridor) ขึ้นโดยเชื่อมพื้นที่ต่างๆเข้าด้วยกันทำให้ช้างมีโอกาสเดินทางไปมาหาสู่กันได้ โดยในประเทศไทยมีการทำสำเร็จแล้วที่รอยต่อของเขาชะเมาและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย ซึ่งเป็นทางเดินเล็กๆและสั้นๆประมาณ 2 กิโลเมตร

4. ปัญหา elephant pocket ในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น โดยพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียเหมาะแก่ช้างป่า คือ บริเวณป่าผืนตะวันตกซึ่งมีแนวติดต่อกับพม่าด้วยทำให้ช้างมีการเคลื่อนย้ายไปมาได้

5. การตรวจ DNA ของช้างจากอุจจาระ

6. การศึกษาระบบการระบายความร้อนในช้าง

7. การใช้อุปกรณ์ต่างๆในการขับไล่ช้าง ที่ลงมากินพืชไร่ของชาวบ้าน เช่น การเผาพริกซึ่งมีการใช้ในอาฟริกาและพม่า มีรายงานว่าใช้ได้ผลดีในช่วงแรกๆ

8. การตรวจช้างที่มากินพืชไร่ของชาวบ้าน (Elephant Detection Project) โดยการใช้ลวดขึงผูกติดกับสัญญาณ การตรวจจับ Infrasound ของช้างที่เดินเข้ามาใกล้

9. มีความพยายามหาทางป้องกันช้าง การขับไล่ช้าง และการตรวจจับช้าง ที่เข้ามาต่างๆ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง การใช้รั้วไฟฟ้าเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้กันมากในอาฟริกาและศรีลังกา แต่ไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากช้างสามารถทำลายได้โดยใช้ท่อนไม้วางพาด หรือใช้งาเกี่ยวหรือกดให้ขาด

10. วิธีหนึ่งที่ใช้กันได้ผลดีในการลดปัญหาความขัดแย้ง คือ การทำป่ากันชน (Buffer zone) โดยต้องมีการศึกษาสภาพของป่าและแหล่งอาหารในทุกฤดูด้วย


มีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มมาคือ
** มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่มีจำนวนช้างเลี้ยงมากกว่าช้างป่า และมีจำนวนมากเกือบ 2 เท่า โดยที่ประเทศส่วนใหญ่ส่วนมากเป็นช้างป่า (ช้างงาในศรีลังกามีน้อยมาก โดยประมาณ 7% ของช้างเพศผู้ในศรีลังกาเป็นช้างงา)


การจัดงานครั้งนี้เป็นไปด้วยดี มีบางอย่างที่ไม่ค่อยดี คือ ผู้จัดงานไม่ได้มีการคัดเลือกเรื่องที่ส่งมาเสนอผลงานดังนั้นจึงมีเรื่องที่เสนอผลงานบนเวทีจำนวนมากและอัดแน่นทำให้น่าเบื่อ และมีหลายเรื่องที่คล้ายกันมากทำให้ไม่น่าสนใจ อีกอย่างซึ่งผู้ไปร่วมงานที่อินเดียและศรีลังกาต้องทำใจคือ ภาษาอังกฤษของพวกอินเดียและศรีลังกาจะพูดแบบรัวและเร็วมาก ซึ่งอาจเป็นตัวผมเองที่ฟังไม่รู้เรื่องก็ได้เพราะเห็นพวกฝรั่งยังคุยกับเขาตามปกติเลยหรือชินไปแล้วก็ไม่ทราบ ส่วนการนำเสนอผลงานของผมในเรื่อง Herbal drug treatment in Asian elephant ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้เขาเช่นเดียวกัน เนื่องจากพวกสัตวแพทย์และควาญอินเดียใช้สมุนไพรเหมือนกันแต่ไม่มีใครสนใจศึกษากลไกการออกฤทธิ์อย่างจริงจัง

จากนั้นผมได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาดูงาน ณ Udawalawe National Park ซึ่งมีการจัดการช้างป่าที่ดีและทำเป็นลักษณะซาฟารีให้คนเข้าไปดู มีการล้อมรั้วไฟฟ้าตลอดแนว (แต่ติดถนนนะครับ) และป่าของที่นี่เป็นลักษณะทุ่งหญ้าทำให้สามารถมองเห็นช้างได้ง่าย ไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นช้างป่าได้หรือไม่ ช้างยืนติดรั้วไฟฟ้า และมีคนเอาของกินไปยื่นให้กับมือเลย


จากนั้นผมก็ไปที่ศูนย์เลี้ยงลูกช้างกำพร้า Pinnawala Elephant Orphanage ภาระกิจหลักของที่นี่คือ การดูแลลูกช้างที่กำพร้าจากแม่ตายทั้งแบบธรรมชาติและถูกล่า โดยที่นี่มีช้างทั้งหมด 64 เชือกมีคนเลี้ยง 10 คน เลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง กลางแดดและมีคนไล่ แบบไล่วัวไล่ควายงั้นแหละ แล้วก็ไล่ไปอาบน้ำซึ่งเป็นการโชว์อย่างหนึ่ง การแสดงอีกอย่างที่ได้รับความสนใจมากคือ การป้อนนมลูกช้างซึ่งที่นี่ใช้นมคนผสมให้ลูกช้างกินและได้ผลดี ที่นี่มีสัตวแพทย์ 2 คน เป็นผู้ชายและผู้หญิง สัตวแพทย์หญิงที่นี่ใส่ส่าหรีรักษาช้างครับ มีผู้ช่วยแบกของไปและเธอก็ฉีดยาในชุดส่าหรีที่ดูรุ่มร่ามนี่แหละ แต่เขาทำงานกันแบบนี้ทุกวัน


สิ่งหนึ่งที่อยากบอกสัตวแพทย์สัตว์ป่าอย่างเรา คือ พยายามเปิดตัวในงานประเภทนี้เพื่อแสดงศักยภาพและการทำงานของพวกเรา พยายามฝึกพูดและเขียนภาษาอังกฤษกันเถอะครับและเอาผลงานเราไปแสดงให้เขาเห็น ส่วนปัญหาทางด้านการเงินที่ไปในงานของพวกเราไม่มีปัญหามากครับ มีคนพร้อมจ่ายเงินให้เราไปนำเสนอผลงานอยู่แล้ว เขาอยากรู้ข้อมูลและการทำงานของพวกเราจะตาย งานทางด้านช้างและสัตว์ป่านี่มันเป็นลักษณะพิเศษของแต่ละพื้นที่อยู่แล้วไม่ต้องมาแข่งขันกันมาก ผมว่าเราออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ มาพัฒนาวงการของพวกเรากันเถอะครับ ให้เส้นเดินทางต่างประเทศบนลายมือได้ทำงานกันบ้าง.



1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ