Wednesday, December 12, 2007

ไปฟังเรื่องช้างที่ Utrech

"ไปฟังเรื่องช้างที่ Utech"

โดย : หมอจับฉ่าย


เริ่มงานตอนเช้าเปิดประเด็นเรื่อง ช้างอัฟริกา ซึ่งปัญหาที่พบในขณะนี้คือการมีประชากรมากจนเกินไป! โดยมีมากถึง 800,000 ตัว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเป็นชื่อใน CITES appendix 1 ก็ถูกย้ายมาอยู่ appendix 2 ในบางประเทศซึ่งการที่มีประชากรหนาแน่นเกินไปนี้มีผลต่อระบบนิเวศน์ รวมทั้งก่อปัญหาให้กับคนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ในปี 2003 จึงมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางในการควบคุมปริมาณประชากรช้างอัฟริกา

เริ่มพูดกันตั้งแต่ข้อจำกัดต่างๆที่พบ วิธีการที่เป็นไปได้ ทั้งการคุมกำเนิดแบบถาวร และการคุมกำเนิดชั่วคราว ข้อดี ข้อด้อยของแต่ละวิธี การเลือกคุมกำเนิดในช้างเพศผู้ หรือเพศเมีย รวมทั้งผลการวิจัยที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่

การคุมกำเนิดแบบถาวร มีข้อจำกัด และข้อควรคำนึงหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น จำนวนช้างที่จะคุมกำเนิด วิธีการคุมกำเนิด เพราะหากไม่วางแผนดีๆแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาดขึ้นมา อาจทำให้ช้างอัฟริกาต้องสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้เลยก็ได้ นอกจากนี้การคุมกำเนิดโดยวิธีการผ่าตัดยังเป็นไปได้ยากเพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีลูกอัณฑะอยู่ในช่องท้อง ไม่รวมไปถึงขนาดที่ใหญ่ และผิวหนังที่หนาและยากต่อการกลับคืนสู่สภาพเดิม การผ่าตัดเปิดช่องท้องจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างยิ่ง ไม่แนะนำให้ทำ

เมื่อไม่สามารถคุมกำเนิดโดยการผ่าตัดได้ จึงมีการคิดหาวิธีโดยนำวิธีที่ใช้ในม้ามาทดลองใช้ ซึ่งก็คือการให้สารที่ไปออกฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นการหลั่ง gonadotropin (Anti gonadotropin releasing hormone, anti GnRH )วิธีการนี้มีการศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการลดปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวในช้างที่ตกมันการคุมกำเนิดแบบถาวรในช้างเพศผู้อาจจะเหมาะสมสำหรับช้างที่เลี้ยงสวนสัตว์ แต่ในธรรมชาติเมื่อช้างอยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ในช้างเพศเมีย กลับเป็นวิธีการที่เหมาะสมกว่า วิธีการที่ใช้ก็ต่างไปจากวิธีที่เราๆท่านๆใช้ ซึ่งก็เป็นการดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะถ้าคิดให้ดีๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการมีสารในกลุ่มที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมมากเกินไป และสาเหตุหลักที่พบก็คือการคุมกำเนิดของคน หากช้างคุมกำเนิดโดยการให้ฮอร์โมน ไม่อยากจะนึกเลยว่าเราจะทำให้แม่น้ำลำคลองปนเปื้อนสารเคมีไปอีกเท่าไหร่


ในช้างอัฟริกาเขาจึงศึกษาความเป็นไปได้ในการคุมกำเนิดโดยการใช้ porcine zona pellucida (pZP) vaccine หลังจากได้รับ vaccine เมื่อมีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น sperm จะไม่สามารถผ่านชั้น zona pellucida เข้าไปผสมกับ egg ได้

· ข้อดี ของการใช้ pZP vaccine นี้คือไม่มีผลต่อการตั้งท้อง พบว่าเมื่อฉีดให้ช้างที่กำลังท้องอยู่ ก็ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ เนื่องจากไม่มีผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งท้องในช้าง แต่

· ข้อเสีย ที่พบก็คือช้างตัวเมียจะอยู่ในระยะที่พร้อมผสมพันธุ์นานกว่าปกติ ทำให้มีตัวผู้เข้ามาวอแวอยู่เรื่อยๆ หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการคุมกำเนิดช้างมาพูดผ่านไป 3-4 คน

ประเด็นต่อไปที่ถูกยกขึ้นมานำเสนอก็คือ ความคุ้มค่า ความเหมาะสมของการคุมกำเนิดในช้าง ประเด็นเรื่องการคัดทิ้ง และความคุ้มในการคุมกำเนิดถูกหยิบขึ้นมาโดยนำไปเปรียบเทียบถึงประชากรผู้หิวโหย และประโยชน์ที่ได้จากซากช้าง 1 ตัว เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเมื่อคำนวณดูแล้วการคุมกำเนิดครั้งต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยนับตั้งแต่ค่ายา ค่าหมอ รวมถึงค่าเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการติดตามช้าง และเมื่อมองถึงการฆ่าช้าง 1 ตัวซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แถมยังได้ประโยชน์จากเนื้อช้าง งาช้าง และอวัยวะบางส่วนของช้างที่มีคนสะสม โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน สามารถทำรายได้เข้าประเทศจากอวัยวะและชิ้นส่วนของช้าง

นอกจากนี้ยังมีการนำ mathematical model เข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ผลที่ได้รับแสดงให้เห็นแนวโน้มว่าการพยายามที่จะคุมกำเนิดช้างโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆนั้นเห็นผลค่อนข้างช้า หากต้องการวิธีที่ได้ผลชัดเจนนั้นการคัดทิ้งน่าจะเป็นวิธีที่ประสิทธิภาพมากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีเห็นผลที่มีน้ำหนักมากมาย แต่การตัดสินใจในการฆ่าช้าง คงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้โดยง่าย ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ก็ยังคงเป็นประเด็นที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญยังคงต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ไม่ว่าจะถูกข้างใดทั้งสองฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์รวมกันคือต้องการลดจำนวนประชากรช้างเพื่อให้เกิดความสมดุลของทรัพยากรในพื้นที่ป่าของทวีปอัฟริกา



เมื่อหมดเรื่องช้างอัฟริกา ก็ได้เวลาพักกลางวันก่อนที่จะนำไปสู่เรื่องของช้างเอเชียต่อไป ปัญหาของช้างเอเชียตรงกันข้ามกับปัญหาของช้างอัฟริกาโดยสิ้นเชิง ในขณะที่อัฟริกามีประชากรช้างมากเกินไปทางฝั่งเอเชียกลับมีปริมาณช้างลดลงอย่างน่าใจหาย โดยประมาณว่ามีประมาณ 50,000 ตัว งานวิจัยส่วนใหญ่ในภาคพื้นเอเชียจึงมุ่งประเด็นไปที่การผสมเทียม การจับสัด การศึกษาพฤติกรรมทางเพศของช้าง รวมทั้งการศึกษาทางพันธุศาสตร์เพื่อลดปัญหาช้างเลือดชิด (inbreed) น่าภูมิใจที่ประเทศเรานับเป็นแนวหน้าสำหรับเรื่องเหล่านี้

เริ่มด้วยเรื่องของช้างตัวผู้ก่อน งานวิจัยก็มุ่งเน้นไปเรื่องการเก็บน้ำเชื้อ การทำน้ำเชื้อแช่แข็ง ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพน้ำเชื้อ การรีดน้ำเชื้อทำโดยใช้มือสอดเข้าไปทางทวารหนักและใช้มือกระตุ้น ampulae ซึ่งเป็นงานที่ใช้แรงงานอย่างมาก บางครั้งอาจต้องเปลี่ยนคนมากกว่า 1 คนกว่าจะได้น้ำเชื้อ ปัญหาของการรีดน้ำเชื้อโดยวิธีนี้คืออาจมีปัสสาวะปนเปื้อนเนื่องจากตำแหน่งของampulae อยู่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะ การที่มีปัสสาวะปนเปื้อนก็มีผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อได้ พูดถึงคุณภาพของน้ำเชื้อ ผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่าฤดูกาลนั้นมีผลต่อคุณภาพของน้ำเชื้อ โดยพบว่าน้ำเชื้อในฤดูหนาวจะมีคุณภาพดีกว่า


เมื่อจบเรื่องช้างตัวผู้ก็มาต่อด้วยเรื่องช้างตัวเมีย พบว่าใน 1 ปีช้างตัวเมียจะมีโอกาสตั้งท้องแต่ปีละ 3 ครั้ง และช่วงเวลาตกไข่แต่ละครั้งก็จะสั้นๆแต่ 2-3 วัน แถมยังไม่ค่อยมีอาการปรากฏชัดเจน ช้างตัวผู้จะรู้ได้ก็พิสูจน์จาก กลิ่นของ pheromone ที่ปะปนออกมากับปัสสาวะ ในปางช้างบางที่มีการตรวจสัดในช้างตัวเมียโดย นำช้างตัวเมีย 6-8 ตัวมายืนเรียง แล้วให้ช้างตัวผู้ที่มีอยู่เป็นตัวพิสูจน์กลิ่นที่ออกมากับปัสสาวะ ช้างตัวเมียตัวใดที่ได้รับความสนใจจากตัวผู้เป็นพิเศษ แสดงว่าน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะต่อการผสมพันธุ์ ช้างตัวเมียตัวนั้นก็จะถูกปล่อยไปอยู่รวมกับช้างตัวผู้ ในป่าประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วก็มีถึงการตรวจการตั้งท้อง ทำได้หลายวิธีการเหมือนกันตั้งแต่การตรวจปริมาณ progesterone ในซีรั่ม ตรวจหา prolactin ในซีรั่ม รวมถึงการตรวจด้วย คลื่นอัลตราซาวด์ ซึ่งจะเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุการ ตั้งท้อง 8-10 สัปดาห์ การตรวจการตั้งท้องมีประโยชน์สำหรับการเตรียมพร้อม หากแม่ช้างมีปัญหาในการคลอดลูก เพราะการคลอดยากเป็นปัญหาที่สามารถพบได้ และมีรายงานอยู่ทั่วไปทั้งในไทย ยุโรป และอเมริกา การแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงทั้งสุขภาพ การการรอดชีวิตของทั้งแม่ช้าง และลูกช้าง

นอกจากปัญหาการคลอดยาก แล้วปัญหาที่พบตามมาคือ รกค้าง แม่ช้างไม่สามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอ แม่ช้างไม่ยอมเลี้ยงลูก ปัญหาต่างๆเหล่านี้สามารถบรรเทาความรุนแรงลงได้โดย ทำประวัติการผสมที่แน่นอน การตรวจอายุการตั้งท้อง และมีการเตรียมตัวให้พร้อมในช่วงระหว่างและหลังคลอด หมดเรื่องเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ ก็มีขอแถมนิดหนึ่งเกี่ยวกับโรคที่พบในช้าง โรคสำคัญ2 โรคที่นำมากล่าวถึงคือ Endotheliotropic Elephant Herpes Virus (EEH virus) และ วัณโรค EEH virus ในช้างเอเชียมักเป็นแบบ peracute ช้างบางตัวตายโดยไม่แสดงอาการทางคลินิกใดๆ ผลผ่าซากจะพบ ลิ้นบวม และเป็นสีม่วง นอกจากนี้ยังพบส่วนหัวและคอบวม รวมทั้งมีเลือดออกที่อวัยวะต่างๆ การตรวจระวังช้างที่เป็นพาหะยังไม่มีวิธีใดที่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีการศึกษาวิจัยทั้งวิธี PCR และ การหา antibody โดยวิธี ELISA สำหรับการป้องกันก็ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน สิ่งเดียวที่สามารถทำได้ในตอนนี้ก็คือ การจัดการที่ดี และมีการตรวจสอบก่อนที่จะมีการย้ายช้าง หรือมีการนำน้ำเชื้อช้างมาผสมเทียม

วัณโรค สาเหตุหลักของวัณโรคในช้างคือติดมาจากคน โรคนี้เป็นโรคที่เรื้อรัง หากตรวจพบในระยะแรกๆก็อาจพิจารณารักษา แต่เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่เรื้อรัง ใช้เวลาในการรักษานาน ค่ายาแพง รวมทั้งช้างที่หายจากโรคยังสามารถเป็นพาหะนำเชื้อต่อไปได้ ดังนั้นการพิจารณารักษาจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสัตวแพทย์เป็นกรณีไป สำหรับเนื้อหาของ symposium ก็คงจะหมดลงประมาณนี้ค่ะ แต่ได้มีโอกาสคุยกับคุณหมอฉัตรโชติ และคุณหมอนิกร ได้ความคิดเพิ่มเติมมาอีกหน่อยว่างานวิจัยเกี่ยวกับช้างยังมีอีกมากมายรอให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้า ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็ต่างผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ออกมา ต่างก็มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือต้องการอนุรักษ์สัตว์คู่บ้านคู่เมืองชนิดนี้ไว้ ให้อยู่คู่กับประเทศไทยต่อไปเรื่อย และมีผลพลอยได้ตามมานิดคือชื่อเสียงของประเทศเรา ช่างน่าภาคภูมิใจเสียจริงๆ

ไปแล้วค่ะ หากมีโอกาส ไปเปิดหูเปิดตาที่ไหน จะมาเล่าให้ฟังอีกค่ะ

ขอขอบคุณคุณหมอฉัตรโชติ และหมอนิกรสำหรับข้อมูล และคำแนะนำค่ะ


No comments: