Wednesday, December 12, 2007

การจัดการในการดูแลเสือ

"การจัดการในการดูแลเสือ"

โดย : หมอดาว เขาเขียว

ธรรมชาติของเสือ

เสือจัดเป็นสัตว์ที่ดุร้ายในสายตาของผู้คนทั่วไป แต่แท้ที่จริงแล้วเสือแต่ละชนิดก็จะมีนิยายชีวิตของตัวมันเองทั้งดุร้ายและขี้กลัวปะปนอยู่ในตัวเดียวกัน นิสัยของเสือเองก็แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด มีเสือหลากหลายที่ชอบน้ำ เช่น เสือโคร่ง เสือปลา แมวป่าหัวแบน เป็นต้น เสือโคร่งมักชอบนอนแช่ในแหล่งน้ำเป็นเวลานานๆโดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศร้อน ออกล่าเหยื่อในเวลาเย็นถึงค่ำ โดยรวมกลางวันมักจะพักผ่อนบริเวณที่เย็นๆและออกหากินช่วงเย็นถึงกลางคืน มักอาศัยตามลำพังจึงมีนิสัยหวงเหยื่อ อย่างไรก็ตามในการจัดการดูแลเสือแต่ละชนิดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบนิสัย ถิ่นอาศัย และวิถีการดำเนินชีวิตของเขาเพื่อนำมาวางแผนและออกแบบการจัดการดูแล สำหรับบทความนี้จะเป็นการพูดถึงภาพรวมของการดูแลเสือโดยไม่เฉพาะเจาะจงลงไปชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งท่านสามารถนำไปใช้เป็นการจัดการพื้นฐานและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเสือในแต่ละชนิดหรือสัตว์ชนิดอื่นได้เช่นกัน

การจัดการพื้นฐาน

1. กรงเลี้ยง

การเลี้ยงเสือควรแยกเลี้ยงเฉพาะตัวดีที่สุด แต่หากจำต้องเลี้ยงรวมกันควรจะจัดให้มีกรงแยกเพื่อสะดวกในการจัดการรวมถึงการมีคอกกักในกรณีที่จำต้องแยกสัตว์ป่วย ประตูทางเข้าออกทั้งในกรณีปกติและกรณีฉุกเฉินด้านหน้าควรจัดให้มีทางเข้าออกรถเพื่อสะดวกในการขนส่ง โดยควรทำเป็นประตูสองชั้น

พื้นที่ในส่วนคอกกัก ต้องมีหลังคาป้องกันแดดและฝนได้อย่างเพียงพอ พื้นควรจะเทซีเมนต์และขัดเรียบพอสมควรเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด พื้นซีเมนต์ที่ขัดหยาบจะสร้างปัญหาเรื่องอุ้งเท้าได้ในระยะยาว การเทซีเมนต์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่ใจในเรื่องความลาดเอียงของพื้นที่ที่จะให้น้ำไหลลงท่อระบายได้สะดวก ปัญหาที่พบบ่อยคือในขณะก่อสร้างได้วัดระดับไว้อย่างดี มีความลาดเอียงไม่น้อยกว่า 5% แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป 2-3ปี พื้นจะทรุดตัวลงเรื่อยๆ เนื่องจากพื้นที่ที่สร้างคอกมักมิได้วางฐานตอกเข็มหรือทำคานไม่ดี ดังนั้นอาจจะจำเป็นต้องเผื่อการทรุดตัวในอนาคตด้วยเช่นกัน พื้นที่ลานออกกำลังกายควรกรุด้วยตาข่ายด้านบนให้มีความสูงประมาณ 4 เมตรขึ้นไป แสงแดดต้องส่องได้ทั่วถึงทั้งบริเวณ

ตาข่าย ควรเลือกใช้ตาข่ายขนาด 2x2 นิ้วอย่างดีเพื่อความทนทาน การเชื่อมตาข่ายกับโครงเหล็กของโครงสร้างกรงจำเป็นต้องพิถีพิถันอย่างยิ่ง เพราะเสือมีน้ำหนักตัวมากและมักจะกระโจนเล่นใส่ตาข่ายได้บ่อยๆ อาจทำให้ตาข่ายตรงจุดที่เชื่อมหลุดได้ง่าย การป้องกันทำได้โดยการเสริมลวดสลิงขนาด 4 หุนสอดไว้ทุกระดับความสูงของตาข่ายโดยให้แต่ละเส้นห่างกันประมาณ 1 เมตรจะช่วยลดการชำรุดของตาข่ายได้มากสามารถอยู่ได้นานหลายปี อีกจุดหนึ่งที่จะต้องระวังคือ จุดคานบริเวณรอบพื้นที่คอกใหญ่ที่ใช้เชื่อมต่อกับตาข่าย จุดนี้ติดกับพื้นดินจึงชำรุดเสียหายได้ง่ายเนื่องจากสัมผัสดินซึ่งมีสารต่างๆทำให้เกิดการผุกร่อนได้เร็วกว่าจุดอื่น หรือหากเป็นกรงที่ทำจากเหล็กเส้นอยู่แล้วก็มักไม่ค่อยพบปัญหามากนักแต่จำต้องหมั่นตรวจเช็คเป็นประจำ

แคร่นอน ควรจัดให้มีแคร่สำหรับนอนที่ยกจากพื้นอย่างน้อย 1 ฟุต ทำจากไม้โดยตรงหรือสร้างเป็นแท่นปูนแล้วปูด้วยพื้นไม้ หรืออาจจะทำเป็นลักษณะขอนไม้ที่มีขนาดกว้างยาวเพียงพอก็ได้ สำหรับคอกลูกเสือจำเป็นต้องระวังในเรื่องความสูงของแคร่เพื่อป้องกันมิให้ลูกเสือกระโดดลงมาจนเกิดบาดเจ็บได้ และอาจจะทำทางปีนขึ้นลงได้ตามความเหมาะสมของลักษณะของคอก แต่ไม่ควรออกแบบให้มีเฟอร์นิเจอร์มากจนเกินไปเพราะจะกลายเป็นที่หลบซ่อนตัวได้ทำให้การจัดการอื่นๆทำได้ลำบากตามมา

บ่อน้ำ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เสือที่เลี้ยงได้รับการผ่อนคลายได้มาก อีกทั้งยังช่วยให้กรงเลี้ยงสัตว์ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น จุดที่เหมาะจะทำบ่อน้ำ ควรได้รับแสงแดดโดยตรงเพื่อจะได้ไม่อับชื้นและทำความสะอาดได้ง่าย บ่อน้ำนี้จำเป็นต้องทำสะดือบ่อตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโดยจัดให้สามารถควบคุมการถ่ายเทน้ำของบ่อได้จากภายนอกของคอก ไม่ควรเปิดน้ำขังไว้ในบ่อทั้งวันทั้งคืน แต่ควรเปิดน้ำให้เสือได้เล่นเฉพาะเวลาบ่ายเท่านั้นและขับออกทุกเย็น อาจจะไม่จำเป็นต้องให้เสือได้เล่นทุกวัน เลือกเฉพาะวันที่อากาศร้อนก็เพียงพอ




2. การให้อาหาร

เสือเป็นสัตว์กินเนื้อโดยตรงแต่ในธรรมชาติมีการกัดแทะ ดังนั้นอาหารที่ให้เสือนอกจากจะให้เนื้อเป็นก้อนซึ่งง่ายต่อการจัดหาและจัดการแล้ว สมควรจัดให้มีการให้โครงสัตว์เป็นตัวประมาณสัปดาห์ละครั้งหรืออย่างน้อยเดือนละสองครั้ง เช่น กระดูกซี่โครงวัว หรือกะโหลกสัตว์ เพื่อให้เสือได้สามารถใช้เวลาในการกินด้วยอีกทั้งยังช่วยลดการสะสมของหินปูนได้มาก

การให้โครงไก่สามารถให้ได้แต่ต้องระวังอย่าให้มากเกินไปในแต่ละมื้อเพราะอาจเกิดปัญหาเรื่องการทิ่มตำในกระเพาะอาหารได้เมื่อกินอิ่มและกระเพาะขยายเต็มที่ อาจจะจัดให้โครงไก่และเนื้อปนกันเสมอทุกมื้อ

การให้อาหารสำหรับเสือที่โตเต็มวัย ควรให้ 3-5 กิโลกรัมต่อวัน โดยอาจแบ่งให้เป็นสองมื้อหรือมื้อเดียวก็ได้ และให้เพียงสัปดาห์ละ 5-6 วันก็เพียงพอไม่จำเป็นต้องให้ทุกวัน เราควรพิจารณาเรื่องอายุ การเจริญเติบโต การอุ้มท้องและความอ้วนของเสือเป็นประจำ เพราะเสือที่เลี้ยงในคอกมักมีปัญหาเรื่องการอ้วนมากเกินไปอาจจะส่งผลทำให้ความสมบูรณ์พันธุ์ลดลงได้และยังก่อให้เกิดปัญหาลูกตายแรกคลอดได้ง่าย นอกจากนี้การให้อาหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้อาหารเฉพาะภายในคอกกักของเสือแต่ละตัวเท่านั้นเพื่อเป็นการฝึกให้เสือเข้ากรงซึ่งจะง่ายต่อการจัดการอื่นๆเป็นอย่างมาก

สำหรับลูกเสือควรจัดให้กินนมแม่โดยตรงและค่อยปรับเปลี่ยนให้เนื้อได้เมื่ออายุประมาณ 2 เดือนขึ้นไป หากตัดสินใจที่จะแยกลูกเสือมาเลี้ยงควรทำเมื่ออายุได้ประมาณ 3 วัน หากทำก่อนหน้านั้นลูกเสือจะอ่อนแอได้ง่ายเนื่องจากได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ไม่เพียงพอเพราะสัตว์ตระกูลแมวจะสามารถถ่ายทอดภูมิคุ้มกันผ่านทางรกในขณะตั้งท้องได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่หากนานจนถึงสัปดาห์แล้วมักจะระแวงคนและไม่ค่อยเชื่องเท่าที่ควร การให้นมสำหรับลูกเสือจำเป็นต้องได้รับความรู้จากสัตวแพทย์ที่มีประสบการณ์โดยตรงเพราะมีความสำคัญทั้งสูตรของนม สารอาหารที่จำเป็นจะต้องได้รับ ความถี่บ่อยในการให้ในแต่ละช่วงอายุ การกระตุ้นการขับถ่าย ท่าทางในการป้อนนม ตลอดจนการประเมินอัตราการสมบูรณ์และการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงอายุที่เหมาะสม

3. การให้น้ำ

เสือเป็นสัตว์ที่ชอบถ่ายในน้ำ ดังนั้นในอ่างน้ำกินจึงมักเป็นจุดที่สะสมของพยาธิและสิ่งสกปรกนานาชนิด อ่างน้ำกินในคอกกักควรจะทำด้วยซีเมนต์เพื่อความทนทานและออกแบบให้มีขอบมนทั้งด้านบนและด้านในบ่อเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด ไม่ควรออกแบบให้หักมุม 90 องศาซึ่งจะทำความสะอาดได้ยากและใช้เวลานาน และยังต้องสามารถเปิดระบายน้ำได้จากภายนอก ควรทำการเปลี่ยนน้ำกินอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรืออาจจะให้เฉพาะเวลาก็ได้แล้วแต่การจัดการอื่นๆประกอบ

4. การจัดการทั่วไป

ประจำวัน

· ทำความสะอาดคอกทุกเช้าและเย็น โดยการฉีดล้างด้วยน้ำที่มีแรงดันน้ำมากพอสมควรเพื่อชะล้างอุจจาระและปัสสาวะของเสือให้ระบายลงตามท่อระบายที่มีอยู่ในคอก

· ให้อาหารเช้า และ/หรือ เย็น ตามอัตราส่วนที่ควรจะได้รับในแต่ละตัว

· ปล่อยให้เสือได้ออกกำลังกายที่ลานภายนอกในช่วงสายหรือบ่ายของทุกวัน

· ผู้ดูแลจำต้องบันทึกการกินอาหาร สุขภาพทั่วไป การจัดการทั่วไป เป็นประจำทุกวันและส่งมอบต่อผู้บังคับบัญชาทุกวัน (การลงบันทึกเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยฝึกให้ผู้ดูแลจำเป็นต้องเอาใจใส่ต่องานและป้องกันการละเลยต่อปัญหาที่มองเห็น เนื่องจากงานเลี้ยงสัตว์ที่ต้องทำเหมือนกันทุกวันกลายเป็นงานประจำที่น่าเบื่อ จึงมักมองข้ามหรือละเลยสิ่งผิดปกติได้ง่ายนั่นเอง)

ประจำสัปดาห์

  • ขัดถูทำความสะอาดพื้นและผนังคอกกักอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเพื่อลดคราบอุจจาระและปัสสาวะที่ติดอยู่เนื่องจากการฉีดล้างทำความสะอาดประจำวันออกไป จะสามารถช่วยลดกลิ่นเหม็นจากคอกสัตว์ลงได้อย่างมาก
  • จัดหญ้าขนประมาณ 1 กำมือต่อเสือ 1 ตัว เพื่อช่วยกระตุ้นให้เสือได้ขับขนออกจากกระเพาะ แต่ไม่ควรให้มากหรือบ่อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง เพราะเสือเมื่อขับสิ่งที่ไม่ย่อยออกมาด้วยการอาเจียนจะสูญเสียแร่ธาตุบางตัวไปทำให้เกิดการเสียสมดุลเป็นผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้ อีกทั้งน้ำย่อยจากกระเพาะที่เป็นกรดยังทำลายเนื้อเยื่อหลอดอาหารอีกด้วย
  • ทำความสะอาดบ่อน้ำในลานออกกำลังกายและพื้นที่ออกกำลังกายทั้งหมด
  • การจัดการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของจิตใจของสัตว์ (Enrichment) คือ การทำอะไรสักอย่างที่ไม่ให้เกิดความจำเจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์และต้องไม่เกิดอันตรายต่อสัตว์ แต่ต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดความสุขสนุกสนานกับสัตว์ เช่น การให้โครงวัวเพื่อให้สัตว์ได้กัดแทะ การซ่อนอาหารเพื่อให้สัตว์ได้ค้นหา การนำกลิ่นแปลกเข้าหาเพื่อให้กระตุ้นสัตว์ให้ตื่นตัว เป็นต้น
  • ตรวจเช็คความเรียบร้อยและหาจุดชำรุดของตาข่ายและอุปกรณ์อื่นๆในคอกสัตว์ทั้งหมดและทำรายงานหรือแจ้งต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป


ประจำเดือน

  • จัดทำรายงานสรุปยอดจำนวนสัตว์ เกิด ตาย ย้ายเข้า ย้ายออก ในแต่ละเดือน
  • จัดทำรายงานสรุปค่าใช้จ่าย ปริมาณอาหารที่ให้สัตว์ การก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม จัดหาอุปกรณ์ต่างๆ
  • วางแผนสำหรับงานการจัดการทั่วไป การจัดการเฉพาะกิจ และการดูแลสุขภาพในเดือนถัดไป เช่น การซ่อมแซมกรง การนำสัตว์เข้าใหม่ การทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ เป็นต้น

การจัดการด้านสุขภาพ

  • การทำวัคซีน

เสือเป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกันกับแมว ดังนั้นจึงสามารถเจ็บป่วยได้จากโรคติดต่อชนิดเดียวกันกับในแมว เช่น Rabies Feline panleukopenia เป็นต้น แต่ทั้งนั้นตามมาตรฐานการดูแลสัตว์ตระกูลเสือในสวนสัตว์ต่างๆของโลกนิยมนำเอาวัคซีนเชื้อตาย ที่ใช้ในแมวมาทำการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเสือซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยหากเป็นพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคบางที่อาจจะให้ทำปีละ 2 ครั้งหรือปีละ 1 ครั้งในพื้นที่ที่ไม่เคยมีประวัติการระบาดของโรคมาก่อน ลูกเสือควรเริ่มทำวัคซีนเมื่ออายุได้ประมาณ 3 เดือนและควรจะต้องกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเดือนที่ 4 อีกหนึ่งครั้งเพื่อให้ระดับของภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอที่จะป้องกันโรค หากแต่การทำวัคซีนเป็นเพียงการป้องกันโรคติดต่อที่รุนแรงที่มักเกิดกับสัตว์ในตระกูลนี้เท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันโรคอื่นๆได้เลย ดังนั้นการดูแลและตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำอย่างยิ่ง

  • การถ่ายพยาธิ

เสือเป็นสัตว์กินเนื้อสามารถติดพยาธิได้ง่ายจากเนื้อที่ให้เพื่อเป็นอาหาร ทั้งพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบนและพยาธิตัวตืด การตรวจหาไข่พยาธิเป็นประจำทุก 2-3 เดือนจึงจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการติดพยาธิมักจะรุนแรงขึ้นเป็นลำดับหากมีการจัดการในการเลี้ยงที่ไม่ดีพอ อาทิเช่น การไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำกินเป็นประจำเช้า-เย็น สามารถส่งผลให้เสือสามารถติดพยาธิที่เพิ่งขับถ่ายออกไปได้ง่าย เนื่องจากเสือชอบถ่ายในน้ำและกินน้ำที่มีอุจจาระปะปนนั่นเอง ทำให้เสือในกรงเลี้ยงมักพบปัญหาการติดพยาธิมากกว่าเสือในธรรมชาติหลายเท่า ดังนั้นการตรวจหาไข่พยาธิจากอุจจาระและการถ่ายพยาธิเป็นประจำทุก 3 เดือนจึงเป็นสิ่งจำเป็น การตรวจหาไข่พยาธิควรตรวจก่อนและหลังการให้ยาถ่ายพยาธิเสมอเพื่อเป็นการตรวจสอบว่าจำนวนพยาธิลดลงและยาที่ให้นั่นถูกต้องเหมาะสมกับชนิดของพยาธินั่นเอง

  • การตรวจสุขภาพประจำปี

ตามปกติแล้วสัตว์หรือมนุษย์ทุกคนควรได้รับการตรวจสุขภาพทุก 6 หรือ 12 เดือนเพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจจะสะสมจนมีผลต่อสุขภาพในอนาคต แต่การตรวจสุขภาพเสือทุก 6 เดือนเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่ไม่คุ้มต่อการเสี่ยงนัก ดังนั้นการบันทึกสุขภาพประจำวันที่กระทำโดยผู้เลี้ยงจะช่วยประกอบการพิจารณาได้เป็นอย่างดีว่าสัตว์ตัวนี้น่าจะมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ หากมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติ ก็วางแผนเพื่อหาวิธีที่จะตรวจเช็คสุขภาพจากอุจจาระ เอ็กซเรย์ เลือด เพื่อให้ได้ข้อมูลทางโลหิตวิทยามาประกอบในการวางแผนดูแลสุขภาพต่อไป แต่หากมีงบประมาณมากเพียงพอก็สามารถทำการวางยาสลบเพื่อตรวจสุขภาพและร่างกายได้ทุกตัว




ข้อควรระวังและอื่นๆ

  • การทำงานกับสัตว์ดุร้าย จำเป็นต้องมีคู่หูหรือบัดดี้เสมอ ห้ามปฏิบัติงานตามลำพังโดยเด็ดขาด เมื่อจะเข้าปฺฎิบัติงานในกรงสัตว์จำเป็นต้องบอกกล่าวและให้เพื่อนร่วมทำงานด้วยทุกครั้ง
  • ก่อนจะลงมือปฏิบัติงานจำเป็นต้องบอกเพื่อนให้ทราบว่ากำลังจะทำสิ่งใดเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น หากจะเปิดประตูกรงต้องบอกเพื่อนให้ทราบเพื่อจะได้ช่วยกันดูประตูบานอื่นและตำแหน่งที่สัตว์อยู่เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเอง
  • หากต้องการจะบังคับเสือ สามารถทำได้โดยการใช้น้ำฉีดไล่หรือใช้ไม้ด้ามยาวไล่ เสือนั่นมีพฤติกรรมที่จะวิ่งหลบให้ไกลที่สุด ดังนั้นการออกแบบกรงจึงนิยมให้ประตูอยู่ติดฝาผนังฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อสะดวกในการไล่ต้อนเสือนั่นเอง

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลสัตว์

คือ จำเป็นที่จะต้องเอาใจใส่และเรียนรู้พฤติกรรม นิสัย ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์แต่ละชนิดแต่ละตัวให้ทราบเสียก่อนว่า ปกติของแต่ละตัวคืออะไร เพราะจะทำให้เราทราบว่าสิ่งใดคือสิ่งผิดปกติ และสามารถมองเห็นสิ่งผิดปกตินั่นๆได้อย่างทันท่วงทีที่สิ่งนั่นเกิดขึ้นและป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที

.....................................................................................



No comments: