Wednesday, December 12, 2007

การจัดการขนย้ายเสือโคร่งเบงกอลข้ามประเทศ

"การจัดการขนย้ายเสือโคร่งเบงกอลข้ามประเทศ"

โดย : นายสัตวแพทย์กมลชาติ นันทพรพิพัฒน์

...มูลเหตุของการส่งเสือโคร่งไปยังประเทศจีน...

ด้วยบริษัท ศรีราชา ไทเกอร์ ซู จำกัด ( สวนเสือศรีราชา ) ได้ทำการส่งมอบเสือโคร่งสายพันธุ์เบงกอล ( Panthera tigris tigris ) โดยเกิดจากการเพาะพันธุ์ในสวนสัตว์ จำนวน 100 ตัว ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนในประเทศจีน โดยที่ทางสวนเสือศรีราชาได้ร่วมลงทุนทำกิจการเปิดสวนสัตว์เพื่อการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่เมืองซันย่า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน ในการนี้ได้มีการขนย้ายเสือโคร่งจำนวน 100 ตัวในความดูแลดังกล่าวจากสวนเสือศรีราชาไปยังประเทศจีนโดยทางเครื่องบินเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2545

ข้อมูลเกี่ยวกับเสือโคร่ง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera tigris
โดยทั่วไปเสือโคร่งทุกพื้นที่มีลักษณะรูปร่างและสีขนคล้ายคลึงกัน ซึ่งสามารถแบ่งประชากรเสือในถิ่นต่าง ๆ เป็นชนิดย่อย ( Subspecies ) ได้ 8 ชนิดคือ
1. Bali tiger ( Panthera tigris balica )
2. Caspian tiger ( Panthera tigris virgata )
3. Indo-Chinese tiger ( Panthera tigris corbetti )
4. Javan tiger ( Panthera tigris sondaica )
5. Royal Bengal tiger ( Panthera tigris trigris )
6. Siberian tiger ( Panthera tigris altaica )
7. South China tiger ( Panthera tigris amoyensis )
8. Sumatran tiger ( Panthera tigris sumatrae )

เสือโคร่งทั้ง 8 ชนิดแตกต่างกันที่ขนาดลำตัว ความเข้มของสีและลาย โดยเสือโคร่งที่อยู่ค่อนไปทางตอนเหนือของโลกมีสีขนที่อ่อนกว่าเสือโคร่งที่อยู่ค่อนมาทางตอนใต้ของโลก นอกจากนี้เสือโคร่งบางชนิดจะมีลักษณะปลีกย่อยอื่น ๆ เช่น ความยาวของขน ลักษณะลายที่ปรากฏบนร่างกาย สัดส่วนกะโหลก ปัจจุบันพบว่า เสือโคร่งชนิดย่อยคือ Bali tiger , Caspian tiger , Javan tiger ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว



สำหรับเสือโคร่งที่ทำการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ของสวนเสือศรีราชาเป็นชนิด Royal Bengal tiger โดยลักษณะของเสือโคร่งมีรายละเอียดดังนี้

ขนาด ความยาวของหัวถึงลำตัว 140 – 250 ซม.
หาง 60 – 110 ซม.
ขาหลัง 30 - 40 ซม.
ความสูงของไหล่ 95 – 110 ซม.
น้ำหนัก เพศผู้ 180 – 280 กิโลกรัม
เพศเมีย 115 – 180 กิโลกรัม
ลักษณะทั่วไป
เสือโคร่งเป็นเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเสือด้วยกัน ลำตัวมีสีเทาแกมเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง เสือโคร่งแต่ละตัวมีลายแถบปรากฏบนลำตัวแตกต่างกัน ขนใต้ท้อง คาง และคอเป็นสีขาว ขนเหนือตาสีขาวและมีแถบดำ ส่วนหัวของเสือโคร่งจะโหนกยาวไปทางจมูก ปลายจมูกเป็นแผ่นหนังสีชมพูซึ่งบางครั้งจะมีจุดสีดำ ม่านตาเป็นสีเหลืองและมีรูม่านตากลม ส่วนหูสั้นและกลม หลังหูเป็นสีดำมีวงเป็นสีขาว ส่วนของขาหน้าจะมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่าขาหลังและมีอุ้งเท้าขนาดใหญ่ เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่สามารถยืดและหดเล็บได้ ส่วนหางมีลักษณะค่อนข้างยาว มีแถบวงแหวนสีดำเป็นบั้ง ๆ ปลายหางจะมีสีดำไม่มีพู่หาง ขนหยาบ ในช่วงฤดูร้อนขนจะลื่นและบางลง ส่วนในฤดูหนาวขนจะยาวปุย แต่สำหรับสภาพอากาศในประเทศไทยซึ่งมีอุณหภูมิในฤดูหนาวและฤดูร้อนจะไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นลักษณะความแตกต่างของขนจึงไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ขนบริเวณคอและไหล่มักจะสั้น สีเป็นแถบดำบนพื้นเหลือง
ขนาดครอก : เฉลี่ย 2.46 ตัว/ครอก อัตราส่วนของเพศ 1 : 1
ลูกเสือ : น้ำหนักแรกคลอด 1.00 กิโลกรัม
พฤติกรรม : เสือโคร่งชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำหรือที่มีร่มเงาให้หลบแสงแดด เพราะไม่ชอบอากาศร้อน เสือโคร่งจึงมักอาศัยอยู่ในป่าทึบ อากาศเย็นและพักผ่อนได้ในเวลากลางวัน เสือโคร่งชอบน้ำและสามารถว่ายน้ำได้ ในวันที่อากาศร้อน ๆ เสือโคร่งใช้เวลาหลายชั่วโมงในแอ่งน้ำ เสือโคร่งไม่ชอบปีนต้นไม้แต่สามารถปีนได้ถ้าจำเป็นจริง ๆ
เสือโคร่งมักจะออกล่าเหยื่อตอนเย็นและล่าทุกอย่างที่กินได้ตั้งแต่ ปลา เต่า เม่น หรือแม้แต่เสือโคร่งด้วยกันเอง จากการศึกษาในประเทศไทยเสือโคร่งชอบล่าหมูป่าและกวางเป็นอาหาร เสือโคร่งจะย่องเข้าหาเหยื่อสักประมาณ 10 – 20 เมตรและจึงวิ่งเข้าตะครุบเหยื่อจากทางด้านหลังหรือด้านข้าง เสือโคร่งจะเริ่มกินเหยื่อตรงสะโพกก่อน ตามปกติเสือโคร่งต้องการอาหารวันละประมาณ 6 -7 กิโลกรัมแต่บางตัวก็อาจกินได้ถึง 25 กิโลกรัม
เสือโคร่งชอบอยู่สันโดษ ไม่ค่อยพบว่าอยู่เป็นคู่ ถ้าพบเป็นกลุ่มก็อาจจะเป็นแม่เสือโคร่งและลูก ๆ ในฤดูผสมพันธุ์เสือโคร่งเพศเมียจะส่งเสียงร้องดังและบ่อย เสือโคร่งใช้เวลาตั้งครรภ์ประมาณ 100 – 108 วัน ออกลูกครั้งละ 1 – 7 ตัว แม่เสือโคร่งเลี้ยงลูกนานประมาณ 2 ปี โดยลูกตัวเมียจะอยู่กับแม่นานกว่าลูกตัวผู้

ขั้นตอนการขนย้าย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการขนย้ายเสือโคร่งข้ามประเทศ สามารถจำแนกเป็นได้ 4 หัวข้อ ดังนี้
1. ตัวเสือ
2. กรงเสือ
3. บุคลากร
4. การจัดการงาน

1. ตัวเสือ
การขนย้ายเสือโคร่งอย่างแรกที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ สุขภาพของเสือโคร่งที่จะทำการขนย้าย ซึ่งสิ่งจำเป็นและปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับตัวเสือมีดังนี้
1.1. ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางโปรแกรม ซึ่งทางสวนเสือฯ ได้ฉีดวัคซีนกับตัวเสือโคร่ง 2 ชนิดด้วยกันคือ วัคซีนรวมแมว ( Feline panleukopenia , Feline rhinotrachiitis , Calicivirus ) และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ( Rabies vaccine ) ซึ่งต้องแนบใบประวัติการฉีดวัคซีนเสือแต่ละตัวไปพร้อมกับการขนย้ายด้วย และเสือต้องอยู่ในสภาพที่ปกติไม่ป่วยเป็นโรคอยู่ก่อนเพราะอาจจะเป็น carrier นำโรคไปสู่แหล่งใหม่ได้
1.2. เสือทุกตัวต้องสามารถระบุรูปร่างลักษณะได้หรือได้รับการฝังไมโครชิพ เพื่อยืนยันว่าเป็นตัวไหน ในการนี้ ทางสวนเสือใช้วิธีการฝังไมโครชิพเพื่อระบุตัวเสือตรงตำแหน่งของ interscapular เข้าชั้นใต้ผิวหนัง ( subcutaneous )
1.3. ลดความเครียดช่วงก่อนการบังคับเสือโคร่งเข้ากรง เช่น ได้ทำการเตรียมการล่วงหน้าประมาณ 1 อาทิตย์โดยการผสมวิตามินลงในอาหารหรือละลายวิตามินลงในน้ำดื่มก่อนการควบคุมตัวเสือ ถ้าเสือระแวงและเครียดในช่วงการขนย้ายให้ทำการพักจนเสือสงบ อย่าทำการย้ายต่อเพราะจะทำให้เสือยิ่งดุมากขึ้น
1.4. ความพร้อมในเรื่องอาหารและน้ำดื่มที่เตรียมให้กับเสือควรเหมาะสม โดยได้ทำการให้เนื้อหมูหั่นเป็นชิ้น ๆ ขนาดเท่าลูกเทนนิส ประมาณ 1/2 กิโลกรัมต่อตัว และมีน้ำแข็งก้อนเพื่อให้เสือสามารถเลียกินได้ภายในกรง ซึ่งได้ให้หลังจากที่ได้บังคับเสือเข้ากรงเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรให้เนื้อหมูก่อนการจับเข้ากรงเนื่องจากเวลาเสือกินอาหารจะแสดงพฤติกรรมดุร้ายขึ้นมา ส่งผลให้การควบคุมเพื่อขนย้ายทำได้ลำบาก

2. กรงเสือ
2.1. ควรเตรียมกรงขนเสือเสร็จอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้มีเวลาในการตรวจสอบสภาพกรงและให้เสือเกิดความคุ้นเคยกับกรงเสือโดยอาจจะทำการลองให้เสือเดินเข้า- ออกได้อย่างปกติ ซึ่งอาจฝึกได้โดยการให้กินอาหารในกรงจนเสือเกิดความเคยชินกับกรงจึงไม่จำเป็นต้องบังคับมาก
2.2. กรงควรจะสามารถที่จะระบายอากาศได้ดี มีรูระบายกระจายทั่วกรง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตรต่อรูระบายอากาศ รวมทั้งสามารถระบายน้ำและสิ่งขับถ่าย เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์กินเนื้อ มีผลให้ปริมาณแอมโมเนียในปัสสาวะสูง หากการระบายอากาศและล้างทำความสะอาดได้ไม่ดีจะทำให้ภายในกรงอับเหม็นอาจส่งผลต่อสุขภาพเสือได้
2.3. ต้องมีช่องทางให้น้ำและอาหารเสือได้ หรือช่องทางสำหรับการรักษาในกรณีที่เกิดความจำเป็น และมีสติ๊กเกอร์เพื่อระบุว่าเป็นสัตว์มีชีวิต
2.4. พื้นควรเป็นตะแกรงที่อยู่บนถาดที่รองรับมูลและสิ่งขับถ่ายได้ ตะแกรงควรทำด้วยเหล็กและตาถี่เพื่อรองรับน้ำหนักเสือที่โตเต็มที่และเพื่อป้องกันมิให้เท้าเสือติดร่องตะแกรง
2.5. ต้องออกแบบกรงให้เหมาะสมกับขนาดลำตัวเสือเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอันเกิดจากการกลับตัวหรือถ้าไม่พอดีตัวก็ควรจะให้กรงมีขนาดใหญ่พอที่เสือจะสามารถกลับตัวได้
2.6. ควรออกแบบกรงเพื่อการใช้งานกับรถ Folk life ที่สามารถสอดฐานยกเพื่อการยกได้ และอาจจะออกแบบช่องเสียบคานยกทั้งสี่ด้านสำหรับการยกกรงได้ด้วย
2.7. ด้านหน้าของกรงควรเป็นตาข่ายโลหะหรือลูกกรงเหล็ก ความห่างของลูกกรงต้องป้องกันไม่ให้เสือเอาขายื่นออกมาได้
2.8. กรงเสือต้องตรงตามแบบกรงขนสัตว์ของการเคลื่อนย้ายสัตว์นานาชาติ


3. บุคลากร
3.1. ต้องมีนายสัตวแพทย์อย่างน้อย 1 ท่าน เพื่อการสั่งการในการควบคุมและการบังคับสัตว์ ตั้งแต่การจับเสือเข้ากรงจนกระทั่งถึงการปล่อยเสือออกสนาม และการดูแลอาการต่ออีกสักระยะจนกระทั่งแน่ใจว่าปลอดภัย รวมทั้งในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาสงบประสาท ยาสลบเสือ และการใช้ปืนยิงยาสลบ
3.2. Keeper ที่มีความคุ้นเคยกับตัวเสือทั้งการควบคุมเสือเข้าและออกจากกรง ซึ่งตัว Keeper เองจะรู้พฤติกรรม รู้นิสัยของเสือแต่ละตัวได้ดี จะเป็นการง่ายในการบังคับเสือโคร่งด้วย
3.3. บุคคลที่ดำเนินการเกี่ยวกับการขับรถในการขนย้ายเสือ

4. การจัดการงาน
4.1. ต้องคำนวนระยะเวลาทั้งหมดที่เสืออยู่ในกรง ระยะเวลาการขนย้ายจากสวนสัตว์จนถึงท่าดอนเมืองเพื่อส่งขึ้นเครื่องบิน และระยะเวลาที่ต้องดำเนินการนำเสือออกจากกรงเพื่อปล่อยสู่สนาม และควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด พยายามลดเวลาที่ไม่มีความจำเป็นลงให้หมด เช่นเวลาของการแวะเติมน้ำมัน เวลาของการรับประทานอาหารของพนักงานควรมีข้าวกล่องที่สามารถรับประทานได้บนรถ มีการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่จะนำเสือขึ้นเครื่องบิน
4.2. ในกรณีที่ไม่สะดวกที่จะบังคับเสือเข้ากรงได้ควรจะมีการดัดแปลงบริเวณคอกเพื่อการทำงานที่สะดวก โดยการทำทางเพื่อให้เสือสามารถเดินเข้ากรงเองได้
4.3. ควรมีการเตรียมความพร้อมถึงสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น
4.3.1. เสือบางตัวที่ดุร้ายคนเลี้ยงไม่สามารถเข้าควบคุมแบบประชิดตัวได้ จำเป็นที่จะต้องมีการเป่าลูกดอกยาสลบ เลือกใช้ Zoletil-100 เพื่อการเป่าลูกดอก
4.3.2. บางครั้งอาจเกิดความรุนแรงขึ้นกับตัวเสือได้ เช่น อาจจะเป็นการกัดกัน เสือโดนมุมเหลี่ยมของกรงบาดได้รับบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งกรงที่ไม่มีความพอดีกับตัวเสือ เสือสามารถพลิกตัวและเกิดติดตัวงอในกรง ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
4.3.3. กรงอาจชำรุดซึ่งก็ควรมีอุปกรณ์ซ่อมแซมเตรียมให้พร้อม และควรสร้างกรงสำรองเผื่อในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนกรงใหม่
4.3.4. ในการขนย้ายต้องเตรียมพร้อมถึงสภาพอากาศที่ไม่คาดคิด เช่น อาจเกิดฝนตก หรือ แดดออกอากาศร้อน ซึ่งควรมีการเตรียมน้ำแข็งก้อนเผื่อไว้ในกรณีหลังนี้ด้วยเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายและเพื่อกระหายน้ำ
4.3.5. ยาฉุกเฉิน เช่น ยาระงับประสาท ,ยาสลบและยาที่จำเป็นในอื่น ๆ
4.3.6. ในช่วงของการปล่อยเสือออกจากกรงเพื่อออกสู่สนาม จะมีบางตัวที่ไม่ยอมออก บางครั้งเราสามารถจัดการง่าย ๆ โดยทำการฉีดน้ำไล่ตัวเสือ




No comments: